วิตามินดี
วิตามินดี (Vitamin D) เป็นวิตามินชนิดละลายในไขมันที่พบได้หลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ วิตามินดี 2 หรือเออโกแคลซิเฟอรอล (Vitamin D2/Ergocalciferol) พบได้เฉพาะในพืชเท่านั้น และอีกรูปแบบ คือ วิตามินดี 3 หรือโคเลแคลซิเฟอรอล (Vitamin D3/Cholecalciferol) ได้รับจากการสังเคราะห์ที่ผิวหนังเมื่อโดนแสงแดดอ่อน ๆ และอาหาร โดยทั่วไปมักเรียกรวมเป็นวิตามินดี
หน้าที่สำคัญของวิตามินดี จะช่วยดูดซึมแคลเซียม ไปใช้ในกระบวนการสร้างกระดูก รักษาความสมดุลของระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด มีส่วนสำคัญในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ ปอด สมอง หัวใจและระบบภูมิคุ้มกัน
แหล่งอาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี เช่น ไข่แดง ปลาทะเล ตับ นม หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่เสริมวิตามินดีลงไปเพิ่มเติม หรืออาจรับประทานเพิ่มในรูปแบบอาหารเสริม ซึ่งจะช่วยป้องกันและรักษาการขาดวิตามินดี ที่ร่างกายได้รับในรูปแบบอื่นไม่เพียงพอ ป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก เช่น โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ในผู้สูงอายุ หรือโรคกระดูกอ่อนในเด็กในผู้ที่ขาดวิตามินดีอย่างรุนแรง
เกี่ยวกับวิตามินดี
กลุ่มยา | วิตามิน |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | ป้องกันการขาดและรักษาระดับวิตามินดีในร่างกาย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดเม็ด |
คำเตือนของการใช้วิตามินดี
- การรับประทานวิตามินดี อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรืออยู่ในช่วงการใช้ยา สมุนไพร อาหารเสริมที่อาจกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด ควรรับประทานภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือเคยเป็นโรคเกี่ยวกับความดันโลหิต โรคตับและไต ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ โรคหัวใจ มีความผิดปกติของระบบการย่อยอาหาร โรคของต่อมไทรอยด์ โรคปอด โรคทางผิวหนัง ปวดศีรษะบ่อย มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอและรับประทานด้วยความระมัดระวัง
- ไม่ควรรับประทานวิตามินดี มากกว่า 100 ไมโครกรัม (4,000 IU) ต่อวัน เพราะอาจทำให้แคลเซียมในเลือดสูงและเป็นอันตรายต่อร่างกาย
- หญิงมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรสามารถรับประทานได้ตามปริมาณปกติเท่าผู้ใหญ่ทั่วไป แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์และรับประทานด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่น ๆ
- การรับประทานวิตามินดีควบคู่กับยาบางกลุ่ม เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาลดความอ้วน ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคความดันโลหิต ยาคอเลสไทรามีน ยาป้องกันการชัก อาหารเสริมประเภทแคลเซียม หรือยาลดกรด อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยา จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- วิตามินดี อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง (เกิดระคายเคือง อักเสบ เป็นผื่น ผิวหนังบางลง) ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เกิดการก่อตัวของแคลเซียมในหลอดเลือดแดง ระดับคอเลสเตอรอลเปลี่ยนแปลง รู้สึกง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน ระดับวิตามินในร่างกายสูงเกินไป เวียนศีรษะ หลอดเลือดแดงแข็งตัว เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือระบบทางเดินหายใจ ความดันโลหิตสูงขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ เกิดนิ่วในไตหรือทางเดินปัสสาวะ ปวดกล้ามเนื้อ มีความผิดปกติเกี่ยวกับช่องท้อง (ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดบริเวณท้องจากตะคริว ท้องผูก)
ปริมาณการใช้วิตามินดี
วิตามินดีมีอยู่หลายสูตรและมีสัดส่วนที่แตกต่างกัน บางสูตรอาจมีการผสมส่วนประกอบหรือวิตามินชนิดอื่นเสริมลงไป ปริมาณการรับประทานจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการรับประทาน ความรุนแรงของโรค ปัจจัยด้านสุขภาพ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งแพทย์อาจมีการตรวจระดับวิตามินดีในเลือด เพื่อประเมินว่ามีภาวะขาดวิตามินดีหรือไม่ก่อนให้ยา
ปริมาณวิตามินดีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
- อายุต่ำกว่า 12 เดือน ควรได้รับวิตามินดี วันละ 400 IU (10 ไมโครกรัม)
- อายุไม่เกิน 70 ปี ควรได้รับวิตามินดี วันละ 600 IU (15 ไมโครกรัม)
- อายุมากกว่า 70 ปี ควรได้รับวิตามินดี วันละ 800 IU (20 ไมโครกรัม)
- สตรีที่วางแผนตั้งครรภ์ ควรได้รับวิตามินดี วันละ 400-600 IU (10 ไมโครกรัม) ส่วนสตรีตั้งครรภ์ในกลุ่มความเสี่ยงสูง ควรได้รับวิตามินดี วันละ 2,000-4,000 IU (50-100 ไมโครกรัม)
- ทารกที่รับประทานนมแม่อย่างเดียวและมีความเสี่ยงขาดวิตามินดีสูงควรได้รับวิตามินดีเสริมวันละ 400-2,000 IU (10-50 ไมโครกรัม)
การใช้วิตามินดี
หากเคยมีประวัติการแพ้ยา มีโรคประจำตัวเดิม หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบก่อนการรับประทานวิตามินดี รวมถึงรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์หรือข้อบ่งใช้บนฉลากผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว
ในกรณีที่ลืมรับประทานวิตามินดี ควรรับประทานทันทีเมื่อทราบ แต่หากใกล้เวลาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานในรอบถัดไปแทน แต่ไม่ควรเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า หากเกิดความผิดปกติหรืออาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดใช้ยาทันทีและรีบปรึกษาแพทย์
ผลข้างเคียงจากการใช้วิตามินดี
เมื่อรับประทานในปริมาณที่แนะนำ มักไม่ค่อยเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ควรระมัดระวังการบริโภควิตามินดีในปริมาณสูงหรือติดต่อเป็นเวลานานโดยไม่มีเหตุจำเป็น เพราะอาจทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงขึ้น ส่งผลการทำงานของไตและหัวใจ เกิดนิ่วในไต รวมถึงอาจพบผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น
- เกิดความสับสน ความรู้สึกตัวลดลง
- น้ำหนักลดหรือไม่อยากอาหาร
- กระหายน้ำ
- ปัสสาวะบ่อย
- ปวดกระดูก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องผูก
- ไอ
- กลืนอาหารลำบาก
- หัวใจเต้นเร็ว
- มีอาการคัน เป็นผื่น หรือลมพิษ
- เหนื่อยง่าย อ่อนแรง
- มีอาการแพ้ยา ทำให้วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาในการหายใจ เกิดผื่นแดง คัน และมีอาการบวมบริเวณใบหน้า คอ ลิ้น ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์