ปวดท้องเมนเป็นอาการที่สาว ๆ ทุกคนคงรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นอาการที่ต้องเป็นประจำและมักก่อให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน บางคนอาจขาดเรียนหรือลางานกลางคัน แม้ว่าหลายคนคิดว่าเป็นแค่เรื่องธรรมดา แต่บางครั้งอาการปวดท้องเมนอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่เราคิด
โดยปกติแล้ว ผู้หญิงจะเสี่ยงต่อการปวดท้องเมนมากกว่าปกติหากอายุน้อยกว่า 30 ปี มีประจำเดือนครั้งแรกตอนอายุน้อย โดยอาจมีในช่วงอายุ 11 ปีหรือต่ำกว่านั้น เลือดประจำเดือนไหลออกมามากเกินไป ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ไม่เคยตั้งครรภ์ น้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ คนในครอบครัวมีประวัติเคยปวดท้องเมนมาก่อน รวมถึงดื่มแอลกฮอล์และสูบบุหรี่ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน
สาเหตุของปวดท้องเมน
ปวดท้องเมนเป็นอาการปวดท้องน้อยที่เกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกหรือเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อให้ร่างกายขับเนื้อเยื่อภายในมดลูกให้หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนตามปกติ แต่การบีบตัวของกล้ามเนื้อที่รุนแรงเกินไปในระหว่างการมีประจำเดือนอาจไปกดทับหลอดเลือดบริเวณใกล้เคียงจนขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงมดลูก จึงทำให้เกิดเป็นอาการปวดเกร็งตามมา นอกจากนี้ ร่างกายในช่วงที่มีประจำเดือนจะผลิตสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ที่เป็นสารก่อให้เกิดอาการปวดและอักเสบ อีกทั้งยังกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวมากขึ้นด้วย
อาการปวดท้องเมนของผู้หญิงแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่ปกติแล้วจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 วัน ก่อนมีประจำเดือนหรือวันแรก ๆ หลังมีประจำเดือน ซึ่งอาการอาจปวดมากหรือปวดน้อยก็ได้ โดยทั่วไปจะมีอาการปวดเมนนาน 12-72 ชั่วโมง บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือท้องเสียร่วมด้วย แต่หากเป็นอาการปวดท้องเมนที่ผิดปกติจะเกิดจากความผิดปกติของมดลูกหรือปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ โดยอาการมักแตกต่างไปตามโรคต้นเหตุ เช่น
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญอยู่นอกโพรงมดลูกพบมากที่บริเวณปีกมดลูก รังไข่ และเนื้อเยื่อเชิงกราน ภาวะนี้จะทำให้ผู้ป่วยปวดท้องเมนมาก โดยอาจปวดนานติดต่อกันกว่า 6 เดือน โดยอาการปวดอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงก่อนและในระหว่างการมีประจำเดือน อาจกินระยะเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ในแต่ละรอบเดือน ซึ่งในระยะยาวอาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยากได้ด้วย
กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS: Polycystic Ovary Syndrome)
PCOS เป็นความผิดปกติของระดับฮอร์โมนเพศชายอย่างแอนโดรเจนและฮอร์โมนอื่นๆ ในร่างกายผู้หญิง โดยเฉพาะในวัยเจริญพันธุ์ ทำให้เกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนมากในรังไข่ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีประจำเดือนที่ผิดปกติ เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันนานหลายเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมานาน เป็นต้น
เนื้องอกมดลูก
เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่จะเป็นเนื้องอกไม่อันตรายและไม่ค่อยพัฒนาไปเป็นมะเร็งมดลูก ลักษณะก้อนเนื้องอกจะมีขนาดเล็กใหญ่ต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน โดยจะพบในกลุ่มผู้หญิงอายุประมาณ 30-50 ปี ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา แต่บางรายอาจปวดท้องเมนอย่างรุนแรง มีประจำเดือนมามากและนานกว่า 1 สัปดาห์ด้วย
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญในกล้ามเนื้อมดลูก
เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญเติบโตในกล้ามเนื้อของผนังมดลูกจะทำให้ผนังมดลูกหนามากขึ้น มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น เกิดพังผืด และเกิดการอักเสบตามมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใด ๆ แต่ถ้าเยื่อบุเจริญเติบโตจนกินพื้นที่กล้ามเนื้อมดลูกเข้าไปมากอาจทำให้มีอาการปวดท้องเมนเป็นเวลานาน ประจำเดือนมามากและนานกว่าปกติ และอาจมีลิ่มเลือดปนมากับเลือดประจำเดือน
อุ้งเชิงกรานอักเสบ
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างหนองในหรือหนองในเทียม แม้อาการหลักจะเป็นการปวดที่อุ้งเชิงกราน แต่ก็ส่งผลให้ผู้ป่วยปวดท้องเมน มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด หรือตกขาวมีกลิ่นเหม็นด้วยได้
ปากมดลูกตีบ
ปากมดลูกที่เปิดออกเพียงเล็กน้อยอาจไปขัดขวางการไหลของเลือดประจำเดือน ทำให้เกิดแรงกดดันภายในมดลูกเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดอาการปวดท้องเมน ประจำเดือนมาไม่ปกติ และประจำเดือนมาน้อยได้
สำหรับผู้ที่มีอาการปวดท้องเมนไม่รุนแรงอาจรับประทานยาแก้ปวด อย่างยาไอบูโพรเฟนหรือยานาพรอกเซน โดยให้รับประทานทันทีที่มีอาการเกิดขึ้น ใช้แผ่นประคบร้อนหรือขวดน้ำร้อนประคบบริเวณหน้าท้อง ออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักให้สมส่วน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และงดการสูบบุหรี่
แต่หากการปวดท้องเมนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากจนเกินไป คาดว่าอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพในข้างต้น อาการแย่ลงเรื่อย ๆ หรือเริ่มมีอาการปวดอย่างรุนแรงหลังอายุ 25 ปี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาที่เหมาะสมเสียแต่เนิ่น ๆ