ความหมาย สายตาสั้น
สายตาสั้น คือ ปัญหาเกี่ยวกับสายตาชนิดหนึ่ง เกิดจากภาวะความผิดปกติของสายตาที่ไม่สามารถรับแสงหักเหจากวัตถุที่มาโฟกัสตรงจอตาได้อย่างพอดี (Refractive Errors) ส่งผลให้มองเห็นวัตถุดังกล่าวไม่ชัด โดยผู้ที่สายตาสั้นจะมองเห็นสิ่งที่อยู่ระยะไกลไม่ชัด หรือมองเห็นมัวลง แต่จะมองเห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชัดเจน ปัญหาสายตาสั้นมักเริ่มเป็นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือตอนที่อายุยังน้อย โดยสายตาจะค่อย ๆ สั้นลงจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งมีแนวโน้มได้รับการถ่ายทอดภาวะนี้ทางพันธุกรรม
ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น สามารถวัดสายตาเพื่อดูว่าเกิดภาวะสายตาสั้นหรือไม่ โดยสายตาสั้นจะมีอาการระดับอ่อนที่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ไปจนถึงระดับรุนแแรงที่ส่งผลต่อการมองเห็น ผู้ที่สายตาสั้นสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการสวมแว่นสายตา ใส่คอนแทคเลนส์ หรือเข้ารับการผ่าตัด
อาการสายตาสั้น
ผู้ที่ประสบภาวะสายตาสั้นจะมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น และเกิดอาการอื่นร่วมด้วย ดังนี้
- มองเห็นสิ่งที่อยู่ระยะไกลมัวลง หรือมองเห็นไม่ชัดเจน
- ต้องจ้องหรือเพ่งมองใกล้ ๆ หรี่ตา รวมทั้งปิดตาข้างหนึ่งเพื่อมองให้ชัดขึ้น
- เกิดอาการตาล้าเมื่อเพ่งมองสิ่งที่อยู่ไกลออกไป อาจส่งผลให้เกิดรู้สึกปวดศีรษะ
- มองเห็นได้ไม่ชัดขณะขับขี่ โดยเฉพาะเมื่อขับขี่ตอนกลางคืน ซึ่งเรียกว่าสายตาสั้นตอนกลางคืน (Night Myopia)
ส่วนเด็กที่ประสบภาวะสายตาสั้น สามารถเข้ารับการวัดสายตาได้ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนจนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว โดยเด็กที่สายตาสั้น จะเกิดอาการดังนี้
- มักหรี่ตาเมื่อมองสิ่งที่อยู่ไกล
- จำเป็นต้องนั่งดูโทรทัศน์หรือหน้าจอภาพยนตร์แบบใกล้ ๆ หรือต้องนั่งหน้าชั้นเรียน เนื่องจากมองกระดานไม่ชัด
- มองเห็นสิ่งของที่อยู่ระยะไกลไม่ชัด
- กะพริบตาบ่อยเกินไป
- มักบ่นปวดศีรษะหรือตาล้า
- มักขยี้ตาบ่อย ๆ
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการมองไม่เห็นในระยะไกล ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและคำแนะนำในการรักษา ควรพบแพทย์โดยด่วนหากมองเห็นจุดสีดำและแสงคล้ายฟ้าแลบในตา เนื่องจากอาการดังกล่าวเกิดจากภาวะจอประสาทตาลอก (Retinal Detachment) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากสายตาสั้นที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก
สาเหตุของสายตาสั้น
โดยทั่วไปแล้ว น้ำตาที่เคลือบดวงตา กระจกตา และเลนส์ตาจะหักเหแสงที่ตกกระทบวัตถุที่มองเห็นให้โฟกัสไปที่จอตาซึ่งอยู่ด้านหลังดวงตา เมื่อจอตาได้รับภาพจากแสงดังกล่าว ก็จะส่งข้อมูลไปยังสมองผ่านเส้นประสาทตา ผู้ที่สายตาสั้นจะมองเห็นวัตถุที่อยู่ระยะไกลไม่ชัด เนื่องจากลูกตายาวกว่าปกติ หรือกระจกตามีความโค้งมากเกินไป ส่งผลให้แสงที่ตกกระทบวัตถุโฟกัสที่ด้านหน้าของจอตา ไม่ได้โฟกัสที่จอตา ผู้ที่สายตาสั้นจึงมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจน แต่มองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลมัวลง
นอกจากนี้ ผู้ที่สายตาสั้น มักมีปัญหาหรือพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ดังนี้
- ได้รับการถ่ายทอดจากพันธุกรรม ผู้ที่บุคคลในครอบครัวมีปัญหาสายตาสั้น มีแนวโน้มที่จะสายตาสั้นได้สูง โดยเฉพาะผู้ที่มีพ่อและแม่สายตาสั้นทั้งคู่
- ใช้สายตามากเกินไป ผู้ที่อ่านหนังสือ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือต้องใช้สายตาเพ่งมองสิ่งต่าง ๆ เป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการมีสายตาสั้นได้
- มีพฤติกรรมเสี่ยง ผู้ที่ทำกิจกรรมนอกบ้านน้อย เสี่ยงต่อการเกิดสายตาสั้นได้ โดยเด็กที่เล่นนอกบ้านเป็นประจำจะเสี่ยงสายตาสั้นได้น้อย หรือสายตาสั้นช้าลง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากระดับแสงข้างนอกสว่างกว่าแสงภายในบ้าน
การวินิจฉัยสายตาสั้น
แพทย์จะวินิจฉัยสายตาสั้นด้วยการตรวจสุขภาพตา โดยทั่วไปแล้ว ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยทุก 2 ปี โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาจะทำการตรวจให้ ทั้งนี้ แพทย์อาจจะหยอดตาให้แก่เด็กที่เข้ารับการตรวจ เพื่อขยายม่านตาเด็กให้กว้างและตรวจได้แม่นยำขึ้น การตรวจสุขภาพตามีหลายอย่าง ได้แก่
- การวัดแรงดันภายในตา
- การตรวจความสอดประสานในการทำงานของดวงตา
- การตรวจวัดสายตา แพทย์จะให้อ่านแผ่นที่มีแถวของตัวอักษรขนาดต่าง ๆ เพื่อวัดระดับค่าสายตาของผู้ป่วย
- การวัดด้วยเรติโนสโคป (Retinoscopy) แพทย์จะฉายแสงไปยังดวงตาผู้ป่วย เพื่อดูว่าตาของผู้ป่วยมีปฏิกิริยาต่อแสงอย่างไร รวมทั้งวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาว โดยดูจากแสงที่สะท้อนกลับมา
- การวัดกำลังสายตา (Phoropter) แพทย์จะใช้อุปกรณ์สำหรับวัดกำลังสายตา เพื่อดูว่าสายตาของผู้ป่วยมีความผิดปกติมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งเลือกใช้วิธีรักษาสายตาสั้นให้ผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นในระยะไกล อาจให้ผู้ป่วยตรวจวัดสายตาอีกครั้ง โดยจะให้ใส่แว่นตาที่มีเลนส์ของค่าสายตาระดับต่าง ๆ ขณะที่ทดสอบอ่านตัวเลขแต่ละแถว เพื่อสั่งจ่ายเลนส์ของแว่นตาที่มีระดับค่าสายตาเหมาะสมกับผู้ป่วย ทั้งนี้ การสั่งจ่ายเลนส์สำหรับประกอบแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์นั้นประกอบด้วยตัวเลขสำคัญ 3 ตัว ได้แก่
- ค่าสายตาสั้นหรือยาว (Sphere, Sph) ตัวเลขของค่าสายตาที่เป็นบวกหมายถึงค่าสายตายาว ส่วนตัวเลขของค่าสายตาที่เป็นลบหมายถึงค่าสายสั้น
- ค่าสายตาเอียง (Cylinder, Cyl) ตัวเลขของค่าสายตาเอียงจะแสดงให้เห็นว่าด้านหน้าของดวงตานั้นมีความโค้งที่ไม่สมมาตร
- แนวองศาสายตาเอียง (Axis) ตัวเลขนี้จะแสดงมุมหรือองศาของสายตาเอียง
ค่าสายตาสั้นจะแสดงกำลังหักเหแสงของเลนส์ออกเป็นหน่วยที่เรียกว่าไดออปเตอร์ (Diopter) ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงระดับค่าสายตา ผู้ที่มีค่าสายตาสั้นอยู่ที่ -0.5 ไดออปเตอร์ ถึง -0.3 ไดออปเตอร์ จัดว่าสายตาสั้นระดับอ่อน ส่วนผู้ที่มีค่าสายตาสั้นมากกว่า -6 ไดออปเตอร์ นั้นจัดว่าสายตาสั้นมาก
การรักษาสายตาสั้น
ผู้ที่สายตาสั้นควรเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยให้กลับไปมองเห็นได้ตามปกติ การแก้ไขปัญหาสายตาสั้น คือทำให้แสงโฟกัสไปที่จอตา ซึ่งประกอบด้วยการใช้เลนส์ปรับค่าสายตาและการผ่าตัด ดังนี้
การใช้เลนส์ปรับค่าสายตา ผู้ที่สายตาสั้นจะใช้เลนส์เพื่อปรับค่าสายตา โดยเลนส์จะช่วยให้กระจกตาที่มีความโค้งมากหรือลูกตาที่ยาวเกินไปกลับมามองเห็นได้ปกติ แพทย์จะใช้เลนส์ปรับค่าสายตาให้แก่ผู้ป่วยอยู่ 2 ลักษณะ ได้แก่ สวมแว่นสายตา และใส่คอนแทคเลนส์
