หอมแดง วัตถุดิบคู่ครัวกับประโยชน์ต่อสุขภาพ

หอมแดงเป็นวัตถุดิบที่มีสีสันและกลิ่นหอมฉุนเฉพาะตัว แม้ว่าหอมแดงจะไม่ใช่ส่วนประกอบหลักในอาหารไทย แต่อาหารบางชนิดก็ขาดกลิ่นหอมและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของหอมแดงไปไม่ได้ หอมแดงไม่เพียงเติมสีสันให้กับอาหาร แต่ยังมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย  

หอมแดงประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายชนิด เช่น เหล็ก แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และโฟเลท รวมถึงฟลาโวนอยด์ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเชื่อกันว่าช่วยป้องกันโรคได้หลายชนิด หอมแดงจัดเป็นพืชในตระกูลเดียวกับหัวหอมและกระเทียม ซึ่งพืชตระกูลนี้มีสารออร์กาโนซัลเฟอร์ (Organosulfur) ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและยังเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณน้ำตาไหลเวลาหั่นหอมแดงด้วย มาดูกันว่าสารอาหารเหล่านี้จะส่งผลดีต่อสุขภาพในด้านใดบ้าง

หอมแดง วัตถุดิบคู่ครัวกับประโยชน์ต่อสุขภาพ

หอมแดงมีประโยชน์อย่างไร?

สารอาหารในหอมแดงอาจส่งผลดีต่อสุขภาพในด้านต่อไปนี้

  1. บรรเทาอาการจากโรคภูมิแพ้

เควอซิทีน (Quercetin) คือ สารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของฟลาโวนอยด์ ออกฤทธิ์เป็นสารต้านฮิสตามีน (Antihistamines) ตามธรรมชาติ ส่วนสาเหตุที่หอมแดงอาจบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ได้ก็มาจากสารเควอซิทีน เพราะอาการภูมิแพ้ อย่างคัดจมูก น้ำมูกไหล และผื่นคันมักเกิดเมื่อร่างกายสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ระบบภูมิคุ้มกันจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮิสตามีนออกมามากขึ้นจนทำให้เกิดอาการดังกล่าว แต่ด้วยฤทธิ์ต้านฮิสตามีนของสารเควอซิทีนจะช่วยยับยั้งและชะลอการหลั่งของฮิสตามีน ซึ่งบรรเทาอาการจากโรคภูมิแพ้ได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรรับประทานหอมแดงเพื่อหวังผลบรรเทาอาการภูมิแพ้ เพราะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณเควอซิทีนที่แน่ชัดในหอมแดงแต่ละชนิด อีกทั้งระดับของอาการแพ้อาจแตกต่างกันไป ดังนั้นหากมีอาการภูมิแพ้ควรใช้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้น และไปพบแพทย์เมื่ออาการรุนแรงขึ้น

  1. รักษาการทำงานของหัวใจ

หัวใจและระบบไหลเวียนเลือดทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ แต่เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือดเสื่อม อักเสบ หรือเกิดความผิดปกติขึ้นก็อาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจมักมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น โรคประจำตัว และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม อย่างบริโภคอาหารไขมันสูง ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือเผชิญกับความเครียดเป็นประจำ

หอมแดงมีสารอาหารหลายชนิดที่ช่วยรักษาการทำงานของหัวใจและอาจลดความเสี่ยงของความผิดปกติของหัวใจได้ เช่น

  • ฟลาโวนอยด์ คือ สารต้านอนุมูลอิสระที่ขึ้นชื่อเรื่องสรรพคุณต้านการอักเสบและชะลอการเสื่อมของเซลล์จึงอาจลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและรักษาการทำงานของหัวใจได้
  • ไทโอซัลฟิเนต (Thiosulfinate) เป็นสารประกอบในกลุ่มออร์กาโนซัลเฟอร์ที่ลดอัตราการเกิดลิ่มเลือดจึงอาจช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้เป็นปกติ
  • แอลลิซิน (Allicin) เป็นสารอีกหนึ่งชนิดในกลุ่มออร์กาโนซัลเฟอร์ โดยจากงานวิจัยบางส่วนพบว่า สารแอลลิซินอาจช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ซึ่งลดความเสี่ยงที่จะเกิดไขมันเกาะผนังหลอดเลือดจนทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
  1. อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งแบ่งออกได้หลายชนิด หนึ่งในนั้นคือภาวะอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อภายในร่างกาย เพราะเมื่อเกิดการอักเสบต่อเนื่องกันนาน เซลล์บริเวณกล่าวอาจถูกทำลายจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งอาจเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน การอักเสบเรื้อรังเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

สารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในหอมแดงอย่างฟลาโวนอยด์ อาจช่วยลดความรุนแรงและความเสียหายจากการอักเสบของเนื้อเยื่อ จึงคาดกันว่าการได้รับฟลาโวนอยด์จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทดลองใช้สารสกัดจากหอมแดงเพื่อศึกษาคุณสมบัติต้านอักเสบและป้องกันโรคมะเร็ง ผลพบว่าสารสกัดจากหอมแดงนั้นช่วยต้านการอักเสบและเซลล์มะเร็งได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติที่อยู่โดยรอบ 

จากการศึกษาดังกล่าว ผู้ทดลองคาดว่าหอมแดงและสารสกัดจากหอมแดงอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาและป้องกันโรคมะเร็งในอนาคต เนื่องจากการรักษามะเร็งบางรูปแบบในปัจจุบัน อย่างการฉายแสงและการใช้ยาเคมีไม่เพียงกำจัดเซลล์มะเร็งแต่ยังส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติโดยรอบด้วย ดังนั้นหากสารสกัดหอมแดงสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งโดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ จึงน่าจะช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งได้ แต่จำเป็นต้องศึกษาถึงคุณสมบัติป้องกันมะเร็งของหอมแดงเพิ่มเติมอีกมาก

นอกจากนี้สารอาหารและส่วนประกอบในหอมแดงอาจช่วยเสริมสุขภาพในด้านอื่น ๆ เช่น

  • ต้านเชื้อโรค ลดความเสี่ยงของโรคติดเชื้อ
  • ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง อย่างโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วน
  • บำรุงสุขภาพโดยรวม เพราะหอมแดงมีสารอาหารมากมายที่จำเป็นต่อร่างกายจึงอาจช่วยรักษาการทำงานของระบบต่าง ๆ ให้เป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม สรรพคุณของหอมแดงเหล่านี้มาจากงานวิจัยหลากหลาย ซึ่งแต่ละงานมีความแตกต่างกันทั้งวิธีการทดลอง วิธีการใช้ รวมถึงผลลัพธ์ อีกทั้งผลการทดลองเกี่ยวกับสรรพคุณของหอมแดงยังไม่มีการยืนยันแน่ชัด จึงยังจำเป็นต้องได้รับการศึกษาและทดลองคุณสมบัติของหอมแดงในอีกหลายแง่มุมเพื่อยืนยันประโยชน์ดังกล่าว รวมทั้งความปลอดภัยต่อร่างกาย

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรรับประทานหอมแดงเพื่อหวังผลด้านการรักษาหรือป้องกันโรค หากเจ็บป่วย ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังและร้ายแรง อย่างโรคมะเร็งและโรคหัวใจ

ทั้งนี้หอมแดงสามารถนำมารับประทานและปรุงอาหารได้อย่างปลอดภัยในปริมาณที่เหมาะสม แต่ถ้าเคยมีประวัติการแพ้หอมแดงหรือพืชในตระกูลเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหอมแดงโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้อาหารและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ หรือหากพบความผิดปกติหลังจากการรับประทานหอมแดง ถึงแม้ว่าไม่เคยมีประวัติการแพ้มาก่อนก็ควรรีบไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน