คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นเกราะป้องกันโรคที่ทุกคนควรพกติดตัวไว้ เพราะเวลาเร่งด่วนหรือยามที่ไม่สะดวกในการล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด แอลกอฮอล์ขวดจิ๋วจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคบางชนิดและเพิ่มความมั่นใจในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี
แม้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเหมาะสมจะช่วยลดปริมาณเชื้อก่อโรคอย่างโรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคซาร์ส (SARS) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่แอลกอฮอล์ล้างมือก็มีข้อจำกัดและข้อควรระวังที่ควรทราบก่อนการเลือกซื้อ บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาศึกษาในเรื่องนี้ เพื่อให้ได้แอลกอฮอล์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อสุขภาพมากที่สุด
สิ่งที่ควรรู้ก่อนการเลือกซื้อแอลกอฮอล์ล้างมือ
ด้วยความที่หลายคนต้องใช้แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นประจำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแอลกอฮอล์ที่ใช้อยู่มีประสิทธิภาพและช่วยลดเชื้อโรคได้ ผู้ใช้ควรพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน อาทิ
ส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ล้างมือ
โดยทั่วไป แอลกอฮอล์ที่นิยมนำมาใช้ฆ่าเชื้อโรคมีด้วยกันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) หรือเอทานอล (Ethanol) ที่เป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์จากกระบวนการหมักพืชผลทางการเกษตร และไอโซโพพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl Alcohol) หรือไอโซโพพานอล (Isopropanol) ที่เป็นผลผลิตจากกระบวนการทางปิโตรเคมี โดยทั้งแอลกอฮอล์ 2 ชนิดจะมีลักษณะเป็นของเหลวสีใส สามารถระเหยได้ง่าย
ทั้งนี้ ผู้ใช้บางส่วนอาจสับสนหรือจำสลับกับเมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) หรือเมทานอล (Methanol) ที่เป็นแอลกอฮอล์ชนิดเป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการมากน้อยแตกต่างกันไปตามปริมาณที่ใช้กับผิวหนัง อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดศีรษะ หากเผลอดื่มเมทานอลอาจทำให้ผู้ใช้ตาบอด ชัก ระบบประสาทถูกทำลาย หรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากพบการจำหน่ายแอลกอฮอล์ล้างมือที่มีส่วนผสมของเมทานอล ไม่ควรซื้อมาใช้โดยเด็ดขาด
นอกเหนือจากส่วนผสมหลักอย่างแอลกอฮอล์แล้ว หลายยี่ห้อก็มีส่วนผสมอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไป เพื่อประโยชน์ในการใช้งานแตกต่างกันไป โดยส่วนมากมักจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหรือกลิ่นหอมที่ตรงใจผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น กลีเซอรอล (Glycerol) น้ำเย็นที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคหรือต้มมาแล้ว เจลว่านหางจระเข้ หรือน้ำมันหอมระเหยต่าง ๆ อย่างทีทรีออยล์หรือลาเวนเดอร์ออยล์
ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ล้างมือ
หลายงานวิจัยแนะนำว่า แอลกอฮอล์ล้างมือที่มีประสิทธิภาพควรมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์อยู่ที่ 60–95 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาตร (Volume by Volume: v/v) เพราะหากมีความเข้มข้นต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ อาจทำให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อลดลง โดยทำได้เพียงลดปริมาณของเชื้อโรค แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ผู้ใช้จึงควรอ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ก่อนการเลือกซื้อเสมอ
ทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้กำหนดให้การผลิต นำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์ล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในท้องตลาดต้องมีความเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโดยเฉพาะโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น
ประสิทธิภาพในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค
แม้จะใช้แอลกอฮอล์ล้างมือบ่อยครั้ง บางคนอาจไม่รู้ว่า ผลิตภัณฑ์นี้ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม โดยเฉพาะเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) เชื้อคริพโตสปอริเดียม (Cryptosporidium) และเชื้อแบคทีเรียคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile) แต่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัสบางชนิดได้หากใช้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเหมาะสม เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสโคโรนา เชื้อไวรัสโรต้า และเชื้อก่อโรคเริม เป็นต้น
นอกจากนั้น แอลกอฮอล์ล้างมือยังไม่ตอบโจทย์สำหรับมือที่เลอะคราบสกปรก มันเยิ้มไปด้วยน้ำมัน หรือเปื้อนสารเคมีอันตรายอย่างยากำจัดศัตรูพืชและโลหะหนักได้ ผู้ใช้จึงต้องไม่ลืมล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่แทนทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของการได้รับเชื้อโรคหรือสารบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย
ข้อควรระวังในการใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ
ความระมัดระวังในการใช้แอลกอฮอล์ล้างมือถือเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ควรตระหนักไว้เสมอ เพราะหากมีความประมาท ไม่รอบคอบก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายและทรัพย์สินได้ โดยหลักสำคัญของการใช้แอลกอฮอล์ล้างมืออย่างปลอดภัยจะมีดังนี้
- แอลกอฮอล์ล้างมือสามารถติดไฟได้ง่าย จึงไม่ควรวางหรือใช้ใกล้เปลวไฟหรือความร้อนสูง โดยควรเก็บให้ห่างจากแสงแดดหรืออากาศที่ร้อนจัด และเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน
- การใช้แอลกอฮอล์ล้างมือบ่อยครั้งอาจทำให้ผิวหนังแห้ง แตก ระคายเคือง ขาดความชุ่มชื้น ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น จึงควรทาโลชั่นหรือครีมบำรุงฝ่ามือร่วมด้วย
- แอลกอฮอล์ล้างมือส่วนใหญ่จะเก็บได้นาน 2–3 ปี ซึ่งแม้จะหมดอายุไปแล้วก็มักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคและทำความสะอาดอาจลดลง ผู้ใช้จึงควรตรวจดูวันที่ผลิตและวันหมดอายุก่อนการซื้อใช้เสมอ
- เด็กเล็กควรใช้แอลกอฮอล์ล้างมือภายใต้การดูของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด โดยควรระวังไม่ให้เด็กกลืนแอลกอฮอล์ล้างมือในปริมาณมาก เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
- ปกติแล้วเอทานอลปลอดภัยต่อร่างกาย แต่หากกลืนเอทานอลในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ส่วนการกลืนไอโซโพพานอลอาจส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือด ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหายใจ และเกิดภาวะช็อคได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมอื่น ๆ ในแอลกอฮอล์ล้างมือที่หากกลืนเข้าไปแล้วอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นกัน
แม้แอลกอฮอล์ล้างมือจะเป็นเกราะป้องกันสุขภาพที่พกพาได้สะดวกสบายและหยิบใช้ได้ง่าย แต่การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก็ยังเป็นวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและควรปฏิบัติจนเป็นกิจวัตร โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้ออย่างโรคโควิด-19 เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ฝ่ามือและมือของเราปราศจากเชื้อโรคอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม หากใช้แอลกอฮอล์ล้างมือในรูปแบบต่าง ๆ แล้วมีอาการแพ้ส่วนผสมของแอลกอฮอล์ล้างมือ เช่น ผิวแห้งแตก เป็นขุย มีผื่นแดง คัน หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทันที ในกรณีที่มีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์โดยด่วน