- สวมแว่นสายตา การสวมแว่นสายตาถือเป็นการแก้ไขปัญหาสายตาสั้นที่ง่ายและปลอดภัย โดยควรสวมแว่นสายตาที่มีค่าเลนส์พอดีกับสายตาของตนเอง เลนส์แว่นจะช่วยปรับให้แสงโฟกัสที่จอตาพอดี ทำให้สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ระยะไกลได้ชัดขึ้น ผู้ป่วยจะได้เลนส์สำหรับประกอบแว่นสายตาที่มีความหนาและน้ำหนักแตกต่างกันไปตามระดับค่าสายตาที่มีปัญหา ทั้งนี้ สายตาจะเปลี่ยนไปเมื่ออายุมากขึ้น เลนส์ของแว่นตาจึงมีให้เลือกหลายชนิด ได้แก่
- เลนส์สำหรับสายตาสั้นอย่างเดียว หากอายุมากขึ้น มักจะต้องใส่แว่นเมื่อต้องอ่านหนังสือ ผู้ที่สายตาสั้นจึงต้องมีแว่นสายตา 2 อัน อันหนึ่งสำหรับใส่มองระยะไกล ส่วนอีกอันสำหรับใส่อ่านหนังสือ
- เลนส์สองชั้น (Bifocals) ช่วยให้มองเห็นระยะใกล้และไกลได้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องเปลี่ยนไปใส่แว่นสายตาอีกอันเมื่อมองสิ่งที่อยู่ในระยะต่างกัน
- เลนส์หลายระยะ (Multifocals) ช่วยให้มองเห็นสิ่งของได้ในระยะต่าง ๆ ซึ่งปรับโฟกัสได้หลายระยะ
- ใส่คอนแทคเลนส์ ผู้ที่สายตาสั้นอาจเลือกใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อปรับค่าสายตาให้เป็นปกติ โดยการใส่คอนแทคเลนส์นั้นสะดวก เนื่องจากเลนส์มีน้ำหนักเบา คอนแทคเลนส์มีให้เลือกหลายแบบ ได้แก่ คอนแทคเลนส์แบบแข็งซึ่งมักเป็นแบบก๊าซผ่านได้ (Rigid Gas Permeable, RGP) คอนแทคเลนส์แบบนิ่ม คอนแทคเลนส์แบบใส่ติดต่อกันได้นาน คอนแทคเลนส์รายวัน แพทย์จะไม่แนะนำให้ใส่คอนแทคเลนส์ข้ามคืน เนื่องจากเสี่ยงติดเชื้อที่ดวงตาได้ ทั้งนี้ แพทย์อาจทำโอเคเลนส์ (Orthokeratology, OK Lens) โดยให้ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งข้ามคืน เพื่อปรับกระจกตาให้โค้งน้อยลง ผู้ที่สายตาสั้นจะมองเห็นได้ชัดขึ้นโดยไม่ต้องใส่คอนแทคเลนส์หรือสวมแว่นสายตาตลอดทั้งวัน อย่างไรก็ตาม การทำโอเคเลนส์ไม่ใช่วิธีรักษาสายตาสั้น เนื่องจากกระจกตาสามารถกลับไปโค้งได้เหมือนเดิม
- การผ่าตัด วิธีนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติ รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องสวมแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์ โดยแพทย์จะยิงเลเซอร์เพื่อปรับกระจกตา การผ่าตัดสำหรับปัญหาสายตานั้น จะทำได้เมื่อดวงตาโตเต็มที่ ซึ่งผู้ป่วยอายุครบ 20 ปี การผ่าตัดสำหรับรักษาสายตาสั้นประกอบด้วยเลสิก LASEK พีอาร์เค และฝังแก้วตาเทียม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- เลสิก (Laser-Assisted In-Situ Keratomileusis: Lasik) แพทย์จะทำให้กระจกตาบางลง และใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ (Excimer Laser) ทำให้กระจกตาแบนลง ทั้งนี้ เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ต่างจากเลเซอร์ชนิดอื่น เนื่องจากเลเซอร์ชนิดนี้ไม่ก่อให้เกิดความร้อน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะเข้ารับการทำเลสิกควรมีกระจกตาที่หนาพอสมควร เนื่องจากผู้ป่วยเสี่ยงได้รับผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้ในกรณีที่กระจกตาบางเกินไป
- LASEK (Laser-Assisted Subepithelial Keratectomy) แพทย์จะลอกเนื้อเยื่อบุผิวของกระจกตาที่อยู่ชั้นนอกสุดออกก่อน จากนั้นจะใช้เลเซอร์เอ็กไซเมอร์ขัดใต้ชั้นเยื่อบุผิวกระจกตา เพื่อให้ความโค้งของกระจกตาลดลง แล้วค่อยนำเนื้อเยื่อบุผิวที่ลอกออกไปกลับมาปิดไว้เหมือนเดิม ผู้ป่วยอาจต้องใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษ (Bandage Contact Lens) เป็นเวลาหลายวัน เพื่อให้บาดแผลที่ผ่าตัดสมานกัน
- พีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy: PRK) แพทย์จะลอกชั้นเยื่อบุผิวกระจกตาออกไป และยิงเลเซอร์เพื่อทำลายเนื้อเยื่อและเปลี่ยนรูปร่างของกระจกตา โดยเยื่อบุผิวของกระจกตาที่อยู่ชั้นนอกจะเจริญขึ้นมาใหม่เอง ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษประมาณ 2-3 วัน หลังเข้ารับการทำพีอาร์เค รวมทั้งใช้เวลาพักฟื้นหลายเดือนจนกว่าจะมองเห็นได้ปกติ
นอกจากนี้ แพทย์จะไม่ผ่าตัดแบบใช้เลเซอร์ให้แก่ผู้ป่วยในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างซึ่งเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการผ่าตัด ได้แก่ ป่วยเป็นเบาหวาน เนื่องจากดวงตาผู้ป่วยอาจเกิดความผิดปกติจากการได้รับแสงเลเซอร์ที่กระจกต ป่วยเป็นโรคที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันร่างกาย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ไม่ควรเข้ารับการผ่าตัดแบบใช้เลเซอร์ เนื่องจากปัญหาสุขภาพดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไม่ดีหลังเข้ารับการผ่าตัดแล้ว มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เกี่ยวกับดวงตา ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพอื่นที่เกี่ยวกับตา จะได้รับผลกระทบจากการผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยต้อหินอาจเกิดแรงดันในดวงตาเพิ่มขึ้น หรือผู้ป่วยต้อกระจกอาจเกิดแผ่นสีขุ่นที่เลนส์ตา กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมน ซึ่งส่งผลให้การมองเห็นของผู้ป่วยไม่คงที่ ทำให้ผ่าตัดตาได้ยาก
- ฝังเลนส์ตาเทียม (Intraocular Lens Implant: IOL) วิธีนี้จัดเป็นการผ่าตัดรักษาสายตาสั้นวิธีใหม่ โดยแพทย์จะผ่ากระจกตาเป็นรอยเล็ก ๆ และฝังแก้วตาเทียมเข้าไปในตาของผู้ป่วย แก้วตาเทียมจะช่วยให้แสงโฟกัสมาที่จอตาได้ชัดขึ้น ผู้ป่วยที่สายตาสั้นมาก หรือใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ไม่ได้จะได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ ทั้งนี้ การฝังแก้วตาเทียมมี 2 ประเภท ได้แก่ การใส่เลนส์เสริม และการใส่เลนส์แบบเข้าไปแทนที่ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- การใส่เลนส์เสริม (Phakic Implant) แพทย์จะใส่เลนส์ตาเทียมไปในลูกตาผู้ป่วย โดยไม่นำเลนส์ตาจริงออกไป วิธีนี้มักใช้รักษาเด็กที่มีการมองเห็นสำหรับอ่านหนังสืออยู่ในระดับปกติ โดยการใส่เลนส์เสริมจะช่วยปรับการมองเห็นในระยะยาวได้ดีกว่าการใส่เลนส์แบบเข้าไปแทนที่ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยก็เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่าเช่นกัน
- การใส่เลนส์แบบเข้าไปแทนที่ (Artificial Replacement) แพทย์จะนำเลนส์ตาจริงออกไป และใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ ซึ่งเหมือนกับการผ่าตัดต้อกระจก โดยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อายุมากและมีปัญหาสุขภาพสายตาที่ร้ายแรงกว่าสายตาสั้น เช่น ต้อกระจก หรือต้อหิน
ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีต่าง ๆ นี้ จะสามารถมองเห็นได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจไม่สามารถช่วยปรับสายตาให้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการสวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ ทั้งนี้ การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ก็ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง ได้แก่ ตาแห้ง เนื้อเยื่อกระจกตาลอกออกมากเกินไป (ส่งผลให้สายตายาว) มองเห็นในที่มืดได้ไม่ดี เห็นแสงจ้าในที่แจ้ง ส่วนผู้ที่ฝังเลนส์ตาเทียมก็เสี่ยงเกิดภาวะถุงหุ้มเลนส์เทียมขุ่น (Posterior Capsule Opacification: PCO) ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังเข้ารับการผ่าตัดไปแล้วประมาณ 2-3 เดือนหรือหลายปี รวมทั้งเสี่ยงเกิดภาวะกระจกตาลอก ต้อกระจก ต้อหิน เห็นแสงจ้า หรือมองเห็นในที่มืดได้ไม่ดี
ภาวะแทรกซ้อนของสายตาสั้น
ปัญหาสายตาสั้นก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับสุขภาพได้หลายประการ ดังนี้
- คุณภาพชีวิตลดลง ผู้ที่สายตาสั้นและไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อาจทำงานหรือเรียนหนังสือได้ไม่ดี เนื่องจากมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ไม่ชัด
- ตาล้า ผู้ที่สายตาสั้นอาจต้องเพ่งมองมากกว่าปกติ เพื่อให้มองสิ่งที่อยู่ระยะไกลได้ชัดขึ้น โดยการเพ่งมองเป็นเวลานานจะทำให้ตาล้าและอาจปวดศีรษะร่วมด้วย
- ก่อให้เกิดอันตรายอื่น ๆ ปัญหาสายตาสั้นเป็นอุปสรรคในการทำสิ่งต่าง ๆ และเสี่ยงทำให้ผู้ที่สายตาสั้นและผู้คนรอบข้างเกิดอันตรายได้ เช่น ผู้ที่ขับรถหรือควบคุมอุปกรณ์ในโรงงาน เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุหรือทำงานผิดพลาดได้ เนื่องจากมองเห็นระยะไกลไม่ชัด
- เกิดปัญหาสุขภาพสายตาอื่น ๆ ผู้ที่สายตาสั้นมากเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระจกตาลอก รวมทั้งเป็นต้อหิน หรือต้อกระจกได้สูง
การป้องกันสายตาสั้น
สายตาสั้นเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีป้องกันสายตาไม่ให้สั้นลงอย่างรวดเร็ว หรือเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้การมองเห็นแย่ลงได้บ้าง ดังนี้
- หมั่นตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ
- ควรดูแลตัวเองไม่ให้อาการป่วยกำเริบหรือแย่ลง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง เนื่องจากปัญหาสุขภาพบางอย่างส่งผลให้การมองเห็นแย่ลงในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
- สวมแว่นกันแดดทุกครั้งเมื่อออกไปข้างนอกที่มีแสงจ้า เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสียูวี
- ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาเมื่อเล่นกีฬา ตัดหญ้า ใช้ผลิตภัณฑ์เคมี หรือทำกิจกรรมที่ดวงตาเสี่ยงได้รับอันตรายได้ง่าย
- รับประทานผักใบเขียว ผลไม้ และปลาที่อุดมไปด้วยกรดโอเมก้า 3 เพื่อบำรุงดวงตา
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ส่งผลต่อสุขภาพตาและสุขภาพร่างกาย
- ควรใช้เลนส์ที่เหมาะกับค่าสายตาของตัวเอง โดยหมั่นวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้เลนส์สำหรับประกอบแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ที่ตรงกับค่าสายตาของตัวเอง และช่วยให้มองเห็นได้ปกติ
- ควรพักสายตาจากการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือเป็นระยะ ๆ เพื่อเลี่ยงอาการตาล้า
- ควรหมั่นสังเกตว่ามีอาการอื่น ๆ เช่น มองไม่เห็นกะทันหัน ตามัว เห็นแสงจ้า หรือจุดดำเกิดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของต้อหิน โรคหลอดเลือดในสมอง หรือภาวะกระจกตาลอก หากเกิดอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์ทันที