สิ่งที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควรรู้เมื่อต้องแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)

โดยปกติแล้ว ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แนวปฏิบัติคือให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานที่ที่รัฐจัดให้ เพื่อการดูแลที่ใกล้ชิดและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ แต่เนื่องจากตัวเลขยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยพุ่งขึ้นสูงจนโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดพื้นที่ได้เพียงพอ ทางโรงพยาบาลจึงอาจมีแนวโน้มพิจารณาให้ผู้ป่วยบางรายแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดยใช้ที่พักอาศัยส่วนตัวเป็นที่กักตัวแทน

การแยกตัวที่บ้านหรือ Home Isolation เป็นแนวทางที่แพทย์จะให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการและผ่านการคัดกรองจากแพทย์ว่าสามารถแยกกักตัวอยู่ในที่พักอาศัยของผู้ป่วย โดยจะมีการติดตามอาการผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ เพื่อช่วยลดปัญหาด้านพื้นที่ในโรงพยาบาลที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควรรู้เมื่อต้องแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)

เกณฑ์ในการพิจารณาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อการแยกกักตัวที่บ้านมีอะไรบ้าง

แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แยกกักตัวที่บ้าน หากผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ต่อไปนี้

  • อายุต่ำกว่า 60 ปี
  • ไม่มีอาการ (Asymptomatic cases)
  • สุขภาพร่างกายแข็งแรง
  • อาศัยอยู่คนเดียว หรือมีผู้ร่วมอาศัยไม่เกิน 1 คน
  • ไม่มีภาวะอ้วน โดยค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ต่ำกว่า 30 หรือน้ำหนักตัวต่ำกว่า 90 กิโลกรัม
  • ไม่ป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง โรคทางหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ 
  • ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ อย่างสถานที่พักอาศัยของผู้ป่วยมีห้องนอนหรือห้องน้ำที่สามารถใช้แยกกับผู้ร่วมอาศัยคนอื่นหรือไม่ ในบางกรณี แพทย์อาจเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยเพื่อตรวจหาความผิดปกติหรือความรุนแรงของการติดเชื้อร่วมด้วย

ข้อควรปฏิบัติขณะแยกกักตัวที่บ้าน

หลังจากที่แพทย์ยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแยกกักตัวบ้านได้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้านหรือที่พักอาศัยส่วนตัว และคอยติดตามอาการของผู้ป่วยผ่านระบบการสื่อสารต่าง ๆ วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 14 วัน รวมถึงแนะนำข้อควรปฏิบัติตัวขณะแยกกักตัวที่บ้าน เช่น

  • งดการออกนอกสถานที่พักอาศัย และงดให้บุคคลอื่นมาเยี่ยม โดยอาจฝากให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับส่งสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้แทน
  • รักษาระยะห่างระหว่างตัวเองและผู้ร่วมอาศัยอย่างน้อย 2 เมตร หรืออยู่เฉพาะในห้องส่วนตัวหรือพื้นที่ที่แยกไว้ โดยเฉพาะคนชราและเด็ก หากจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ควรเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทและหลีกเลี่ยงการเปิดเครื่องปรับอากาศ
  • แยกห้องน้ำจากผู้ร่วมอาศัย แต่หากไม่สามารถแยกได้ ผู้ป่วยควรใช้เป็นคนสุดท้ายและหมั่นทำความสะอาดเสมอ
  • แยกของใช้ส่วนตัวจากผู้ร่วมอาศัย เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ หรือผ้าขนหนู เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน
  • สวมใส่หน้ากากอนามัยเสมอหากต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่า หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะหลังสัมผัสข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกับผู้ร่วมอาศัย
  • แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู ผ้าห่ม และผ้าปูที่นอน
  • แยกทิ้งขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากร่างกาย อย่างเสมหะ หรือน้ำมูก ลงในถุง และเทน้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนประกอบของสารโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (Sodium Hypochlorite) ความเข้มข้น 0.05% ลงในถุงเพื่อฆ่าเชื้อก่อนปิดปากถุงให้สนิท

นอกจากนี้ ในระหว่างที่แยกกักตัว ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกมื้อ และคอยสังเกตอาการของตัวเองเสมอ หากมีอาการเล็กน้อย อย่างอาการไอ หรือไข้อ่อน ๆ ให้รับประทานยาแก้ไอ หรือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดไข้ 

แต่หากพบอาการบางอย่างที่รุนแรง ให้รีบติดต่อแพทย์ทันที เช่น หายใจลำบาก ไข้สูงลอย แน่นหรือเจ็บหน้าอก สับสน ผิวหนังและริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีม่วง เทา หรือซีด หรืออาการอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก เป็นต้น

สุดท้ายนี้ หลังจากที่แพทย์พิจารณาว่าผู้ป่วยสามารถหยุดแยกกักตัวที่บ้าน หรือสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้แล้ว ผู้ป่วยยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน รักษาระยะห่างระหว่างผู้อื่นประมาณ 6 ฟุตหรือ 2 ช่วงแขน หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่า หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่น

ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564