โรคซึมเศร้าถือเป็นภาวะทางจิตใจที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก แต่หลายคนอาจไม่เคยทราบถึงสาเหตุของโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แม้ปัจจุบันจะมีวิธีรักษาโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุต่าง ๆ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าได้
โรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร ?
โรคซึมเศร้าหรือภาวะซึมเศร้า เป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ต่อเนื่องเป็นเวลานานที่อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเศร้า เสียใจ สิ้นหวัง โดดเดี่ยว หงุดหงิดง่าย หรือวิตกกังวล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น ขาดความสนใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน รู้สึกอ่อนแรง มีการเคลื่อนไหวหรือการพูดที่ช้ากว่าปกติ และส่งผลต่อการนอนหลับ เป็นต้น
โรคซึมเศร้าเกิดจากสาเหตุใด ?
การเกิดโรคซึมเศร้านั้นประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายและอาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันได้ โดยปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้ามีดังนี้
-
การทำงานของสมอง
โรคซึมเศร้าอาจเกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองและความไม่สมดุลของปริมาณสารสื่อประสาทในสมองบางชนิดอย่างเซโรโทนิน โดพามีน หรือนอร์พีพิน ซึ่งเป็นสารที่มีผลต่อความสุข โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีปริมาณสารเคมีในสมองมากหรือน้อยเกินไป
-
พันธุกรรม
เนื่องจากโรคซึมเศร้าอาจถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ดังนั้น ผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายีนที่มีผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้าคือยีนใด
-
บุคลิกภาพและลักษณะนิสัย
ในบางกรณี โรคซึมเศร้าอาจเกิดจากบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยของแต่ละคน โดยผู้ที่มีความมั่นใจในตัวเองต่ำ มองโลกในแง่ร้าย หรือผู้ที่ชอบตำหนิตัวเองอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ซึ่งลักษณะนิสัยดังกล่าวอาจเกิดจากพันธุกรรมที่ได้รับมาจากบิดามารดา ประสบการณ์ชีวิตของแต่ละบุคคล หรืออาจเกิดจากทั้งสองอย่าง -
เหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิต
โรคซึมเศร้าอาจเกิดจากการที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ตึงเครียดหรือกระทบกระเทือนจิตใจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ปัญหาทางการเงิน การบาดเจ็บ การถูกคุกคามทางเพศ การคลอดบุตร การหย่าร้าง การตกงาน และการเกษียณอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ เหตุการณ์ในด้านดีอย่างการเริ่มต้นงานใหม่ การสำเร็จการศึกษา และการแต่งงานก็อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน -
โรคหรือการเจ็บป่วย
การเจ็บป่วยด้วยโรคที่รุนแรงและเรื้อรังเป็นระยะเวลานานหรือโรคที่มีอันตรายถึงชีวิตอาจนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง อาการปวดเรื้อรัง ภาวะขาดไทรอยด์ การบาดเจ็บที่ศีรษะ เป็นต้น
-
การใช้ยาบางชนิด
ยาบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าได้ เช่น ยาไอโซเตรทติโนอิน ยาต้านไวรัสอินเตอร์เฟอรอน-แอลฟา ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยานอนหลับ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยารักษาความดันโลหิตสูง และยาในกลุ่มสแตติน เป็นต้น
นอกจากนี้ โรคซึมเศร้ายังอาจเกิดจากปัญหาอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การเกิดความขัดแย้งกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว ความเหงาหรือความโดดเดี่ยวทางสังคมที่อาจเกิดจากการแยกตัวจากครอบครัวหรือเพื่อนฝูง การดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติด เป็นต้น
โรคซึมเศร้ามีวิธีป้องกันอย่างไร ?
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคซึมเศร้าที่แน่นอน เนื่องจากอาจเกิดจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างการทำงานผิดปกติของสมองหรือปัจจัยทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปอาจป้องกันโรคซึมเศร้าได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด
- เรียนรู้วิธีรับมือเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเครียด รวมทั้งหาวิธีสร้างความมั่นใจให้กับตนเองอยู่เสมอ
- พูดคุยเปิดใจกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ยากลำบาก
- เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ และขอคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้ที่ให้บริการทางการแพทย์เมื่อพบว่ามีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น
- พิจารณาวิธีรักษาในระยะยาวเพื่อป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าขึ้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ หากพบว่าคุณหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการใด ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคซึมเศร้าเกิดขึ้น สามารถขอรับคำปรึกษาได้โดยโทรไปที่เบอร์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือรีบพาไปพบจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและเข้ารับการรักษาทันที เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจนำไปสู่การทำร้ายตนเอง การดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด รวมถึงการฆ่าตัวตายได้อีกด้วย