ส้นเท้าแตก สาเหตุและวิธีการรับมืออย่างเหมาะสม

ส้นเท้าแตกคืออาการที่ผิวหนังบริเวณส้นเท้าแห้งแข็ง หยาบกระด้าง แตกและแยกออกเป็นแผ่น หากมีรอยแตกถึงผิวหนังด้านใน อาจทำให้มีเลือดออกหรือเกิดความเจ็บปวดตามมาได้ ส้นเท้าแตกสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่มักเกิดในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศแห้งและหนาวเย็น และถือเป็นปัญหากวนใจสำหรับใครหลายคนเลยทีเดียว

ส้นเท้าแตกส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถดูแลได้ด้วยตัวเอง วิธีการรักษาส้นเท้าแตกด้วยตัวเองมีหลายวิธี ซึ่งเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็ควรศึกษาข้อควรระวังของแต่ละวิธีก่อนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม หากปัญหาส้นเท้าแตกมีอาการรุนแรงมากขึ้น ก็อาจจำเป็นต้องใช้วิธีรักษาทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน

Cracked Heels

สาเหตุของส้นเท้าแตก

ส้นเท้าแตกสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

  • การอยู่ในสภาพอากาศที่แห้งหรือหนาวเย็น
  • การเดินเท้าเปล่าบนพื้นที่มีอุณหภูมิสูงหรือร้อนจัด
  • การดื่มน้ำน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ 
  • การไม่ทาครีมบำรุงผิวที่มีสรรพคุณช่วยให้ผิวเกิดความชุ่มชื้น
  • การอาบน้ำหรือแช่เท้าในน้ำที่ร้อนเกินไปเป็นเวลานานหรือบ่อยเกินไป 
  • การขัดเท้า และการใส่รองเท้าที่ไม่ถนอมเท้าหรือรองเท้าที่เปิดผิวเท้ามากเกินไป
  • การมีภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น การมีน้ำหนักตัวมาก มีภาวะอ้วน หรือเป็นโรคเบาหวาน

ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือเป็นโรคเบาหวานอาจเกิดส้นเท้าแตกได้ง่าย เนื่องจากผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักตัวจะเพิ่มแรงกดบริเวณฝ่าเท้าทำให้อาจเกิดส้นเท้าแตกตามมา ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวาน เส้นประสาทบริเวณเท้าจะถูกทำลายจากปริมาณน้ำตาลในเลือดที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้อาจมีผิวแห้งแตกบริเวณส้นเท้า ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สามารถนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงได้เช่นกัน 

วิธีการรักษาส้นเท้าแตก

วิธีการรักษาส้นเท้าแตกมีทั้งวิธีการดูแลตัวเองง่าย ๆ ที่สามารถทำตามได้ที่บ้านในกรณีที่ส้นเท้าแตกไม่รุนแรง และวิธีการรักษาทางการแพทย์ในกรณีที่ส้นเท้าแตกมีอาการรุนแรงหรือเป็นผลมาจากภาวะสุขภาพอื่น ๆ โดยวิธีการรักษาส้นเท้าแตกแต่ละวิธีมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว

 

เป็นการใช้ครีมหรือยาที่มีสรรพคุณเพื่อรักษาอาการผิวแตกในลักษณะนี้โดยเฉพาะ เช่น ครีมที่มีส่วนผสมของ ยาไดเมทิโคน (Dimethicone) โดยตัวยาจะเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ลดการเกิดผิวหนังที่หนาและด้านจากภาวะผิวแห้ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดส้นเท้าแตก 

นอกจากนี้ ยังมีครีมบำรุงผิวหรือน้ำมันทาผิวตามธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันละหุ่ง หรือน้ำมันงา ซึ่งมีสรรพคุณช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และป้องกันผิวแห้งแตก สามารถใช้ทาบริเวณส้นเท้าเพื่อช่วยลดอาการส้นเท้าแตกได้ แต่จะได้ผลดีสุดเมื่อทาหลังอาบน้ำในขณะที่ผิวยังหมาดอยู่

2. การใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum Jelly)

 

