วิธีแก้ท้องอืดให้ได้ผล

ท้องอืด คืออาการที่สามารถพบได้ทั่วไปกับคนทุกเพศทุกวัย ทำให้รู้สึกไม่สบายท้องหรือแน่นอึดอัดท้อง ซึ่งเกิดจากการมีแก๊สอยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้มากกว่าปกติ บางรายอาจทำให้ท้องบวมจนเห็นได้ชัดเจน และอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น เรอบ่อย ผายลม ปวดท้อง หรือท้องร้องมากกว่าปกติ

ถึงแม้ว่าท้องอืดจะไม่ได้เป็นอาการที่ทำให้เกิดอันตราย แต่ก็สามารถทำให้ผู้ที่เป็นรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัวและอาจทำให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำกิจกรรมบางอย่างได้

วิธีแก้ท้องอืดให้ได้ผล

ท้องอืดมีสาเหตุมาจากอะไร ?

สาเหตุของอาการท้องอืดที่พบบ่อยมาจากการมีแก๊สในระบบทางเดินอาหารมากกว่าปกติ ซึ่งมาจากการรับประทานอาหารแล้วไม่สามารถย่อยได้อย่างเหมาะสมหรือมาจากการกลืนอากาศเข้าไปในขณะที่กำลังรับประทานอาหารหรือดื่มเครืองดื่ม โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมต่อไปนี้ อาจเพิ่มโอกาสให้ท้องอืดได้มากขึ้น

  • รับประทานอาหารเร็วเกินไป
  • รับประทานอาหารพร้อมกับคุยไปด้วย
  • ดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ดื่มน้ำจากหลอดดูด
  • เคี้ยวหมากฝรั่ง
  • สูบบุหรี่
  • สวมฟันปลอมหลวม

สาเหตุทางด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้แก่

  • ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)
  • โรคลำไส้อักเสบ เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative Colitis) หรือโรคโครห์น (Crohn's Disease)
  • การทำงานของกระเพาะลำไส้ที่ผิดปกติ (Functional Gastrointestinal Disorders: FGIDs)
  • อาการแสบร้อนกลางอก
  • ภูมิแพ้อาหาร
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรืออ้วน
  • ฮอร์โมนแปรปรวน
  • โรคเจียอาร์ไดอาซิส (Giardiasis) หรือโรคท้องร่วงจากเชื้อเจียอาร์ไดอาซิส
  • โรคที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร เช่น โรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa) หรือโรคบูลิเมีย
  • โรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรืออาการแพ้กลูเตนในอาหารที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปัง
  • ภาวะอาหารผ่านเข้าสู่กระเพาะอาหารอย่างรวดเร็ว
  • ภาวะน้ำในช่องท้อง จากโรคตับหรือโรคไต
  • เนื้องอกในช่องท้อง
  • ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต เช่น ความเครียด วิตกกังวล และโรคซึมเศร้า
  • ยาบางชนิดที่ทำให้มีแก๊สมาก เช่น ยานาพรอกเซน (Naproxen) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยาแอสไพริน (Aspirin)

ภาวะต่อไปนี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแก๊สและอาการท้องอืด

  • การขาดหรือมีการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารมากเกินไป
  • มีการสะสมของแก๊ส
  • การเคลื่อนไหวหรือการบีบตัวของลำไส้ลดลง
  • เกิดความบกพร่องในการระบายลมออกจากร่างกาย
  • ท้องผูก
  • การดูดซึมอาหารที่ผิดปกติ
  • ลำไส้แปรปรวน

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์?
โดยทั่วไป อาการท้องอืดมักไม่มีอันตรายใด ๆ และมักหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่หากพบว่ามีอาการท้องอืดต่อเนื่อง และมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคที่มีความรุนแรงได้

  • มีไข้สูง
  • ปวดท้องอย่างรุนแรงหรือเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน
  • อุจจาระปนเลือด หรืออุจจาระสีเข้มมาก
  • ท้องเสีย
  • แสบร้อนกลางอก
  • อาเจียน
  • น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

มีวิธีแก้ท้องอืดอย่างไรบ้าง ?

ปรับพฤติกรรมการรับประทานและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่าง ได้แก่

  • รับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มให้ช้าลง จะช่วยลดการกลืนอากาศให้น้อยลงได้
  • ดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลงหรือจำกัดการดื่ม เพราะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น พืชตระกูลผักกาด ถั่ว หัวหอม บรอกโคลี กะหล่ำดอก กล้วย ลูกเกด และขนมปังโฮลวีท
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น ซอร์บิทอล (Sorbitol) เพราะผลิตจากน้ำตาลฟรุกโตสที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องอืด
  • ผู้ป่วยที่มีอาการท้องอืดจากการแพ้โปรตีนกลูเตน ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของข้าวสาลีทุกชนิด หากแพ้น้ำตาลแลกโตสก็ควรงดผลิตภัณฑ์จากนมเช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม เพราะขณะที่กำลังเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม จะทำให้กลืนอากาศเข้าไปมากกว่าปกติ
  • จำกัดอาหารประเภทไขมัน
  • สังเกตชนิดของอาหารหรือเครื่องดื่มที่มักทำให้เกิดอาการ
  • หากมีอาการท้องอืดบ่อย ๆ เนื่องจากรับประทานอาหารมากเกินไป ควรลดปริมาณอาหารลง หรือแบ่งย่อยมื้ออาหารจาก 3 มื้อ เป็น 5-6 มื้อ เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างเป็นปกติ
  • ลดน้ำหนัก สำหรับผู้ที่อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก
  • ผู้ที่มีภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ (Lactose Intolerance) ควรบริโภคผลิตภัณฑ์ทำจากนมที่ปราศจากแลคโตส
  • บริโภคผลิตภัณที่มีโปรไบโอติกส์ (Probiotics) หรือจุลินทรีย์ที่มีชีวิตซึ่งมีประโชน์ต่อร่างกาย เช่น โยเกิร์ต โดยจะช่วยเพิ่มแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ และจากการวิจัยพบว่ามีส่วนช่วยบรรเทาอาการท้องอืดได้
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะทำให้กลืนอากาศเข้าไปมากกว่าปกติ
  • ตรวจสอบฟันปลอม เพราะหากฟันปลอมที่ใส่อยู่ไม่พอดี อาจทำให้ต้องกลืนอากาศเข้าไปมากเวลารับประทานอาหารและดื่มน้ำ
  • หลีกเลี่ยงความเครียดและความวิตกกังวล
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้และช่วยบรรเทาความเครียด
  • หลังรับประทานอาหาร ควรขยับร่างกาย เช่น เดินเบา ๆ เพื่อช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยกำจัดแก๊สออกจากกระเพาะอาหารและลำไส้
  • สมุนไพรบางชนิด นอกจากนำมาใช้เป็นส่วนผสมอาหารแล้วยังมีสรรพคุณที่ช่วยขับลมและบรรเทาอาการท้องอืดได้ เช่น ขิง สะระแหน่ ชินนาม่อน คาโมไมล์ โหระพา ยี่หร่า กระเทียม จันทน์เทศ ผักชีฝรั่ง และออริกาโน่ 

รักษาด้วยการนวด

การนวดบริเวณท้องอาจมีส่วนช่วยลดอาการท้องอืดได้ โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่าใน 80 คน ที่มีภาวะน้ำในท้องมากหรือท้องมาน (Ascites) และได้รับการนวดบริเวณท้องวันละ 2 ครั้ง วันละ 15 นาที เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 วัน ผลปรากฏว่า การนวดมีส่วนช่วยทำให้อาการซึมเศร้า วิตกกังวล ลดลง และช่วยให้อาการท้องอืดดีขึ้นได้  

การรักษาด้วยยา

ยาที่นิยมนำมาใช้บรรเทาอาการท้องอืดได้แก่ ไซเมทิโคน (Simethicone) เป็นยาขับลม ช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด ท้องอืด และแน่นท้อง หรือยาดอมเพอริโดน (Domperidone) ซึ่งช่วยการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้อาหารและแก๊สเคลื่อนผ่านระบบย่อยอาหารได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่มีปัญหาการย่อยอาหารที่ผิดปกติจากภาวะตับอ่อนบกพร่อง สามารถรับประทานเอนไซม์จากตับอ่อนเสริมพร้อมอาหารเพื่อเพิ่มเอนไซม์ที่ขาดหายไปได้

กรณีที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรับประทานอาหารหรือซื้อยาใช้เองไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการท้องอืดได้ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะอาจมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะที่ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ โดยการรักษาด้วยยาแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโรคและดุลยพินิจของแพทย์