สารพิษในบุหรี่ อันตรายที่ควรรู้

บุหรี่ทุกชนิดย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแม้จะสูบหรือรับควันบุหรี่เพียงเล็กน้อยก็ตาม เพราะบุหรี่ 1 มวน เต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายมากมาย และในควันบุหรี่ประกอบไปด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด อีกทั้งสารพิษในบุหรี่หลายชนิดยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย

ในความเป็นจริงแล้ว การสูบบุหรี่ก่อให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะแทบทุกส่วนในร่างกาย แถมยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังนับไม่ถ้วน แต่หลายคนไม่ได้สนใจถึงอันตรายของบุหรี่ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นมากเท่าที่ควร เรามาดูกันว่าสารเคมีอะไรที่พบได้ในบุหรี่ และเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างไรบ้าง

Chemicals in cigarettes

สารพิษในบุหรี่อะไรบ้าง

สารพิษในบุหรี่กว่า 7,000 ชนิดถูกปล่อยออกมาในรูปแบบของควันบุหรี่ และใน 7,000 กว่าชนิดนี้มีสารเคมีราว 70 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทั้งผู้ที่สูบและผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ โดยสารเคมีเหล่านี้อาจมาจากพืชที่ใช้เป็นส่วนประกอบของบุหรี่ หรืออาจเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการการผลิตบุหรี่

ตัวอย่างสารพิษในบุหรี่นั้น ได้แก่ นิโคติน แคดเมียม แอมโมเนีย ตะกั่ว  คาร์บอนมอนอกไซด์ เบนซีน แอโครลีน (Acrolein) ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen Cyanide) เอทิลีนออกไซด์ (Ethylene Oxide) และสารก่อมะเร็งกลุ่ม Tobacco-Specific Nitrosamines (TSNAs)

สารพิษในบุหรี่อันตรายต่อร่างกายอย่างไร

สารพิษในบุหรี่แต่ละชนิดจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแตกต่างกัน เช่น

นิโคติน

นิโคตินเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่อันตรายอย่างมาก ซึ่งสารพิษในบุหรี่ชนิดนี้จะกระตุ้นอะดรีนาลีน (Adrenaline) ในร่างกาย เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหัวใจ อัตราการเต้นของหัวในและความดันเลือดจนอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

อีกทั้งผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่อาจมีอาการถอนยาเป็นผลข้างเคียงได้ในภายหลัง โดยอาจมีอาการวิตกกังวล หงุดหงิด กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ปวดหัว เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นช้าลง น้ำหนักตัวเพิ่มหรืออยากอาหารมากขึ้น

คาร์บอนมอนอกไซด์

การได้รับสารพิษในบุหรี่อย่างคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ หายใจเร็ว และหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หากร่างกายได้รับสารนี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและสูญเสียการรับรู้ต่าง ๆ อาทิ การได้ยิน การมองเห็นและความรู้สึกตัว อีกทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ยังอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ด้วยเช่นกัน

แคดเมียม 

สารพิษในบุหรี่อย่างแคดเมียมเป็นสารเคมีชนิดโลหะหนักที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ตับ ไตและกระดูก เมื่อร่างกายได้รับสารแคดเมียมติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อโรคมากขึ้น เช่น ปอดอักเสบเฉียบพลันร่วมกับน้ำท่วมปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคนิ่วในไต ไตทำงานผิดปกติ หรือโรคกระดูกพรุน ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในทารกได้

แอมโมเนีย

แอมโมเนียเป็นสารพิษในบุหรี่ที่สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง การรับประทาน การสูดดม หรือทางดวงตา โดยหากเข้าสู่ร่างกายผ่านดวงตาโดยตรงในปริมาณมากก็อาจสูญเสียการมองเห็น ในขณะที่หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดเสียหาย หายใจลำบาก รวมถึงระบบทางเดินหายใจ หัวใจ และช่องท้องอาจได้รับความเสียหายจนเสียชีวิตในเวลาต่อมาได้

เบนซีน

เมื่อร่างกายได้รับเบนซีนในปริมาณมาก อาจทำให้เวียนหัว ง่วงซึม มึนงง ปวดหัว หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิวซีด แสบตา ตามัว อาเจียน ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ตัวสั่นหรือหมดสติ

หากได้รับสารพิษในบุหรี่ชนิดนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย การทำงานของไขกระดูกจนก่อให้เกิดโรคโลหิตจางหรือโรคมะเร็งบางชนิด และในผู้หญิงอาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติและรังไข่มีขนาดเล็กลง

เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษในบุหรี่เข้าสู่ร่างกายและลดกระทบต่อสุขภาพคนรอบข้าง คนที่สูบบุหรี่ควรเลิกสูบบุหรี่โดยเร็วที่สุด โดยอาจเริ่มจากการวางแผนเลิกบุหรี่อย่างเหมาะสม เช่น ใช้แผ่นแปะนิโคตินหรือเคี้ยวหมากฝรั่งนิโคตินเพื่อลดความต้องการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการสูบ ทำกิจกรรมที่ช่วยหันเหความสนใจจาการสูบ และหากไม่สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง อาจพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและการบำบัดที่เหมาะสม