หกล้ม อุบัติเหตุที่ควรระวัง

หกล้ม เป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อย แม้ว่าโดยส่วนมากจะไม่ค่อยส่งผลอันตรายเท่าไรนัก แต่ก็มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บรุนแรงได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เสี่ยงหกล้มสูง อย่างไรก็ตาม หากทราบปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้หกล้มและมีแนวทางการป้องกันที่เหมาะสมจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุชนิดนี้ได้

หกล้ม

คนส่วนใหญ่มักมองข้ามอันตรายจากอุบัติเหตุเล็ก ๆ อย่างการหกล้ม โดยคิดว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่แท้จริงแล้วการหกล้มนั้นอาจส่งผลเสียในระยะสั้นและระยะยาวได้ เช่น กระดูกแตกหรือหัก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพ สูญเสียความมั่นใจจนมีปัญหาการเข้าสังคม หรือรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น

สาเหตุของการหกล้ม

ปัจจัยบางประการอาจทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อจำกัดของร่างกาย อายุที่มากขึ้น อาการเจ็บป่วย ผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งนี้ การหกล้มนำมาสู่อันตรายซึ่งส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ โดยมีสาเหตุหลัก ๆ ดังนี้

  • ปัญหาการทรงตัว และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปัญหาทางสายตา
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม ความดันโลหิตต่ำ การพักผ่อนน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการวิงเวียนและหมดสติได้
  • การใช้ยาที่มีผลข้างเคียงกับผู้ป่วย เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิต ยารักษาโรคหัวใจ ยาขับปัสสาวะ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากล่อมประสาท เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกหนึ่งโรคที่เป็นสาเหตุทำให้หกล้มได้ง่าย คือโรคกระดูกพรุน  ซึ่งเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง แต่มักพบในผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนนั้นส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูก

แม้ว่าผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากที่สุด แต่ผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมทั้งมีประวัติคนในครอบครัวเคยกระดูกสะโพกหักมาก่อน ล้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้มากกว่าคนทั่วไป

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก เช่น สภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย อาจทำให้เกิดการหกล้มได้ในทุกเพศทุกวัย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ มีดังนี้

  • พื้นเปียกหรือลื่นกว่าปกติ เช่น พื้นห้องน้ำ
  • แสงสว่างไม่เพียงพอ ทำให้มองไม่เห็นสิ่งกีดขวาง
  • พรมหรือผ้าเช็ดเท้าที่เหยียบแล้วลื่น
  • จัดวางของไม่เป็นระเบียบหรือแออัด ทำให้เดินไม่สะดวก
  • การรีบเร่งเข้าห้องน้ำจนเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการหกล้ม

แม้โดยส่วนใหญ่ การหกล้มจะไม่ส่งผลอันตรายมากนัก แต่บางครั้งอาจนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกสะโพกหัก ทำให้เกิดปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย ศีรษะได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจส่งผลให้สมองกระทบกระเทือน หรือในกรณีร้ายแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

เมื่อหกล้มควรทำอย่างไร ?

การหกล้มเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกหลังหกล้มคือการตั้งสติให้เร็วที่สุด ผู้ประสบเหตุควรหายใจเข้าออกช้า ๆ และไม่ควรขยับเขยื้อนร่างกายในทันทีจนกว่าจะหายตกใจ จากนั้นค่อย ๆ สำรวจว่ารู้สึกเจ็บที่ส่วนใดของร่างกายหรือไม่ และหลีกเลี่ยงการลุกขึ้นยืนทันที เพราะการลุกขึ้นผิดท่าหรือรวดเร็วเกินไป อาจทำให้อาการบาดเจ็บยิ่งรุนแรงขึ้น

หลังจากนั้น หากพิจารณาแล้วว่าตนเองลุกขึ้นได้โดยไม่ต้องได้รับการช่วยเหลือ ให้ผู้ประสบเหตุค่อย ๆ พลิกตัวไปด้านข้างแล้วหยุดพักสักครู่ จากนั้นค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นท่าคลาน คลานไปยังเก้าอี้ที่แข็งแรงพอจะช่วยพยุงตัวลุกขึ้น หากรู้สึกเหนื่อยให้พักสักครู่ ก่อนจะค่อย ๆ ลุกขึ้น โดยเริ่มจากการวางมือบนที่นั่งเก้าอี้ เลื่อนเท้าไปด้านหน้าข้างหนึ่งและวางเท้าให้ราบไปกับพื้น ให้เข่าอีกข้างยังงออยู่กับพื้น แล้วจึงพยุงตัวลุกยืนและพลิกตัวขึ้นนั่งบนเก้าอี้ช้า ๆ นั่งพักจนกว่าอาการจะดีขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประสบเหตุควรเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายด้วยการห่มผ้าหรือสวมชุดคลุมร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณขาและเท้า พยายามอยู่ในท่าทางที่รู้สึกสบายที่สุด และควรเปลี่ยนท่าทางอย่างน้อยทุก ๆ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายขยับเขยื้อนได้สะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หากมีอาการบาดเจ็บหรือลุกขึ้นเองไม่ได้ ควรขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด หากอยู่เพียงลำพังในระหว่างรอความช่วยเหลือ ควรปรับเปลี่ยนท่าทางให้สบายที่สุด จนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความรู้สึกเจ็บ

วิธีป้องกันการหกล้ม

การหกล้มนั้นเป็นอุบัติเหตุ จึงยากจะคาดเดาว่าเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไรก็ตาม พอจะมีวิธีลดความเสี่ยงได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายต่าง ๆ เพียงเพราะกลัวหกล้ม เนื่องจากจะยิ่งเสี่ยงหกล้มมากกว่าเดิม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แนะนำเกี่ยวกับวิธีออกกำลังกายที่ช่วยเสริมความแข็งแรงและฝึกการทรงตัวอย่างเหมาะสม เช่น การเดิน การเต้นรำ การฝึกไทชิ หรือโปรแกรมการฝึกแบบพิเศษ

เนื่องจากสภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการหกล้มได้ ดังนั้น ควรหันมาปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น เช่น

  • จัดเก็บสิ่งของต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ รวมถึงสายไฟและสายโทรศัพท์ให้เรียบร้อย ไม่ให้กีดขวางทางเดิน
  • เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ออกจากบริเวณที่เดินผ่านบ่อย ๆ หรือเสี่ยงหกล้มได้ง่าย
  • ติดเทปกันลื่นบริเวณที่เสี่ยงลื่นล้ม และติดเทปกาวสองหน้าใต้พรม เพื่อป้องกันพรมเคลื่อนขณะเหยียบ
  • ซ่อมแซมพื้นบ้านที่ชำรุด ป้องกันการสะดุดหกล้ม
  • เก็บข้าวของเครื่องใช้หรืออาหารไว้ในที่ที่ง่ายต่อการหยิบ
  • หากมีน้ำหรืออาหารหกบนพื้น ควรรีบทำความสะอาดโดยเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เผลอเหยียบและลื่นล้ม
  • ปูพื้นห้องน้ำด้วยกระเบื้องกันลื่น หรือใช้เก้าอี้ขณะอาบน้ำ

นอกจากนี้ ควรปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในบ้านและนอกบ้านให้สว่าง สะดวกต่อการเดิน และควรติดสวิตช์ไฟในบริเวณที่ง่ายต่อการเปิดปิด อีกทั้งควรเก็บไฟฉายไว้ในที่ที่หยิบง่าย เผื่อในกรณีไฟดับ

สำหรับผู้สูงอายุ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดิน รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ เพื่อป้องกันการหกล้ม อาทิ

  • ราวบันไดสำหรับจับขณะขึ้นลงบันได
  • การติดเทปกันลื่นที่บริเวณขอบบันไดแต่ละขั้น
  • ราวจับหรือที่เท้าแขนภายในห้องน้ำ
  • เก้าอี้พลาสติกที่แข็งแรง สำหรับนั่งอาบน้ำในห้องน้ำ

ส่วนผู้ที่ต้องใช้ยารักษาโรคระยะยาวซึ่งอาจส่งผลให้เสี่ยงหกล้ม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยา โดยแพทย์จะตรวจสอบยาที่ผู้ป่วยใช้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับยาที่เหมาะสม ทั้งนี้ หากพบว่ามียาตัวใดที่ส่งผลข้างเคียง แพทย์อาจปรับเปลี่ยนปริมาณยาเพื่อลดความเสี่ยง หรืออาจต้องหยุดใช้ยาดังกล่าวและเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นแทน

ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนอาจต้องรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมหรือวิตามินดี เพื่อช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง เพราะผู้ป่วยโรคนี้จะเสี่ยงได้รับบาดเจ็บร้ายแรง แม้เกิดการหกล้มเพียงเล็กน้อยส่วนผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น ควรรีบพบจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายตา เพื่อตรวจตาหรือวัดสายตาใหม่

นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้เสี่ยงหกล้มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือหากเลิกดื่มไม่ได้ ควรดื่มในปริมาณพอเหมาะเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงหกล้มและโรคกระดูกพรุนไปพร้อมกัน ๆ