อาการคันจมูกเป็นอาการกวนใจที่มักตามมาด้วยอาการจาม น้ำมูกไหล และคัดจมูก บางครั้งอาจหายได้เองโดยใช้เวลาไม่นาน แต่บางครั้งอาจเป็นติดต่อกันจนทำให้รู้สึกหงุดหงิด แต่อาการคันจมูกสามารถบรรเทาได้หลายวิธีตามสาเหตุที่พบ
สาเหตุของอาการคันจมูกอาจเกิดได้จากการระคายเคือง สภาพอากาศ สภาพแวดล้อม และปัญหาสุขภาพ อย่างโรคภูมิแพ้ โรคหวัด และโรคอื่น ๆ ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมสาเหตุของอาการคันจมูก และวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวที่ทำได้ด้วยตนเองมาฝากกัน
สาเหตุของอาการคันจมูก
อาการคันจมูกเกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย เช่น
1. โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้
ผู้ที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) อาจพบอาการคันภายในโพรงจมูกได้บ่อย โรคนี้อาจเป็นที่รู้จักในชื่ออื่น อย่างแพ้อากาศหรือไข้ละอองฟาง บางคนอาจมีอาการคันจมูกจากโรคภูมิแพ้ตามฤดูกาล (Seasonal Allergy)
แต่บางคนอาจมีอาการดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน (Perennial Allergy) ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการก็มาจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้บางอย่างเข้าสู่ร่างกาย เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร เชื้อรา ขนและรังแคสัตว์เลี้ยง ควันบุหรี่ หรือสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละคน
กลไกที่ทำให้เกิดอาการคันจมูกอาจเกิดจากเนื้อเยื่อภายในจมูกดักจับสารก่อภูมิแพ้ได้ก่อนที่จะเข้าสู่ระบบภายใน เมื่อสมองรู้ว่าร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ก็จะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายสารเหล่านั้น ซึ่งเนื้อเยื่อในโพรงจมูกก็อาจได้รับความเสียหายจากการกำจัดเชื้อดังกล่าวด้วยจนทำให้เกิดอาการคันจมูกตามมา
อาการของโรคภูมิแพ้อาจดีขึ้นเองเมื่อเวลาผ่านไป ในกรณีที่รู้ว่าตนเองเคยมีอาการของโรคภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้วอาจใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) เพื่อช่วยบรรเทาอาการ แต่ยาแก้แพ้ไม่สามารถรักษาอาการคันจมูกที่เกิดจากเหตุอื่นได้ นอกจากนี้ หากทราบว่าตนเองมีอาการแพ้สารใดก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารชนิดนั้น
2. โรคหวัด
โรคหวัดหรือไข้หวัด (Common Cold) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบนและโพรงจมูกก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้ จึงอาจเป็นสาเหตุของอาการคันจมูกได้เช่นกัน อาการคันในโพรงจมูกจากโรคหวัดอาจเกิดเมื่อได้รับเชื้อโรคเข้าสู่โพรงจมูก
โดยร่างกายจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้กำจัดเชื้อโรคออกไปด้วยการจาม จึงทำให้มีอาการคันจมูก รวมทั้งร่างกายจะหลั่งของเหลวหรือน้ำมูกออกมา เพราะในน้ำมูกนั้นมีแอนติบอดีหรือสารภูมิคุ้มกันที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อโรค นอกจากอาการทางจมูกแล้วก็อาจมีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดหัว และเมื่อยตัวร่วมด้วย
โรคหวัดพบได้ทั่วไปแต่จะพบบ่อยขึ้นในช่วงหน้าหนาวและหน้าฝน โดยสามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง อย่างน้ำลายและน้ำมูก ฉะนั้น หากอยู่ในช่วงที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค จึงควรป้องกันการแพร่เชื้อและได้รับเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำ หลีกเลี่ยงจากใช้มือที่ไม่สะอาดมาสัมผัสบริเวณใบหน้า
โรคหวัดมักไม่รุนแรงและหายได้เอง หากมีอาการคันจมูกและน้ำมูกไหลอาจบรรเทาอาการได้โดยการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือหรือใช้ยาแก้หวัด ร่วมกับการดูแลตนเอง แต่หากอาการไม่ทุเลาในช่วง 7–10 วัน ควรไปพบแพทย์เพราะอาจติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่อาการรุนแรงกว่า โดยเฉพาะเมื่อเกิดในทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
3. ไซนัสอักเสบ
ไซนัสหรือโพรงไซนัสเป็นส่วนประกอบหนึ่งระบบทางเดินหายใจโดยอยู่ลึกเข้าไปในโพรงจมูก หากเกิดการติดเชื้อภายในโพรงไซนัสหรือที่เรียกกันว่าไซนัสอักเสบจะทำให้เกิดอาการคล้ายกับโรคหวัด อย่างคันจมูก จาม น้ำมูกไหล แต่อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดบริเวณกระบอกตา ปวดหัวคล้ายปวดไมเกรน ได้กลิ่นในจมูก และอ่อนเพลีย เป็นต้น
การอักเสบของไซนัสมีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ไซนัสอักเสบเฉียบพลันมักเป็นเพียงไม่กี่สัปดาห์ ส่วนชนิดเรื้อรังอาจมีอาการต่อเนื่องราว 12 สัปดาห์เลยทีเดียว
นอกจากนี้ คนที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดริดสีดวงจมูก (Nasal Polyp) ซึ่งมีลักษณะคล้ายติ่งเนื้ออยู่ภายในโพรงจมูกหรือโพรงไซนัส หากปล่อยไว้อาจทำให้ติ่งเนื้อขยายใหญ่ขึ้นจนทำให้โพรงจมูกระคายเคืองและมีอาการคันได้
เช่นเดียวกับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้เรื้อรังก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงจมูกได้ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นอาจใช้ยาแก้แพ้และยาลดน้ำมูกเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล อาการจาม ร่วมกับการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม
4. มลพิษทางอากาศ
มลพิษทางอากาศอาจปนเปื้อนไปด้วยสารพิษหลากหลายชนิด อย่างควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ น้ำหอม ฝุ่นละออง น้ำหอมปรับอากาศ และสารระคายเคืองอื่น ๆ เมื่อเราสูดดมสารเหล่านี้เข้าไปอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองภายในจมูกจนทำให้เกิดอาการคันจมูกและอาการอื่น ๆ ตามมา
โดยเฉพาะคนที่พักอาศัยในบริเวณที่การจราจรคับคั่ง ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม หรือทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ซึ่งอาจได้รับสารพิษทางอากาศและเสี่ยงต่ออาการดังกล่าวได้มากกว่าคนอื่น
นอกจากสารพิษแล้ว การสูดดมวัตถุที่มีลักษณะเป็นผงหรืออนุภาคขนาดเล็กก็อาจเป็นสาเหตุของอาการคันจมูกได้ เพราะร่างกายคิดว่าอนุภาคนั้นทำจะขวางการหายใจเลยกระตุ้นให้เกิดอาการคันจมูกเพื่อให้ร่างกายจามเอาอนุภาคนั้นออกมา
5. จมูกแห้ง
เมื่อโพรงจมูกแห้งอาจทำให้แสบและระคายเคืองภายในจมูกจนเกิดอาการคันจมูกได้ จมูกแห้งมักเกิดจากสั่งน้ำมูกบ่อยเกินไป การอยู่ในที่ที่อากาศแห้งและเย็น อย่างห้องแอร์หรือเมื่อเข้าสู่หน้าหนาว นอกจากนี้ อาการจมูกแห้งอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภทอย่างยาแก้แพ้และลดน้ำมูก
โดยทั่วไป อาการโพรงจมูกแห้งอาจบรรเทาได้ด้วยการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศแห้งและเย็น และสั่งน้ำมูกให้น้อยลง
6. ไมเกรน
คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าไมเกรนเป็นอาการปวดหัวข้างเดียว แต่จริง ๆ แล้วอาการปวดไมเกรนนั้นอาจมีอาการอื่นเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น ตาพร่า ตาไวต่อแสง น้ำมูกไหล คัดจมูก และคันจมูก เป็นต้น จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนที่เป็นไมเกรนแล้วมีอาการคันจมูกและน้ำมูกไหลตามมา ในเบื้องต้นอาการปวดไมเกรนอาจบรรเทาได้ด้วยการนอนพักผ่อนในห้องที่มืด เงียบ และเย็น หรือใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
การป้องกันอาการปวดไมเกรนอาจทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการโดนแสงจ้า อย่างแสงแดดหรือแสงจากจอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มคาเฟอีน และพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้ อาการปวดไมเกรนและปวดหัวจากไซนัสอักเสบอาจมีลักษณะคล้ายกัน แต่มีวิธีรักษาที่แตกต่างกันเนื่องจากเกิดจากคนละสาเหตุ จึงควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
นอกจากนี้ อาการคันจมูกอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากโรคและปัจจัยเหล่านี้ได้ เช่น เนื้องอกในโพรงจมูกหรือเป็นผลจากการใช้เครื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) ในผู้ที่นอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
อาการคันจมูกบรรเทาได้อย่างไร?
นอกจากรักษาตามสาเหตุ อาการคันจมูกอาจบรรเทาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
-
หยุดรบกวนจมูก
อาการคันจมูกอาจสร้างความหงุดหงิดได้ไม่น้อย หลายคนจึงรู้สึกอยากแคะ แกะ เกา หรือขยี้จมูกให้คัน แต่นั่นอาจทำให้จมูกระคายเคืองและมีอาการคันที่รุนแรงมากขึ้นได้ อีกทั้งนิ้วมือและเล็บมือมักเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคจากการสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ หรือไซนัสอักเสบ ดังนั้น จึงไม่ควรแคะ แกะ เกาขยี้โพรงจมูก และหมั่นล้างมือให้บ่อยขึ้น
-
สวมหน้ากากอนามัย
หน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพอาจช่วยป้องกันการได้รับเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ละอองสารคัดหลั่ง ฝุ่น สารเคมี สารก่อภูมิแพ้ และสารระคายเคือง การสวมหน้ากากอนามัยอาจช่วยป้องกันอาการคันจมูกหรือลดปริมาณการสูดเอาสารที่ทำให้เกิดความผิดปกติเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการคันจมูกได้
-
ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
น้ำเกลือมีฤทธิ์ในการลดการระคายเคือง ยับยั้งการเติบโตของเชื้อบางชนิด และช่วยชะล้างน้ำมูก สารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองออกมาจากจมูก หากใครมีอาการคันจมูกหรือป่วยด้วยปัญหาสุขภาพในข้างต้น การล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออาจช่วยได้ หากไม่ทราบวิธีการล้างจมูกควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
-
รักษาสุขภาพ
แม้ว่าอาการคันจมูกจะไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างเกิดขึ้น รวมถึงการละเลยการดูแลสุขภาพอาจมีส่วนกระตุ้นให้โรคประจำตัวรุนแรงขึ้น การรักษาสุขภาพด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด หรือวิธีต่าง ๆ อาจช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูและแข็งแรงขึ้น
สุดท้ายนี้ หากต้องการใช้ยาใด ๆ บรรเทาอาการ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้และใช้ยาตามคำแนะนำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือคุณแม่ที่กำลังตั้งและให้นมลูก ในกรณีที่พบว่าอาการคันจมูกเป็นติดต่อกันนานผิดปกติ ทั้งที่ทราบสาเหตุและไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง