ความหมาย สังคัง (Tinea Cruris)
สังคัง (Tinea Cruris) เป็นโรคติดเชื้อราชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อเกิดอาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น เกิดผื่นแดงอักเสบ เป็นขุย และคันตามผิวหนัง โดยมักจะพบได้บ่อยบริเวณขาหนีบ อวัยวะเพศ ต้นขาด้านใน ก้น และผิวหนังที่มีความอับชื้นสูง
สังคังเป็นโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้มากในเพศชาย โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ก่อให้เกิดอาการร้ายแรงต่อร่างกาย การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาต้านเชื้อราที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ร่วมกับการรักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงความอับชื้นบริเวณที่เกิดอาการ
อาการของสังคัง
ผู้ที่เป็นสังคังจะสังเกตพบรอยผื่นบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ แต่มักจะพบได้ที่บริเวณขาหนีบ ต้นขาด้านใน และอาจลามไปยังผิวหนังใกล้เคียง เช่น หน้าท้อง หัวหน่าว หรือก้น แต่มักไม่ค่อยลามไปยังถุงอัณฑะ โดยรอยผื่นจะมีลักษณะเป็นสีแดง มีขอบของผื่นนูนชัด อาจเป็นแผ่นหรือเป็นวง ในบางกรณีอาจพบว่าผิวลอก แตก หรือเป็นขุย
โดยการกระจายตัวของผื่นจะมีลักษณะเป็นวงกลมหรือพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกคันตลอดเวลาร่วมกับอาการแสบร้อน และอาจพบว่าสีของผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมถึงอาจพบว่าอาการของโรคจะรุนแรงขึ้นหากออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดเหงื่อและความอับชื้น
ทั้งนี้ ลักษณะรอยผื่นจากโรคสังคังอาจคล้ายกับโรคผิวหนังชนิดอื่นได้ เช่น เชื้อราในช่องคลอด สะเก็ดเงิน เซบเดิร์มหรือต่อมไขมันอักเสบ และผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Erythrasma) เป็นต้น
หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ หรือใช้ยาต้านเชื้อราตามร้านขายยาแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ โดยเฉพาะกรณีที่มีสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างรอยผื่นมีของเหลวไหลออกมา ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง
สาเหตุของสังคัง
สังคังเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) เช่นเดียวกับโรคกลาก โดยเชื้อเหล่านี้มักจะอาศัยอยู่ตามผิวหนัง เล็บ และเส้นผมของมนุษย์เป็นปกติ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ
แต่เมื่อผิวหนังสัมผัสกับความชื้นสูงบ่อย ๆ เชื้อราชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีจนส่งผลให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้ โดยเฉพาะผิวบริเวณที่อับชื้นและมีอุณหภูมิสูง อีกทั้งยังอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณใกล้เคียง หรือแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ง่ายด้วย
โดยสาเหตุหลักที่พบได้บ่อยของการเกิดสังคังมักมาจากการสวมใส่เสื้อผ้าเปียกชื้น ไม่สะอาด หรือผิวหนังสัมผัสกับความชื้นเป็นเวลานานจนเชื้อราเจริญเติบโตได้เร็ว ซึ่งโดยส่วนมาก บริเวณขาหนีบ ต้นขาด้านใน ก้น มือ และเท้า จะเป็นบริเวณที่พบการติดเชื้อได้บ่อย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อราได้ง่าย เช่น
- เป็นนักกีฬาที่มีเหงื่อออกมากและผิวหนังอับชื้นหมักหมมเป็นเวลานาน
- เป็นผู้ชาย หรือผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่
- ไม่รักษาสุขอนามัยของร่างกาย ไม่ค่อยอาบน้ำหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าและชุดชั้นในใหม่ โดยเฉพาะหลังจากเล่นกีฬาหรือทำงานหนักจนมีเหงื่อออกมาก
- มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ภาวะเหงื่อออกมาก น้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือโรคที่ทำให้เกิดเหงื่อและแรงเสียดสีมากกว่าคนปกติ เป็นต้น
- ชอบสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น หรือสวมเสื้อผ้าสกปรกซ้ำหลายครั้ง
- สัมผัสเสื้อผ้าที่มีเชื้อราโดยตรง หรือใช้สิ่งของที่ติดเชื้อราร่วมกับผู้อื่น เช่น ชุดชั้นใน ชุดกีฬา ผ้าเช็ดตัว หวี กรรไกรตัดเล็บ เป็นต้น
การวินิจฉัยสังคัง
แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและครอบครัว ร่วมกับการตรวจสุขภาพทั่วไปเพื่อคัดกรองโรคขั้นแรก จากนั้นแพทย์จะตรวจผิวหนังบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ ดูลักษณะของผื่น และตำแหน่งที่ผื่นขึ้นว่าเป็นโรคสังคังหรือไม่
หากแพทย์เห็นว่า รอยผื่นมีลักษณะคล้ายกับโรคผิวหนังชนิดอื่น แพทย์อาจขูดขุยผิวหนังที่เกิดการติดเชื้อไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือใช้วิธีเพาะเลี้ยงเชื้อเพื่อวินิจฉัยว่ารอยผื่นดังกล่าวเกิดจากการติดเชื้อราหรือไม่
การรักษาสังคัง
ในกรณีที่ไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้เพียงยาทาต้านเชื้อราที่หาซื้อได้เองจากร้านขายยา ร่วมกับการดูแลตนเองตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ทายาต้านเชื้อราตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกรอย่างสม่ำเสมอ
- ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อ และควรให้ผิวหนังแห้งสนิทอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้ผิวเปียกชื้น
- เปลี่ยนเสื้อผ้าและชุดชั้นในทุกวัน
- เลือกสวมเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี โปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป
- รักษาอาการป่วยติดเชื้อราประเภทอื่น ๆ ให้หายขาด เช่น โรคน้ำกัดเท้า เป็นต้น
ในกรณีรุนแรงหรือการใช้ยาทาด้วยตัวเองไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาบางชนิดในการรักษา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
ยาทาผิวหนัง
ยาทาผิวหนังที่ใช้รักษาสังคังจะมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งครีม โลชั่น และสเปรย์ แต่ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้มักจะเป็นยารูปแบบครีม โดยแพทย์มักแนะนำให้ทายาบาง ๆ วันละ 1–2 ครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 2–4 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรอ่านฉลากยาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ทั้งนี้ ภายหลังการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
ตัวอย่างยาทาผิวหนังเพื่อต้านเชื้อรา เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาไมโคนาโซล (Miconazole) ยาอีโคนาโซล (Econazole) ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ยาแนฟทิไฟน์ (Naftifine) ยาอันดีไซลินิกแอซิด (Undecylenic Acid) เป็นต้น
ยารับประทาน
ยารับประทานจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อราเป็นบริเวณกว้าง เป็นอย่างเรื้อรัง หรือไม่ตอบสนองต่อยาทา ซึ่งต้องให้แพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้สั่งจ่ายยาให้ เนื่องจากยารับประทานเป็นยาที่มีผลข้างเคียงและใช้ระยะเวลาในการรักษาแตกต่างกัน โดยชนิดของยาที่แพทย์มักใช้ เช่น ยาคีโตโคนาโซล ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) และกริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 เดือน ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสมอีกครั้ง และบางรายที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย แพทย์อาจต้องปรับยาต้านเชื้อราและให้ยาปฏิชีวนะเพิ่มเติม
ภาวะแทรกซ้อนของสังคัง
โรคสังคังเป็นโรคที่พบการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ไม่บ่อยนัก แต่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยบางราย โดยมีอาการ เช่น ผื่นอาจแพร่กระจายลุกลามไปยังขาหนีบ ต้นขา และอวัยวะเพศ บางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังจากการเกาหรือถูผิวหนังจนระคายเคือง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฝีหรือเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) ตามมา
นอกจากนี้ หลังจากผื่นทุเลาลง ผิวหนังอาจเกิดรอยดำหรือรอยด่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ค่อยก่อให้เกิดแผลเป็นถาวร
การป้องกันสังคัง
การรักษาสุขอนามัยของร่างกายจะช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดโรคหรือกลับมาเป็นสังคังซ้ำ โดยควรทำตามคำแนะนำ ดังนี้
- ทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำทุกวันและไม่ปล่อยให้ผิวเปียกชื้นเป็นเวลานาน โดยเฉพาะส่วนที่เกิดความอับชื้นได้ง่ายอย่างขาหนีบ อวัยวะเพศ และก้น โดยอาจใช้ผ้าขนหนูสะอาดซับบริเวณต่าง ๆ ให้แห้งหลังอาบน้ำหรือทำความสะอาดผิวหนัง รวมทั้งควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่หลังออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ
- เปลี่ยนเสื้อผ้าและชุดชั้นในทุกวัน ไม่ควรใส่เสื้อผ้าสกปรกซ้ำหรือสวมไว้เป็นเวลานาน โดยผู้ที่มีเหงื่อออกหรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมากควรเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ทันที
- สวมใส่เสื้อผ้าให้พอดีกับขนาดของร่างกาย มีเนื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี และไม่รัดแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะชุดชั้นในและชุดกีฬา หากเป็นนักกีฬาควรใส่เสื้อผ้าที่ออกแบบเป็นพิเศษสำหรับนักกีฬา เพื่อไม่ให้ผิวหนังโดนเสียดสีจนเกิดการระคายเคืองและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกันหรือไม่ยืมของผู้อื่นมาใช้โดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะผ้าขนหนู เสื้อผ้า หรือของใช้อื่น ๆ เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อรา
- ป้องกันโรคน้ำกัดเท้าหรือรักษาให้หายขาด โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่สาธารณะที่มีความเปียกชื้นสูงเป็นเวลานาน เช่น ห้องอาบน้ำในฟิตเนส หรือสวมรองเท้าแตะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากโรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราที่นิ้วเท้า ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไปยังขาหนีบหรือผิวหนังบริเวณใกล้เคียงได้