ความหมาย หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งเป็นท่อที่นำลมหรืออากาศเข้าสู่ปอด มีผลทำให้เยื่อบุหลอดลมบวม และมีเสมหะที่หลอดลม นำมาสู่อาการทางระบบหายใจต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่จะมีการพัฒนามาจากโรคไข้หวัด หรือการติดเชื้อที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ
โรคหลอดลมอักเสบเกิดขึ้นได้ 2 ชนิด โดยที่พบทั่วไปจะเป็นโรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน และโรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ซึ่งเป็นกรณีที่รุนแรงกว่า
อาการของหลอดลมอักเสบ
อาการมักเริ่มต้นด้วยการเป็นหวัด ครั่นเนื้อครั่นตัว มีน้ำมูก แสบคอ หากเริ่มรู้สึกแน่นหน้าอกพร้อมกับมีเสมหะในคอ และมีอาการไอ นั่นอาจเป็นอาการที่แสดงของโรคหลอดลมอักเสบในเบื้องต้น
หลอดลมอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง มีอาการที่สำคัญดังนี้
- ไอเป็นอาการที่สำคัญที่สุดของโรคนี้ บางครั้งอาจเจ็บหน้าอกขณะที่ไอ
- มีเสมหะ มีทั้งแบบไม่มีสี อาจมีสีเหลือง หรือเขียว บางรายอาจมีเลือดปนอยู่ด้วย แต่จะพบได้น้อย
- แสบคอ หรืออาการเจ็บคอร่วมอยู่ด้วย
- หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด หรือมีอาการแน่นหน้าอก
- ไข้ มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวก่อน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีไข้ หรือไม่มีไข้ก็ได้
ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจมีอาการไอต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ถึงแม้ว่าการติดเชื้อจะหายแล้ว สำหรับผู้ป่วยหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง จะมีอาการไออย่างรุนแรงอย่างน้อยปีละ 3 เดือน ติดต่อกัน 2 ปี ขึ้นไป ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรังจะมีระยะที่มีอาการแย่ลง โดยอาจเริ่มมาจากหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันก่อน
สาเหตุของหลอดลมอักเสบ
โรคหลอดลมอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากแบคทีเรียและไวรัส แต่โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุ ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) อะดิโนไวรัส (Adenovirus) ไรโนไวรัส (Rhinovirus) เป็นต้น บางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ไมโคพลาสมา (Mycoplasma) หรือคลาไมเดีย (Chlamydia)
อีกปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดลมอักเสบ คือ การสูบบุหรี่ หรือผู้ต้องอยู่กับคนที่สูบบุหรี่บ่อย ๆ รวมไปถึงมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น ก๊าซพิษต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมที่ต้องพบในชีวิตประจำวัน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเป็นโรคได้
การวินัจฉัยหลอดลมอักเสบ
การวินิจฉัยในผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการในช่วงวันแรก ๆ นั้นจะแยกแยะลักษณะอาการได้ยาก เนื่องจากโรคหลอดลมอักเสบในระยะแรกจะมีอาการคล้ายหรือเหมือนกับอาการของไข้หวัด ในระหว่างการตรวจร่างกาย แพทย์จะใช้อุปกรณ์หูฟัง (Stethoscope) ฟังปอดจากการหายใจของผู้ป่วย และเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำมากขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังนี้
- เอกซเรย์หน้าอก จะช่วยให้สามารถระบุโรคได้ง่ายขึ้นหากผู้ป่วยเป็นปอดอักเสบ หรือทำให้ทราบถึงอาการเจ็บป่วยอื่น
- ตรวจการทำงานของปอด แพทย์จะให้เป่าเครื่องสำหรับวัดอัตราการหายใจที่ปอดสามารถรับได้ และความเร็วในขณะที่อากาศออกจากปอด การตรวจชนิดนี้จะทำให้สามารถตรวจหาอาการของโรคหอบหืด และอาการผิดปกติเรื้อรังของปอด
- ตรวจเสมหะหรือเพาะเชื้อจากเสมหะสำหรับผูู้ป่วยที่มีอาการไอและมีเสมหะ จะช่วยให้แพทย์สามารถวินัจฉัยหาสาเหตุและสามารถให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคได้
การรักษาหลอดลมอักเสบ
โดยทั่วไปหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันสามารถหายเองได้ในเวลาอันสั้น ผู้ป่วยต้องดูแลรักษาตัวเองอย่างเหมาะสม เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลง ได้แก่ ความเครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือต้องสัมผัสอากาศที่เย็นมาก ๆ ระมัดระวังคนรอบข้างที่เป็นโรคซึ่งอาจแพร่เชื้อให้ได้
ที่สำคัญในผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควัน ฝุ่น สารเคมี และสารระคายเคืองต่างๆ รวมไปถึงการป้องกันอื่น ๆ เช่น หมั่นล้างมือให้สะอาดอยูู่เสมอ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วยเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายรับการรักษาเพิ่มเติม ได้แก่
ยาแก้ไอ
อาการไอเป็นอาการหลักของโรคหลอดลมอักเสบ ซึ่งอาจบรรเทาได้ด้วยยากลุ่มกดอาการไอ (Antitussives) และยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) บางรายที่มีเสมหะร่วมด้วยอาจใช้ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะ
ยาปฏิชีวนะ
หลอดลมอักเสบมักมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งยาปฏิชีวนะจะรักษาไม่ได้ผลดีนัก อย่างไรก็ตาม แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในรายที่เป็นหลอดลมอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
ยาอื่น ๆ
หากผู้ป่วยเป็นภูมิแพ้ โรคหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาพ่นเข้าปอด หรือการรักษาโดยใช้ยาอื่น ๆ ที่ช่วยลดการติดเชื้อ
ในบางรายอาจมีอาการของหลอดลมอักเสบอยู่นาน หากมีอาการนานอย่างน้อยปีละ 3 เดือน ติดต่อกัน 2 ปี จะทำให้กลายเป็น หลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง
ภาวะแทรกซ้อนของหลอดลมอักเสบ
ภาวะแทรกซ้อนมักจะเกิดมากจากการรักษาที่ไม่ถูกต้องจากการติดเชื้อของหลอดลมจนลามไปที่ปอด ซึ่งมีผลทำให้เกิดปอดอักเสบ (Pneumonia) ได้ หากปล่อยเอาไว้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและผู้ป่วยปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้อาการแย่ลงจากเป็นหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรังได้ หรือในกรณีที่เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีกอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองได้
นอกจากนั้นการเกิดซ้ำของโรคหลอดลมอักเสบในช่วงระยะเวลาเพียงสั้น ๆ อาจนำไปสู่การเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้อีกด้วย โดยโรคนี้เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย อาจค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมากจะทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยแม้กระทั่งอยู่เฉย ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้สภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลงด้วย
วิธีป้องกันหลอดลมอักเสบ
การดูแลรักษาร่างกายให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ห่างไกลโรคได้อย่างแท้จริง เช่น หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเน้นการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและหายใจเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น วิ่ง เดินเร็ว หรือว่ายน้ำ เป็นต้น