วิธีบรรเทาอาการปวดข้อมือด้วยตนเอง

ปวดข้อมือเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย มักส่งผลให้รู้สึกไม่สบายในบริเวณดังกล่าว แต่อาการปวดที่เกิดขึ้นในแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวดข้อมือ เช่น เคล็ดขัดยอก เอ็นฉีกขาด ข้อเคลื่อนหรือกระดูกหัก เป็นต้น

วิธีบรรเทาอาการหรือรักษาเมื่อปวดข้อมือจะยึดตามสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้น โดยอาจเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต การใช้ยา หรือเข้ารับการผ่าตัดหากผู้ป่วยมีอาการปวดข้อมืออย่างรุนแรง การทราบถึงสาเหตุและวิธีรักษาอาการปวดข้อมือจะช่วยให้สามารถบรรเทาอาการปวดข้อมือด้วยตนเองได้อย่างเหมาะสมในเบื้องต้น

Close,Up,Woman,Holding,Her,Wrist,Symptomatic,Office,Syndrome

ปวดข้อมือกับสาเหตุที่พบได้บ่อย

อาการปวดข้อมืออาจเกิดขึ้นจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณต่าง ๆ ในข้อต่อส่วนข้อมือ อาทิ กระดูก เอ็นหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในบริเวณโดยรอบ ซึ่งสาเหตุของอาการบาดเจ็บนั้นอาจเกิดได้จากตัวอย่างดังนี้

  • อุบัติเหตุ
  • ใช้งานข้อมือซ้ำ ๆ
  • ป่วยด้วยโรคในกลุ่มโรคข้ออักเสบ (Arthritis) เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น
  • ผลจากอาการป่วยด้วยโรคอื่น อย่างกลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณมือ (Carpal Tunnel Syndrome) โรคเกาต์ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือมีก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ

นอกจากนี้ บุคคลกลุ่มต่อไปนี้อาจเสี่ยงต่อการปวดข้อมือได้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่ใช้มือและข้อมือในการทำงานหรือทำกิจกรรมซ้ำ ๆ หรือเล่นกีฬาบางชนิด อย่างอเมริกันฟุตบอล ยิมนาสติก โบว์ลิ่ง กอล์ฟหรือเทนนิส รวมทั้งป่วยด้วยโรคและปัญหาสุขภาพบางอย่าง อย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือกำลังตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณมือ และนำไปสู่อาการปวดข้อมือได้

วิธีบรรเทาอาการปวดข้อมือด้วยตนเอง

การบรรเทาอาการปวดข้อมือมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ บริเวณที่ปวด ความรุนแรงของอาการปวด อายุและสุขภาพร่างกายโดยรวม โดยวิธีบรรเทาอาการที่ทำได้ด้วยตนเองเมื่อปวดข้อมือมีดังนี้

การดูแลข้อมือและปรับพฤติกรรม

วิธีบรรเทาอาการปวดข้อมือด้วยตนเองในเบื้องต้นสามารถทำได้โดย

  • ประคบน้ำแข็งบริเวณข้อมือหรือแช่มือไว้กับน้ำเย็นเป็นเวลาประมาณ 10–15  นาทีทุก ๆ 2–3 ชั่วโมง
  • แช่ข้อมือลงในน้ำอุ่นและค่อย ๆ ขยับหรือเคลื่อนไหวข้อมือในน้ำ โดยควรแช่วันละ 3–4 ครั้ง
  • สวมอุปกรณ์พยุงข้อมือเพื่อลดการเคลื่อนไหวในบริเวณดังกล่าว
  • หากข้อมือมีอาการบวม ควรถอดสร้อยข้อมือหรือเครื่องประดับอื่น ๆ ที่สวมใส่อยู่ออก
  • พักการใช้ข้อมือเป็นระยะ
  • ลดหรือเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจทำให้ปวดข้อมือ เช่น การพิมพ์ การใช้เครื่องมือต่าง ๆ หรือการเล่นดนตรี เป็นต้น
  • ใช้อุปกรณ์เสริมเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ออกแรงในบริเวณข้อมือ อย่างสายรัดข้อมือหรือแผ่นรองข้อมือขณะใช้งานคอมพิวเตอร์

การออกกำลังกายข้อมือ

การออกกำลังกายเพื่อลดอาการปวดข้อมือทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการวางมือและท่อนแขนส่วนปลายลงบนโต๊ะโดยใช้ผ้ารองและให้มือคว่ำลง จากนั้นขยับแค่มือขึ้นให้รู้สึกตึงบริเวณข้อมือและวางมือลง โดยให้ทำซ้ำสลับกันไปเรื่อย ๆ

หรือการบีบลูกบอลโดยในการบีบแต่ละครั้งจะต้องค้างในท่าบีบเป็นเวลา 5 วินาทีก่อนจะคลายออก ทำซ้ำทั้งหมด 10 ครั้ง สามารถทำได้ตลอดทั้งวัน อย่างไรก็ตาม หากออกกำลังกายแล้วรู้สึกปวดรุนแรงขึ้น ควรหยุดออกกำลังกายด้วยวิธีนั้น ๆ เพื่อความปลอดภัย

การใช้ยา

เมื่อรู้สึกปวดข้อมือ ผู้ป่วยอาจใช้ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป อาทิ ยาพาราเซตามอลและยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory Drugs: NSAIDs) อย่างยาไอบูโพรเฟนหรือยานาพรอกเซน (Naproxen) ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาแก้ปวดเพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาแก้ปวดกับยาเดิมที่ผู้ป่วยกำลังรับประทานอยู่ได้

โดยทั่วไปอาการปวดข้อมืออาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษากับแพทย์ แต่กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อมืออย่างรุนแรง กระดูกข้อมือหักหรือมีอาการของกลุ่มอาการเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณมืออย่างรุนแรงก็จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ โดยแพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อจัดให้กระดูกไม่เคลื่อนที่ ดามโลหะ คลายแรงกดบนเส้นประสาทและอาจผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเอ็นในบริเวณดังกล่าว

ปวดข้อมือแบบไหนควรไปหาหมอ ?

แม้ว่าผู้ที่มีอาการปวดข้อมือจะไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่หากพบว่าตนเองมีอาการต่อไปนี้ ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้รักษาได้ยาก เคลื่อนไหวข้อมือได้น้อยลงหรือเกิดภาวะพิการได้

  • ปวดข้อมืออย่างรุนแรง
  • อาการปวดเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ปวดและบวมในบริเวณดังกล่าวติดต่อกันนานกว่า 2–3 วัน
  • ปวดข้อมือบ่อย
  • อาการไม่ดีขึ้นแม้จะบรรเทาอาการในเบื้องต้นแล้ว รู้สึกชาหรือสูญเสียประสาทสัมผัสที่มือหรือข้อมือ
  • มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน

อย่างไรก็ตาม อาการปวดข้อมืออาจป้องกันได้ด้วยการดูแลกระดูกให้แข็งแรง โดยผู้ใหญ่ควรได้รับแคลเซียมในปริมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวันและผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับแคลเซียม 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน ระมัดระวังการหกล้ม ปรับไฟภายในสถานที่ให้สว่างเพียงพอ สวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องเล่นกีฬาที่มีการปะทะ ทำให้มืออุ่นอยู่เสมอและควรพักการใช้ข้อมือทุกชั่วโมงเป็นเวลาอย่างน้อย 10–15 นาที