ผู้หญิงบางคนอาจชื่นชอบและอยากมีรอยสักบนเรือนร่างเพื่อความสวยงาม แต่การสักระหว่างตั้งครรภ์นั้นอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อครรภ์และการคลอดได้ อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดมีมาตรการตรวจสอบมาตรฐานของร้านสักและจัดระเบียบมาตรฐานวิชาชีพของช่างสักอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจสักระหว่างตั้งครรภ์
สักระหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ?
ขณะนี้ยังไม่มีงานค้นคว้าใดยืนยันชัดเจนว่าการสักระหว่างตั้งครรภ์จะปลอดภัยหรือเป็นอันตราย อีกทั้งยังอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสู่ทารกในครรภ์ด้วย จึงไม่แนะนำให้สักในช่วงที่ตั้งครรภ์ และควรเลื่อนแผนการสักออกไปก่อน
การสักระหว่างตั้งครรภ์
หากตัดสินใจจะสักระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ และควรเลือกร้านสักที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
- ยินดีตอบคำถามที่กังวลและให้รายละเอียดต่าง ๆ ที่สังสัย หรือยินดีให้สังเกตการสักของช่างระหว่างที่กำลังสักให้ผู้อื่นก่อนตัดสินใจสัก
- ร้านสะอาดและถูกสุขอนามัย โดยพื้น กำแพง และเพดานสะอาด และมีพื้นที่สำหรับสักที่แยกออกจากพื้นที่การใช้งานส่วนอื่น ๆ
- อุปกรณ์สักต่าง ๆ ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว และร้านสักมีหม้อนึ่งฆ่าเชื้อที่ใช้ความร้อนและไอน้ำเพื่อทำความสะอาดอุปกรณ์สักโดยเฉพาะ
- ใช้อุปกรณ์ที่เป็นของใหม่ และไม่นำอุปกรณ์บางชนิดกลับมาใช้ซ้ำหรือใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ถุงมือ ผ้าพันแผล สีหมึก และเข็ม เป็นต้น
- ใช้สีหมึกที่อยู่ในถ้วยสีสักชนิดใช้แล้วทิ้งโดยเฉพาะ ไม่ใช้สีสักจากขวดสีหมึก
- ช่างสักมีความชำนาญ และใส่ถุงมือตลอดขั้นตอนการสัก
- ช่างสักว่างตอบคำถามในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังจากสักเสร็จ เพื่อให้ผู้ที่สักสอบถามข้อมูลได้หากเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้น
ทั้งนี้ ควรแจ้งช่างสักให้ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ด้วย เพื่อให้ช่างสักระมัดระวังมากกว่าปกติ และควรรอให้เลยช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ไปก่อน เพื่อให้อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ของทารกในครรภ์พัฒนาขึ้นมาก่อน เช่น อวัยวะภายใน กระดูก เส้นประสาท และกล้ามเนื้อ เป็นต้น
อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อสักระหว่างตั้งครรภ์
ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อสักระหว่างตั้งครรภ์ มีดังนี้
- เป็นลม ในบางครั้งผู้ที่มาใช้บริการสักอาจเป็นลมหรือหมดสติไป ซึ่งช่างสักอาจไม่มีความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมากพอหากผู้ที่ตั้งครรภ์เป็นลม จนอาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่สักและทารกในครรภ์ได้
- ตกใจกลัว แม้ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันได้ว่าการสักเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ แต่เข็มสักอาจทำให้เกิดอาการตกใจกลัวได้ เพราะผู้ที่ตั้งครรภ์จะมีผิวหนังค่อนข้างไวต่อสิ่งกระตุ้น ซึ่งการเกิดภาวะเครียดผิดปกติขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
- ติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสตับอักเสบบีหรือซี เป็นต้น ซึ่งการติดเชื้อเป็นอันตรายที่ควรระวังมากที่สุดหากต้องการจะสักร่างกายในระหว่างที่ตั้งครรภ์ เพราะเชื้อต่าง ๆ อาจกลายเป็นโรคร้ายแรงที่อาจถูกส่งผ่านไปยังทารกได้ โดยการติดเชื้ออาจเกิดจากการใช้เข็มหรืออุปกรณ์สักร่วมกับผู้อื่น ใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดหรือไม่ผ่านการฆ่าเชื้อมาก่อน
ทั้งนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากปรากฏอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อหลังการสัก ดังนี้
- เป็นไข้ หนาวสั่น
- มีหนองหรือเป็นแผลแดงบริเวณรอยสัก
- มีกลิ่นเหม็นบริเวณรอยสัก
- เกิดเนื้อเยื่อแข็งบริเวณรอยสัก
- มีรอยดำปรากฏขึ้นบริเวณรอยสักหรือรอบรอยสัก
นอกจากนี้ ผู้ที่สักระหว่างตั้งครรภ์อาจประสบปัญหาสภาพผิวที่อาจส่งผลให้ลักษณะของรอยสักเปลี่ยนไปได้ โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณที่มีการขยายมาก เช่น หน้าท้อง หน้าอก และสะโพก เป็นต้น ซึ่งหากผิวเกิดรอยแตกลายในบริเวณเดียวกับที่สัก รอยสักก็อาจดูจางลงได้ด้วย
ทางเลือกอื่น ๆ ในการตกแต่งลวดลายบนร่างกายแทนการสัก
นอกจากการสักแล้ว ในปัจจุบันยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่สามารถตกแต่งลวดลายบนผิวกายได้ เช่น เฮนน่า ซึ่งเป็นการระบายหรือวาดลวดลายลงบนผิวหนังแบบชั่วคราว โดยไม่ต้องใช้เข็มสักหมึกลงใต้ผิวหนังให้เกิดการระคายเคืองแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เฮนน่าก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน เพราะเฮนน่าบางชนิดอย่างเฮนน่าสีดำอาจมีส่วนประกอบของสารเคมี เช่น สารพาราฟินีลินไดอะมีน (P-Phenylenediamine) ที่อาจทำให้ผิวหนังไหม้ เป็นตุ่มน้ำพองเรื้อรังนานหลายเดือน และยากต่อการวินิจฉัยหรือรักษา ดังนั้น ควรเลือกใช้เฮนน่าธรรมชาติที่ติดทนนาน 4 สัปดาห์ ซึ่งอาจเป็นสีส้ม สีแดง สีน้ำตาล สีอิฐ สีช็อกโกแลต หรือสีเหมือนอบเชยแทน