ปิโตรเลียมเจลลี่เป็นเจลเหลวที่ใช้ทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ช่วยฟื้นฟูผิวบริเวณส้นเท้าที่แห้งแตก โดยควรทาตอนก่อนนอนแล้วสวมถุงเท้าทับ เพื่อให้ผิวบริเวณส้นเท้าที่แตกได้ดูดซับความชุ่มชื้นจากเจลไปตลอดคืนในระหว่างที่กำลังนอน

3. การดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอ

 

การดื่มน้ำน้อยนอกจากจะทำให้เกิดอาการปากแห้งคอแห้ง ส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายจากภาวะขาดน้ำแล้ว ยังสามารถส่งผลต่อสุขภาพผิว ทำให้ผิวแห้งและแตกง่ายได้ด้วย จึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับปริมาณที่ร่างกายต้องการ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และให้ผิวบริเวณส้นเท้าที่แห้งแตกกลับมาเป็นปกติ

4. การเลือกใช้สบู่ที่มีสรรพคุณบำรุงผิว

 

การใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของสารเคมีเข้มข้นอาจทำให้ผิวแห้งได้ จึงควรเลือกใช้สบู่สูตรที่อ่อนโยนต่อผิว เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังเกิดอาการแพ้ ระคายเคือง หรือทำให้เกิดผิวแห้งแตกตามมา นอกจากนี้ ควรเลือกใช่สบู่ที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอไรเซอร์ (Moisturizer) เพื่อเป็นการช่วยบำรุงผิวและช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวอีกวิธีหนึ่ง

5. การรักษาส้นเท้าแตกทางการแแพทย์

 

การรักษาทางการแพทย์แพทย์อาจเกิดขึ้นเมื่อส้นเท้าแตกมีอาการรุนแรง เช่น มีอาการบวมแดง เจ็บปวดบริเวณส้นเท้าแตกเป็นอย่างมาก หรือมีหนองและอาการไม่บรรเทาแม้พยายามรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ด้วยตนเองแล้ว 

โดยการรักษาส้นเท้าแตกทางการแพทย์จะมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดเอาผิวหนังส่วนที่แห้งแตกบางส่วนออก การจ่ายยาบรรเทาอาการปวด อาการอักเสบ หรือยาประเภทครีมที่มีส่วนผสมของยูเรียหรือกรดซาลิไซลิก การพันปิดบาดแผลเพื่อช่วยลดรอยแตกของผิวหนัง รวมถึงการเสริมพื้นรองเท้า เพื่อช่วยลดแรงกดบริเวณส้นเท้าด้วย

เคล็ดลับง่าย ๆ ในการป้องกันส้นเท้าแตก

ส้นเท้าแตกสามารถป้องกันได้ หากปฏิบัติตามคำนะนำเหล่านี้

  • อาบน้ำอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่อาบน้ำร้อนจนเกินไป และไม่แช่เท้าอยู่ในน้ำร้อนเป็นเวลานานเกินไป
  • หากต้องอยู่ในสภาพอากาศแห้งหรือหนาวเย็น อาจไม่จำเป็นต้องอาบน้ำทุกวัน หรืออาบน้ำไม่เกินวันละ 1 ครั้ง และไม่ควรอาบน้ำเป็นเวลานานเกินไปด้วย
  • เลือกสบู่ที่มีสรรพคุณในการบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ไม่ทำให้ผิวแห้ง และควรทาครีมบำรุงผิวอยู่เสมอเพื่อช่วยเติมความชุ่มชื้นให้แก่ผิว
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนพื้นผิวที่ร้อนจัด เพราะอาจทำให้ผิวหนังบริเวณเท้าแห้ง
  • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าแตะหรือรองเท้าที่คับและรัดแน่นจนเกินไป และควรผลัดเปลี่ยนรองเท้า ไม่ใส่รองเท้าคู่เดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน
  • หมั่นสำรวจบาดแผล รอยแตก อาการบวม หรือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณเท้า และปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม หากแผลส้นเท้าแตกที่เกิดขึ้นมีอาการบวมแดง เจ็บปวดมาก มีหนอง รวมถึงอาการไม่บรรเทาลงหลังจากการใช้วิธีต่าง ๆ รักษาด้วยตัวเองแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม และรับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา