ความหมาย สายตายาว
สายตายาว (Hyperopia) คือ ภาวะกำลังหักเหแสงของตาผิดปกติ โดยผู้ที่มีสายตายาวจะมีลูกตาเล็กหรือกระจกตาแบนเกินไป ทำให้ไม่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ได้ชัดเจน แต่มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ชัดเจน หรืออาจเห็นไม่ชัดทั้งระยะใกล้และระยะไกล ซึ่งสายตายาวในทางการแพทย์หมายถึง อาการสายตายาวที่เกิดตั้งแต่อายุยังน้อยยังไม่ถึงวัยสูงอายุ และสายตายาวที่เกิดขึ้นเมื่อถึงวัยสูงอายุ (อายุ 40 ปีขึ้นไป) เรียกว่า สายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia)
โดยส่วนใหญ่สายตายาวจะเป็นตั้งแต่กำเนิดและมักจะพบว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม สายตายาวไม่ได้เป็นภาวะที่อันตรายหรือรุนแรง และสามารถแก้ไขได้ไม่ยากด้วยการใส่แว่น ใส่คอนแทคเลนส์หรือรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นต้น
อาการสายตายาว
อาการที่พบบ่อยของผู้ที่สายตายาว ได้แก่
- มองเห็นวัตถุระยะใกล้ได้ไม่ชัด เช่น อ่านหนังสือ หรือร้อยด้ายกับเข็ม
- เกิดอาการไม่สบายตาหรือปวดศีรษะจากการที่ต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำงานกับคอมพิวเตอร์ หรือวาดภาพ
- มองภาพไม่ชัด โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
- ปวดศีรษะ เนื่องจากกล้ามเนื้อตาทำงานหนักเกินไปจากการโฟกัส มักจะปวดบริเวณหน้าผาก และจะมีอาการมากขึ้นเมื่อใช้สายตามากขึ้น มักไม่มีอาการในตอนเช้า แต่จะปวดศีรษะในตอนเย็น และถ้างดใช้สายตามองระยะใกล้ อาการปวดก็จะหายไป
- ปวดตาหรือบริเวณรอบดวงตา
- แสบตาหรือตาสู้แสงไม่ได้
- ต้องหรี่ตาเพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน
- มองใกล้ไม่ชัดเร็วกว่าวัยอันควร หรือมีอาการของสายตาผู้สูงอายุเร็วกว่าคนทั่วไป โดยคนทั่วไปจะมีภาวะสายตาผู้สูงอายุเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ผู้ที่มีสายตายาวอยู่ก่อนแล้วอาจจะเกิดภาวะสายตาสูงอายุเร็วขึ้น โดยในระยะแรกการมองใกล้ไม่ชัดมักเกิดเมื่อร่างกายอ่อนล้าหรือเมื่อแสงไม่พอ
- ปวดศีรษะ
- เอามือถูหรือขยี้ตาบ่อยครั้ง
- มีปัญหาในการอ่านหนังสือ หรือทำให้ไม่ชอบอ่านหนังสือ
- ตาเข เด็กที่มีสายตายาวขนาดปานกลาง ทำให้ต้องเพ่งมากตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้ตาเขเข้าใน
โดยส่วนใหญ่สายตายาวมักจะเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก และเมื่อร่างกายเจริญเติบโตขึ้นอาการก็จะหายไปได้เอง แต่ในรายที่การพัฒนาของตาได้หยุดลง (เด็กอายุประมาณ 9 ปี) และยังคงมีปัญหาสายตายาวอยู่ ดวงตาจะปรับตัวด้วยการปรับโฟกัสของตา (Accommodation) เพื่อแก้ไขปัญหา แต่เมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นการปรับโฟกัสของตาก็จะทำได้น้อยลง
นอกจากนั้น เมื่ออายุประมาณ 40 ปี ดวงตาของคนเราจะมีความสามารถในการโฟกัสวัตถุระยะใกล้ได้น้อยลงหรือที่เรียกว่าสายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia) โดยอาจสังเกตได้ว่าการมองเห็นในระยะใกล้เริ่มไม่ชัดเจนเหมือนก่อน และอาจมองเห็นไม่ชัดทั้งในระยะใกล้และไกลเมื่อเป็นมากขึ้น สาเหตุของสายตายาว
สายตายาวเป็นภาวะกำลังหักเหแสงของตาผิดปกติ มีสาเหตุมาจากลูกตาเล็กเกินไปหรือกระจกตาไม่โค้งมนเพียงพอ ทำให้ระยะห่างระหว่างกระจกตาและจอประสาทตาสั้นลง เป็นสาเหตุทำให้แสงจากวัตถุไม่โฟกัสบนจอประสาทตา แต่ไปโฟกัสหลังจอประสาทตาแทน ซึ่งส่งผลให้เห็นภาพได้ไม่ชัดเจน
โดยส่วนใหญ่สายตายาวมักจะสืบทอดทางพันธุกรรม หรืออาจเกิดได้จากบางกรณี เช่น โรคจอตา(Retinopathy) หรือเนื้องอกที่ตา แต่จะพบได้น้อยมาก
