สาเหตุของตะคริวที่ขา และวิธีรับมือ

ตะคริวที่ขาคือภาวะที่กล้ามเนื้อขาหดเกร็งและตึงเป็นก้อนแข็ง มักทำให้เกิดอาการเจ็บบริเวณน่องอย่างฉับพลัน และบางครั้งอาจเกิดที่ต้นขาและนิ้วเท้าด้วย ทำให้ไม่สามารถขยับขาได้ชั่วคราว โดยระยะเวลาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ตะคริวอาจเกิดขึ้นเพียงในกี่วินาทีแล้วหายไปหรือเกิดยาวนานหลายนาที และบางคนอาจรู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อนานถึง 24 ชั่วโมงแม้ตะคริวจะหายแล้วก็ตาม

ตะคริวที่ขาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น ขณะวิ่ง ขี่จักรยาน และการออกกำลังกายอื่น ๆ ที่ใช้งานกล้ามเนื้อมาก แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบ่อยขณะพักและเมื่อไม่ได้ขยับขาเป็นเวลานาน หลายคนจึงมักเป็นตะคริวในตอนกลางคืน แล้วตะคริวที่ขาเกิดจากอะไร และควรทำอย่างไรเมื่อเป็นตะคริว บทความนี้ได้รวบรวมเรื่องที่คุณอยากรู้เอาไว้แล้ว

สาเหตุของตะคริวที่ขา และวิธีรับมือ

สาเหตุของตะคริวที่ขา

ตะคริวที่ขามักเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ สันนิษฐานกันว่าการไม่ได้ขยับเขยื้อนขาเป็นเวลานานมีส่วนทำให้เกิดตะคริว โดยเฉพาะตอนนอนที่เรามักอยู่ในท่างอขาและปลายเท้าชี้ลงพื้น อาจทำให้กล้ามเนื้อน่องหดเกร็งจนเป็นตะคริวได้ 

นอกจากนี้ ตะคริวที่ขาอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้

การใช้งานกล้ามเนื้อขามากเกินไป

การทำงานหรือออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงขามากเกินไป เช่น การวิ่งเพื่อฝึกความเร็วของนักวิ่ง การบริหารกล้ามเนื้อบริเวณขา และการเล่นกีฬาที่ต้องใช้การวิ่งมาก อย่างบาสเกตบอลและฟุตบอล รวมทั้งการออกกำลังกายโดยไม่ได้อบอุ่นร่างกายก่อน อาจทำให้เกิดตะคริวและการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้

การขาดน้ำและแร่ธาตุ 

หากนักกีฬาที่ฝึกซ้อมในสภาพอากาศร้อนไม่ได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเสี่ยงต่อการเกิดตะคริวได้ง่าย รวมทั้งเกิดความไม่สมดุลแร่ธาตุในเลือด เช่น โซเดียมและโพแทสเซียม และการขาดแคลเซียมและแมกนีเซียมอาจมีส่วนทำให้เกิดตะคริว

การตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์มักเป็นตะคริวได้บ่อย โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ทารกเติบโตขึ้นทำให้ต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวคุณแม่เพิ่มขึ้น เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อขาไม่สะดวก ความเหนื่อยล้า การขาดแคลเซียมและแมกนีเซียม 

โรคประจำตัวและการใช้ยา

โรคประจำตัวบางโรคอาจทำให้เกิดตะคริวที่ขา เช่น พาร์กินสัน ภาวะขาดไทรอยด์ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคตับจากการดื่มสุรามากเกินไป ไตวายและผู้ที่ฟอกไต โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis) และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral Vascular Disease) 

รวมทัั้งผู้ป่วยมะเร็งที่นอนติดเตียง รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) บางชนิด ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) การฉายแสง และการใช้ยารักษามะเร็งอื่น ๆ 

นอกจากนี้ คนที่ใช้ยาลดไขมันในเลือดกลุ่มสแตติน (Statins) ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ยาซาลบูทามอล (Salbutamol) และยารักษาหอบหืดอื่น ๆ เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดตะคริวที่ขาเช่นกัน

ตะคริวที่ขารับมือและป้องกันได้อย่างไร

ตะคริวที่ขามักหายดีได้เองภายในเวลาไม่กี่นาที เมื่อเป็นตะคริวควรพักการใช้งานกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นตะคริว นวดคลึงบริเวณที่เป็นตะคริวเบา ๆ เพื่อคลายกล้ามเนื้อ ยืนกดปลายเท้ากับพื้นและงอเข่าเล็กน้อย หากไม่สามารถยืนได้ ให้นั่งบนพื้นหรือเก้าอี้แล้วค่อย ๆ เหยียดขาออกให้ตรงและกระดกปลายเท้าขึ้นโดยชี้นิ้วเท้าเข้าหาตัว จะช่วยบรรเทาอาการตะคริวที่ขาได้

หากมีอาการปวดและตึง สามารถใช้น้ำอุ่นหรือแผ่นประคบร้อนประคบบริเวณที่เป็นตะคริว และแช่น้ำอุ่นที่ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว หลังจากนั้นอาจลองประคบเย็นโดยใช้ผ้าขนหนูห่อน้ำแข็ง ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการปวดจากตะคริว และหากยังรู้สึกปวดหลังจากเป็นตะคริวสามารถรับประทานยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อลดอาการปวดได้

อีกทั้งการปรับพฤติกรรมอาจช่วยป้องกันการเกิดตะคริวที่ขาได้ เช่น

  • อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายด้วยการเดินหรือวิ่งเหยาะ ๆ และหลังจากออกกำลังกาย ควรยืดกล้ามเนื้อขาประมาณ 2–3 นาที 
  • ยืดกล้ามเนื้อขาก่อนนอน และออกกำลังกายเบา ๆ เช่น ขี่จักรยานอยู่กับที่ (Stationary Bicycle) ประมาณ 2–3 นาทีก่อนเข้านอน ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเป็นตะคริวขณะนอนหลับได้
  • คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรใช้หมอนรองระหว่างขาหรือใต้ขา และนอนตะแคงด้านซ้าย ในระหว่างวันควรบริหารขาบ่อย ๆ โดยยกขาขึ้นหรือเดินไปรอบ ๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการยืน นั่ง หรือนอนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างวัน จะช่วยลดการเป็นตะคริวที่ขาได้
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยควรดื่มน้ำให้ได้วันละประมาณ 8 แก้ว หรือ 1.5-2 ลิตรต่อวัน สำหรับคนที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เสียเหงื่อมาก ควรดื่มน้ำมากขึ้นในระหว่างวันเพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป นอกจากนี้ การดื่มน้ำขณะที่เป็นตะคริวที่ขาอาจช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว เพิ่มความชุ่มชื้นให้เซลล์กล้ามเนื้อ และลดการเกิดตะคริว
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีแมกนีเซียมและโพแทสเซียมสูง ซึ่งพบมากในผักใบเขียว กล้วย ส้ม แคนตาลูป ถั่วและธัญพืช เช่น เมล็ดฟักทอง อัลมอนด์ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์

ตะคริวที่ขามักไม่เป็นอันตรายและหายได้เองภายในเวลาไม่นาน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นตะคริวบ่อย รู้สึกเจ็บบริเวณที่เป็นตะคริวอย่างรุนแรง ผิวบริเวณดังกล่าวบวมแดง มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเป็นตะคริวโดยไม่ได้ทำกิจกรรมที่ใช้แรงขามาก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ เพราะตะคริวอาจเกิดจากโรคหรือความผิดปกติในร่างกายที่ควรได้รับการรักษา