สารก่อภูมิแพ้ รู้ทันป้องกันได้

สารก่อภูมิแพ้ (Allergen) เป็นสารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ในร่างกายของผู้ที่ไวต่อสารนั้น สารก่อภูมิแพ้มีที่มาได้จากหลากหลายแหล่ง ทั้งในอากาศ อาหาร ยา หรือสารเคมีต่าง ๆ โดยทั่วไป อาการแพ้มักเกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้โดยตรง หรือมีอาการคัดจมูก จาม และเคืองตา ซึ่งอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันทั้งการเรียนและการทำงาน

โรคภูมิแพ้มักพบได้บ่อยในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็อาจมีอาการแพ้ได้เช่นกัน โดยทั่วไปมักมีอาการไม่รุนแรง แต่ในบางครั้งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การทราบสิ่งที่ตัวเองแพ้และหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นั้น ถือเป็นวิธีป้องกันการเกิดอาการแพ้ได้ดีที่สุด หากสงสัยว่าสารก่อภูมิแพ้มีอะไรบ้าง และจะรับมือเพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

สารก่อภูมิแพ้ รู้ทันป้องกันได้

สารก่อภูมิแพ้ทำให้เกิดอาการแพ้ได้อย่างไร?

โดยปกติแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะสร้างแอนติบอดี้ (Antibody) ขึ้นเพื่อกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย แต่เมื่อผู้ที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้สัมผัสหรือได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย แอนติบอดี้จะทำงานมากกว่าปกติเพื่อต่อต้านสารที่ได้รับ ส่งผลให้เกิดอาการแพ้ขึ้น โดยอาการแพ้และระดับความรุนแรงของแต่ละคนอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และความเข้มข้นของสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับ ซึ่งอาการแพ้มักพบได้บริเวณผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบย่อยอาหาร

อาการที่พบได้บ่อยของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม ตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล และผื่นแดงคันที่ผิวหนัง ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการแพ้ในวัยเด็กหรือวัยรุ่น และบางรายอาจค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่บางคนอาจกลับมามีอาการซ้ำในภายหลังได้ อาการในระยะแรกมักไม่รุนแรง แต่โรคภูมิแพ้อาจนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น โรคหืด (Asthma) หรือโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) ตามมาได้ 

ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลันหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ จะเรียกว่าแอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) ซึ่งทำให้เกิดผื่นแดงหรือลมพิษ เกิดอาการคันตามผิวหนัง ผิวหนังแดงหรือซีด แน่นหน้าอก หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย

ระดับความดันโลหิตลดต่ำลง วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือหมดสติ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะเป็นภาวะร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

ประเภทของสารก่อภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้มักเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติของการเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อนก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้สูงขึ้น อย่างไรก็ตามการได้รับสารก่อภูมิแพ้บางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน โดยสารก่อภูมิแพ้นั้นมีหลากหลาย แต่สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยมีดังนี้

สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ

สารก่อภูมิแพ้ที่มากับอากาศเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย มักทำให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม เคืองตา ตาแดง ไอ หรือหายใจลำบาก โดยอาจเกิดจากการได้รับสารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ไรฝุ่น เป็นแมงขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อาศัยอยู่ด้วยการกินรังแค เศษผิวหนังของมนุษย์ และเศษผิวของสัตว์เลี้ยงเป็นอาหาร พบมากในห้องนอน โดยเฉพาะหมอน ผ้าห่ม ผ้าม่าน และพรมที่มีความชื้นและความอบอุ่นที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไรฝุ่น
  • แมลงสาบ ทำให้เกิดอาการแพ้ได้คล้ายกับสัตว์เลี้ยง พบมากตามที่อยู่อาศัยในเขตเมือง โดยแมลงสาบสามารถปล่อยสารก่อภูมิแพ้จากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งโปรตีนในน้ำลายและสิ่งที่ขับถ่ายออกมา ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอาการแพ้ที่ระบบทางเดินหายใจ ยังอาจทำให้เกิดโรคหืดได้ โดยเฉพาะในเด็ก 
  • ละอองเกสรพืช เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจและโรคไข้ละอองฟาง (Hay Fever) เกิดจากการการหายใจหรือสูดเอาละอองเกสรพืชเข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ เกสรดอกไม้ ต้นไม้ หรือต้นหญ้าที่พัดมากับลม หรือมากับสัตว์ปีก อย่างแมลงและนก บางคนอาจมีอาการตลอดทั้งปี แต่บางคนอาจมีอาการเฉพาะช่วงที่มีลมแรงหรือฤดูที่ละอองเกสรฟุ้งกระจาย 
  • เชื้อรา เติบโตได้ดีในบริเวณที่มืด ชื้น หรืออับทึบ เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องนอน หรือตามต้นไม้ที่มีใบรกและหนาทึบ จะแพร่กระจายในอากาศได้โดยใช้สปอร์ (Spore) ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายเมื่อสูดดม
  • สัตว์เลี้ยง โดยทั่วไปการแพ้สัตว์เลี้ยงมักเกิดจากการแพ้โปรตีนบริเวณผิวหนัง น้ำลาย หรือปัสสาวะของสัตว์เลี้ยง อย่างสุนัขและแมว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ทั้งที่ระบบทางเดินหายใจและบนผิวหนัง

อาหาร

อาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้มีหลายชนิด แต่อาหารที่คนส่วนใหญ่แพ้ได้บ่อยมักเป็นไข่ นมวัว ถั่วชนิดต่าง ๆ อาหารทะเล และข้าวสาลี โดยอาการมักเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารที่แพ้ได้ไม่นาน อาการแพ้อาหารอาจพบได้ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงจนถึงขั้นเป็นอันตรายร้ายแรง ซึ่งขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของร่างกายต่ออาหารที่แพ้ เช่น คันผิวหนัง ปากหรือใบหน้าบวม คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ และแอแนฟิแล็กซิสที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

สารอื่น ๆ

สารก่อภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในชีวิตประจำวัน มีดังนี้

  • ยาง และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง เช่น ลูกโป่ง ถุงมือยาง ของเล่นเด็ก และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้บนผิวหนัง เช่น ผื่นคัน ผิวบวมแดง อาการของโรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) และปัญหาด้านการหายใจ อย่างแน่นหน้าอก ซึ่งเป็นอาการของโรคหืด ในกรณีที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะแอแนฟิแล็กซิสได้เช่นกัน
  • การถูกแมลงกัดต่อย อาการที่เกิดขึ้นหลังถูกแมลงทั่วไปกัด มักรู้สึกคันผิวหนัง หรือมีตุ่มขึ้นในบริเวณที่ถูกกัด แต่หากถูกแมลงมีพิษ อย่างผึ้ง ต่อ แตน หรือมดคันไฟกัด อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยอาจทำให้รู้สึกแสบคัน ปวด บวมบริเวณผิวหนัง และอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงในบางคน
  • สารเคมีในชีวิตประจำวัน เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด น้ำยาย้อมผม น้ำหอม สารกันเสีย และสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่พบในเครื่องสำอาง อาจทำให้เกิดอาการแพ้บนผิวหนัง เช่น ผิวแดง แสบ คัน ลอก หรือไหม้ได้หลังจากสัมผัสสารเคมีภายใน 1-2 วัน หรืออาจเริ่มมีอาการหลังเวลาผ่านไป 1-2 สัปดาห์
  • ยาบางชนิด เช่น ยาเพนนิซิลิน (Penicillin) ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยากันชัก (Anticonvulsant) หรือยาเคมีบำบัด อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ทั้งบนผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และเกิดภาวะแอแนฟิแล็กซิส หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ ผู้ที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้บางคนอาจมีอาการแพ้ข้ามกัน (Cross-Reactivity) เช่น ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ อาจมีอาการแพ้อาหารหรือผลไม้บางชนิดร่วมด้วย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันพบว่าทั้งสองสิ่งมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยโปรตีนคล้ายกัน 

รับมือกับสารก่อภูมิแพ้อย่างไรให้ได้ผล

หากยังไม่ทราบว่าตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสารที่แพ้ ด้วยวิธีการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง (Skin Test) เมื่อทราบผลว่าแพ้สารชนิดใด วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ซ้ำอีกได้ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้น 

วิธีการดังต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ได้

  • ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท โดยเฉพาะช่วงที่มีลมแรง เพื่อป้องกันฝุ่น ละอองเกสรพืช หรือแมลงต่าง ๆ ที่อาจบินเข้ามาในบ้าน
  • เลือกใช้ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนกันไรฝุ่น และซักทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำทุกสัปดาห์ด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส
  • หลีกเลี่ยงการวางพรมหรือตุ๊กตาไว้ในห้องนอน เนื่องจากอาจเป็นแหล่งสะสมฝุ่นได้ง่าย
  • ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของฝุ่น หรือเป็นที่อยู่ของแมลงต่าง ๆ โดยใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรองฝุ่นแทนการกวาดพื้น ป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย และใช้ผ้าชุบน้ำถูพื้นให้สะอาดเพื่อกำจัดไรฝุ่น 
  • ปิดฝาถังขยะให้มิดชิด นำขยะไปทิ้งให้เรียบร้อย ไม่ควรวางกองเสื้อผ้า เศษกระดาษ และเศษอาหารทิ้งไว้ เนื่องจากอาจเป็นแหล่งที่อยู่ของแมลงสาบได้
  • ตรวจดูก๊อกน้ำหรือท่อน้ำในบริเวณบ้าน หากมีน้ำรั่วซึมควรรีบซ่อมแซม เนื่องจากความชื้นอาจทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย
  • สวมเสื้อผ้าและรองเท้าให้มิดชิดเมื่อออกไปนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใส และไม่ใช้น้ำหอม หรือครีมทาผิวที่มีกลิ่นฉุน เพราะอาจทำให้แมลงบินเข้ามาใกล้
  • จัดที่นอนของสัตว์เลี้ยงแยกเป็นสัดส่วน และระวังไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้ามาในห้องนอน
  • หากแพ้อาหาร ควรอ่านฉลากอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนผสมของอาหารที่ตนเองแพ้
  • ในกรณีที่สงสัยว่าตนเองมีอาการแพ้ยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หากพบว่ามีอาการแพ้ยา แพทย์อาจแนะนำให้หยุดใช้ยาดังกล่าวที่ก่อให้เกิดอาการแพ้

ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่ช่วยรักษาอาการแพ้ เช่น ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ยาแก้คัดจมูก (Decongestants) เพื่อบรรเทาอาการแพ้อากาศ (allergic rhinitis) หรือยาหยอดเพื่อรักษาอาการอักเสบบริเวณดวงตา และยาสเตียรอยด์ในรูปแบบยาทาชนิดครีมหรือโลชั่น เพื่อบรรเทาอาการคัน และลดผื่นแดงจากการแพ้ 

หากดูแลตนเองด้วยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และใช้ยาแล้วยังไม่เห็นผลดีเท่าที่ควร แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่มีอาการแพ้รักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ช่วยปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น ๆ โดยแพทย์จะฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปปริมาณเล็กน้อย ทำให้ร่างกายค่อย ๆ คุ้นเคยกับสารนั้น แต่วิธีนี้มีข้อจำกัด เนื่องจากเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลเฉพาะในบางกรณีเท่านั้น เช่น ผู้ที่แพ้ฝุ่น ละอองเกสรพืช หรือแมลงกัดต่อย

หากมีอาการแพ้ที่ไม่รุนแรงและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยให้อาการแพ้ดีขึ้นได้ แต่อาการอาจเกิดขึ้นซ้ำได้อีกเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้ อาการแพ้อย่างรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการระมัดระวังในการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งถือเป็นวิธีป้องกันการเกิดอาการแพ้ได้ดีที่สุด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรง ควรแจ้งอาการของตัวเองกับบุคคลใกล้ชิด เตรียมเบอร์โทรศัพท์ในกรณีฉุกเฉิน และพกยาฉีดอิพิเนฟริน (Epinephrine) สำหรับฉีดรักษาด้วยตนเองหากอาการกำเริบ