การวินิจฉัยสายตายาว
การวินิจฉัยสายตายาวจะเริ่มจากการสอบถามอาการและตรวจสายตาโดยจักษุแพทย์ รวมไปถึงการตรวจดวงตา ส่องตรวจในตา (Ophthalmoscopy) วัดความดันลูกตา (Tonometry) ตรวจด้วยเครื่องตรวจตา (Slit lamp) และอาจรวมไปถึงการทดสอบความสามารถในการมองเห็นอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
เมื่อทดสอบสายตาแล้วได้ผลว่าสายตายาว แพทย์ก็จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าเรติโนสโคป (Retinoscope) เป็นเครื่องที่ใช้วัดการหักเหของแสงของตา เพื่อช่วยหาสาเหตุของสายตายาว นอกจากนั้น แพทย์อาจใชเครื่องวัดกำลังสายตา (Phoropter) เพื่อวัดความผิดปกติในการหักเหของแสงร่วมด้วย
การรักษาสายตายาว
สำหรับผู้ที่อายุยังน้อย อาจไม่มีความจำเป็นต้องรักษา เพราะว่าเลนส์ตามีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะปรับตัวและแก้ไขภาวะสายตายาวได้เอง แต่เมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้นความยืดหยุ่นจึงลดลงและอาจมีความจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ในที่สุด
นอกจากนี้ คนที่สายตายาวหากพบว่ามีภาวะตาเขเข้าใน ซึ่งอาจเกิดจากสายตายาว ทำให้เด็กต้องเพ่งตาตลอดเวลา ในกรณีนี้ต้องแก้ไขด้วยการใส่แว่นเพื่อช่วยให้เด็กไม่ต้องเพ่งอีก ส่วนกรณีที่สายตายาวโดยที่ไม่มีตาเขร่วมด้วย จะตัดสินใจใช้แว่นแก้ไขหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับการใช้สายตาของผู้ป่วย ถ้าใช้สายตามากอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตา จึงควรได้รับการแก้ไข
การสวมแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ จะช่วยปรับโฟกัสและแก้ไขปัญหารูปร่างที่ผิดปกติของดวงตาได้ นอกจากนั้นยังช่วยปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UV) ด้วยเลนส์ที่ช่วยกรองรังสียูวี
นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจเลือกที่จะแก้ปัญหาสายตายาวด้วยการทำเลสิก (LASIK) หรือการผ่าตัดอื่น ๆ ที่คล้ายกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการหักเหของแสง โดยขั้นตอนดังกล่าวจะเป็นการแก้ไขรูปร่างของกระจกตา พื้นผิวของดวงตา และปรับการโฟกัสของดวงตาอย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ใช้รักษาสายตายาว ได้แก่
- เลสิก (Laser-Assisted In Situ Keratomileusis: LASIK) เป็นวิธีการผ่าตัดกระจกตาด้วยการใช้แสงเลเซอร์ปรับรูปร่างความโค้งของกระจกตา เพื่อให้แสงหักเหและตกกระทบบนจอประสาทตา ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
- เลเสก (Laser-Assisted Subepithelial Keratectomy: LASEK) เป็นการใช้เลเซอร์ ปรับแต่งเนื้อเยื่อส่วนหน้าของ กระจกตาด้านนอกเพื่อความโค้งที่เหมาะสม เช่นเดียวกับวิธี PRK แต่นำผิวกระจกตาชั้นนอกสุด (Epithelium) ที่ลอกออกไปก่อนการทำเลเซอร์ กลับมาปิดไว้ดังเดิม เพื่อลดอาการระคายเคือง และช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้น โดยผู้ป่วยอาจต้องใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษเป็นระยะเวลาหลายวันเพื่อการฟื้นฟู
- พีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy: PRK) เป็นวิธีที่มีขั้นตอนคล้ายกับการทำเลเสก โดยใช้การลอกผิวกระจกตาชั้นนอกสุด (Epithelium) ออกไป ก่อนที่จะใช้เลเซอร์ปรับแต่งเนื้อเยื่อกระจกตาด้านนอกให้ได้ความโค้งที่ต้องก าร และหลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาจต้องใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษเพื่อการฟื้นฟู
