หนองในคอ (Peritonsillar Abscess) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคอหรือคอหอย ซึ่งอยู่ใกล้กับต่อมทอนซิลด้านหลังของลำคอ ทำให้ภานในช่องคอมีอาการบวมแดงร่วมกับมีหนอง และหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ อาทิ ระบบทางเดินหายใจถูกอุดกั้น การติดเชื้อที่ขากรรไกร คอ หน้าอก หรือในกระแสเลือด ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวบางประการ
ส่วนใหญ่แล้ว หนองในคอเป็นภาวะแทรกซ้อนของทอนซิลอักเสบจากแบคทีเรีย เพราะการติดเชื้อลุกลามจากบริเวณต่อมทอนซิลไปยังบริเวณโดยรอบอาจก่อให้เกิดหนองตามมา โดยเชื้อโรคต้นเหตุมักเป็นเชื้อชนิดเดียวกับเชื้อที่ก่อให้เกิดคออักเสบ อย่างเชื้อแบคทีเรียสเตรปโทค็อคคัส (Streptococcus)
นอกจากนี้ การเกิดหนองในคอยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาคออักเสบหรือทอนซิลอักเสบ โรคปริทันต์อักเสบหรือเหงือกอักเสบ โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Mononucleosis) นิ่วทอนซิล มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมโฟไซติก (Chronic Lymphocytic Leukemia: CLL) และการสูบบุหรี่ เป็นต้น
หนองในคอ กับอาการที่ควรสังเกต
อาการเริ่มต้นของหนองในคอนั้นคล้ายคลึงกับอาการของทอนซิลอักเสบและคออักเสบ โดยสัญญาณแรกจะเป็นอาการเจ็บคอ และอาจมองเห็นตุ่มหนองสีขาวบริเวณหลังคอ จากนั้นผู้ป่วยอาจสังเกตความผิดปกติต่อเนื่องได้จากอาการต่อไปนี้
- มีอาการบวมแดงภายในปากและช่องคอ โดยอาจเป็นข้างใดข้างหนึ่ง
- ต่อมทอนซิลต่อมใดต่อมหนึ่งหรือทั้งสองต่อมบวมแดง
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอและขากรรไกรบวมโต หากกดจะรู้สึกเจ็บ
- เจ็บหูข้างเดียวกับที่มีหนอง
- ใบหน้าหรือคอบวม
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- พูดเสียงอู้อี้ เหมือนอมอะไรไว้ในปาก
- ปิดปากหรืออ้าปากได้ไม่สุด คอเอียง
- กลืนแล้วเจ็บหรือกลืนสิ่งต่าง ๆ ได้ลำบาก
- น้ำลายไหลออกมาหรือกลืนน้ำลายลำบาก
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อาการของหนองในคออาจคล้ายคลึงกับอาการของปัญหาสุขภาพอื่น ผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายเป็นหนองในคอ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะจะช่วยให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและหายได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเจ็บคอร่วมกับมีปัญหาในการหายใจหรือการกลืน พูดลำบาก น้ำลายไหล สัญญาณของระบบทางเดินหายใจอุดตัน อาการเจ็บหน้าอก มีไข้สูง หรืออาการหนองในคอที่เป็นอยู่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
โดยในการรักษาเบื้องต้น แพทย์มักให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วย และอาจผ่าตัดระบายหนองหรือดูดหนองออกด้วยเข็มฉีดยา เพื่อช่วยให้หายได้เร็วยิ่งขึ้น ในกรณีที่ต่อมทอนซิลอักเสบหรือคออักเสบเรื้อรังเป็นเหตุให้เกิดหนองในคอซ้ำ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดต่อมทอนซิลออกไปเลย
แม้จะไม่มีวิธีป้องกันหนองในคอโดยตรง แต่สามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้หลากหลายวิธี เช่น ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ แต่ใช้ตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด หมั่นดูแลความสะอาดของช่องปากและฟันอยู่เสมอ ไม่สูบบุหรี่ และหากมีอาการเข่าข่ายการติดเชื้อภายในช่องปาก ทอนซิลอักเสบ หรือคออักเสบก็ควรดูแลรักษาให้หายโดยเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาภายหลัง