การล่วงละเมิดทางเพศเด็กเป็นพฤติกรรมที่มีเจตนาไม่ดีและส่อนัยในเรื่องเพศในรูปแบบต่าง ๆ ต่อเด็ก เช่น คำพูด สายตา ท่าทาง ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ โดยที่เด็กไม่ยินยอม ยังไม่โตพอที่จะเข้าใจและให้การยินยอม หรือไม่มีความสามารถในการแสดงความยินยอมและขัดขืน เช่น เด็กที่พิการทางร่างกายและสติปัญญาซึ่งเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าเด็กทั่วไป
ทั้งนี้ จำนวนเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมักจะต่ำกว่าสถิติที่พบ เนื่องจากเด็กมักจะอายที่ตกเป็นเหยื่อและกลัวว่าการบอกให้คนอื่นช่วยเหลือจะทำให้ตัวเองถูกทำร้าย ผู้ปกครองจึงมีหน้าที่สังเกตสัญญาณของการถูกล่วงละเมิดทางเพศของเด็ก และหาวิธีป้องกันเพื่อให้เด็กมีชีวิตที่ปลอดภัยและมีความสุข
พฤติกรรมที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
การล่วงละเมิดทางเพศเด็กมีหลายรูปแบบ ทั้งการสัมผัสร่างกายของเด็ก และการใช้สายตา คำพูด ท่าทาง หรือสื่อลามกอนาจาร เพื่อคุกคามทางเพศโดยที่เด็กไม่ยินยอม และทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายใจ ปลอดภัย และอับอาย เช่น
- สัมผัส กอดจูบ ลูบคลำร่างกายของเด็ก โดยเฉพาะบริเวณหน้าอกและอวัยวะเพศ
- ทำกิจกรรมทางเพศหรือสำเร็จความใคร่ให้เด็กดู ให้เด็กสัมผัสร่างกายและอวัยวะเพศของผู้ล่วงละเมิดทางเพศ และให้เด็กสำเร็จความใคร่ให้
- บังคับขืนใจ โดยสอดใส่อวัยวะ เช่น นิ้วมือและอวัยวะเพศ หรือสิ่งของอื่น ๆ เข้าทางปาก อวัยวะเพศ และทวารหนักของเด็ก
- เปิดอวัยวะเพศของตัวเอง หรือเปิดภาพและวิดีโอโป๊ให้เด็กดู
- ส่งข้อความ โทรศัพท์ หรือพูดคุยในเชิงลามกอนาจารกับเด็กผ่านโซเชียลมีเดีย และเว็บไซต์ต่าง ๆ
- มีสื่อลามกอนาจารเกี่ยวกับเด็กไว้ในครอบครอง หรือเป็นผู้ถ่ายทำและเผยแพร่ภาพหรือวิดีโอโป๊เด็ก
- ค้าประเวณีเด็ก
ผู้ที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็กมักเป็นคนที่เด็กรู้จักคุ้นเคยและมีอำนาจเหนือเด็ก เช่น คนในครอบครัว ครู หรืออาจเป็นเพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนบ้าน หรือคนแปลกหน้าได้เช่นกัน โดยอาจเข้ามาตีสนิทกับเด็กและผู้ปกครองจนได้รับความไว้ใจ และล่วงละเมิดทางเพศเด็กในภายหลัง
เด็กทั้งชายและหญิงทุกคนสามารถเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศได้ โดยเด็กผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า รวมทั้งเด็กที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน เด็กที่ผู้ปกครองไม่ดูแลอย่างใกล้ชิด และเด็กที่ผิดปกติด้านการสื่อสารและไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ เช่น ออทิสติก มักเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้มากกว่าเด็กทั่วไป
สัญญาณและผลกระทบที่เกิดจากการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
เด็กมักไม่บอกให้ผู้ปกครองทราบว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยเหตุผลหลายข้อ เช่น เด็กยังเล็กเกินกว่าจะเข้าใจว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกหลอกว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องปกติ หรือรู้สึกอับอายและกลัวที่จะบอก เนื่องจากถูกขู่ว่าจะทำร้าย การจะทราบว่าเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้ปกครองอาจสังเกตได้จากอาการผิดปกติต่าง ๆ ของเด็ก เช่น
อาการทางร่างกาย
เด็กอาจมีรอยฟกช้ำตามร่างกาย ปวดศีรษะ และปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ อวัยวะเพศบวมแดง รู้สึกเจ็บบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก โดยเฉพาะเวลาขับถ่าย ปัสสาวะรดที่นอนหรือเสื้อผ้า มีเลือดออกที่อวัยวะเพศ ท่าทางการนั่งและเดินผิดปกติ