- การรักษาสายตาผู้สูงอายุด้วยคลื่นวิทยุ (Conductive keratoplasty: CK) เป็นขั้นตอนที่ใช้คลื่นวิทยุแทนเลเซอร์เพื่อให้ความร้อนเป็นจุดเล็ก ๆ ส่งผ่านไปยังบริเวณเนื้อเยื่อกระจกตาและทำให้กระจกตาโค้งนูนขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผลของการรักษาวิธีนี้จะอยู่ไม่ถาวร
ภาวะแทรกซ้อนของสายตายาว
สายตายาวอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีสายตายาวและไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ไม่สามารถทำงานได้ตามที่คาดหวัง หรือทำให้การใช้ชีวิตประจำวันมีความสุขน้อยลง และอาจส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ในเด็กได้
- ผู้ที่มีสายตายาวและไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้ต้องหรี่ตาเพื่อมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งทำให้มีอาการปวดตา ตาล้า หรือปวดศีรษะได้
- ผู้ที่มีปัญหาสายตายาวและไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุต่อตนเองและผู้อื่นได้ เช่น ขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
- เด็กที่มีปัญหาสายตายาวอาจพัฒนาจนทำให้ตาเหล่ (Crossed Eyes) ได้ แก้ไขได้ด้วยการใส่แว่นตาที่สั่งทำพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาสายตายาว ซึ่งอาจช่วยรักษาตาเหล่ได้
เนื่องจากสายตายาวไม่สามารถป้องกันได้ แต่มีวิธีที่จะช่วยปกป้องดวงตาและการมองเห็นของตนเองได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ควรตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบความสามารถในการมองเห็นหรือตรวจสอบว่ามีความผิดปกติใดเกิดขึ้นกับดวงตาหรือไม่
- เลือกแว่นตาที่่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งจะช่วยส่งผลให้การมองเห็นเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยหมั่นทดสอบสายตาเป็นประจำเพื่อดูว่าแว่นตาที่กำลังใช้อยู่มีความเหมาะสมหรือไม่
- หากเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง อาจมีผลกระทบต่อการมองเห็น ได้หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้นจึงควรควบคุมและดูแลโรคให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม
- หมั่นสังเกตตัวเองว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาหรือไม่ เช่น ตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็นหรือเห็นไม่ชัด ตามัว เห็นจุดดำ เห็นเป็นรังสีหรือรุ้งรอบ ๆ ดวงไฟ โดยอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่รุนแรงได้ ดังนั้น หากพบอาการต่าง ๆ ดังกล่าว ควรรีบไปพบไปแพทย์
- ปกป้องดวงตาจากแสงอาทิตย์หรือรังสีอัลตร้าไวโอเลต (Ultraviolet: UV) ด้วยการใส่แว่นตากันแดด โดยเฉพาะหากต้องอยู่กลางแจ้งและต้องสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน หรือเป็นผู้ที่ต้องใช้ยาที่อาจส่งผลทำให้ไวต่อรังสียูวี
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะรับประทานผักใบเขียวและผลไม้ที่มีสีอ่อน เช่น ผักโขม ผักคะน้า แครอท มันเทศและแคนตาลูป เพราะมีส่วนช่วยรักษาสภาพของจอประสาทตาให้ดีได้ และอาจช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อชั้นในของลูกตาได้อีกด้วย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะส่งผลร้ายต่อสุขภาพของดวงตาได้ โดยเฉพาะการเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อชั้นในของลูกตา
- หากต้องใช้สายตาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือเขียนหนังสือ ควรเปิดไฟและใช้ไฟที่เหมาะสม เพราะจะช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้นและช่วยให้ตาไม่ต้องเพ่งมากจนเกินไปจนอาจส่งผลให้ตาเสียในระยะยาวได้