การล่วงละเมิดทางเพศอาจทำให้เด็กติดเชื้อยีสต์ที่อวัยวะเพศบ่อย มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม นอกจากนี้ ในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ
อาการทางจิตใจและพฤติกรรม
เด็กมักกลัวการถูกสัมผัสร่างกายและการสบตา โดยเฉพาะกับผู้ที่ล่วงละเมิดทางเพศ และหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ด้วยกันตามลำพัง ร้องไห้ โมโหร้าย โกรธง่ายโดยไม่มีเหตุผล เงียบขรึม เก็บตัว ไม่เล่นของเล่น วิ่งเล่นกับเพื่อน หรือทำกิจกรรมที่ชอบทำ ฝันร้าย นอนไม่หลับ ไม่ยอมอาบน้ำ หรืออาบน้ำบ่อยผิดปกติ ไม่ยอมรับประทานอาหาร หรือรับประทานปริมาณมาก ทำให้น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ และผลการเรียนแย่ลง
การถูกล่วงละเมิดทางเพศอาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด สำเร็จความใคร่บ่อย สำส่อนทางเพศ ใช้ความรุนแรงทางเพศ และบางคนอาจมีอาการของโรคทางจิตเวช เช่น โรคกลัว (Phobia) โรคซึมเศร้า โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ทำร้ายตัวเอง และมีความคิดฆ่าตัวตาย
แนวทางป้องกันก่อนเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ผู้ปกครองสามารถป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้
- สอนให้เด็กรู้จักร่างกายของตนเอง โดยอาจใช้คำง่าย ๆ ตามความเข้าใจของเด็ก เพื่อให้เด็กรู้ว่าส่วนใดของร่างกายที่ควรปกป้อง ไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้าหรือคนรู้จักใกล้ชิดก็ตาม หากถูกแตะต้องหรือลวนลามให้บอกผู้ปกครองทันที
- สอนให้เด็กรู้จักปฏิเสธและวิ่งหนีออกมา เมื่อมีคนมาสัมผัสร่างกายโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น หอมแก้ม จูบปาก และสัมผัสหน้าอกหรืออวัยวะเพศ หรือถูกบังคับให้อยู่ในที่ลับตาสองต่อสองกับคนอื่น เช่น ครู ญาติ
- เลือกพี่เลี้ยงเด็กที่น่าเชื่อถือ โดยตรวจสอบประวัติ และสังเกตพฤติกรรมของพี่เลี้ยงก่อนที่จะให้มาดูแลเด็ก
- พูดคุยกับทางโรงเรียนเพื่อหาแนวทางการป้องกันเด็กจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- สังเกตพฤติกรรมของคนที่เข้าหาเด็ก โดยเฉพาะผู้ที่เข้ามาตีสนิทกับเด็กและผู้ปกครอง ซื้อของเล่นหรือของขวัญให้เด็กบ่อย ๆ ติดตามและมีส่วนร่วมในชีวิตของเด็ก เช่น สอบถามถึงการเรียนของเด็ก ไปร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนของเด็ก หรืออาสาช่วยงานในบ้านเพื่อใกล้ชิดกับเด็ก
- หากเด็กไปนอนค้างคืนที่อื่น เช่น บ้านเพื่อน และไปเข้าค่ายที่โรงเรียน ควรถามเด็กเกี่ยวกับระยะเวลา กิจกรรมที่ทำ และคนที่ทำกิจกรรมด้วย กำชับเด็กว่าหากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ ให้ติดต่อกลับมาผู้ปกครองทันที
หากเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กอาจไม่ได้เล่าออกมาโดยตรง แต่อาจพูดว่ามีเรื่องไม่สบายใจและเป็นความลับที่ห้ามบอกใคร ผู้ปกครองไม่ควรแสดงออกว่าไม่เชื่อเด็ก เพราะจะยิ่งทำให้เด็กไม่กล้าเล่าให้ฟัง แต่ควรค่อย ๆ ถามรายละเอียดของเหตุการณ์และตัวผู้กระทำเท่าที่เด็กสามารถจำได้โดยไม่คาดคั้น และควรรับฟังอย่างตั้งใจ
จากนั้นให้รวบรวมหลักฐาน เช่น เสื้อผ้าที่เด็กใส่ ภาพถ่ายร่องรอยการถูกกระทำ โดยห้ามทำความสะอาดร่างกายเด็กก่อนตรวจรักษา และโทรศัพท์แจ้งตำรวจหรือสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 กรณีที่เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศมาเป็นเวลาหลายวัน ควรพาเด็กไปตรวจร่างกายเพื่อดูร่องรอยการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และบาดแผลตามร่างกาย รวมทั้งป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และตรวจการตั้งครรภ์ต่อไป