หัวใจพิการ

ความหมาย หัวใจพิการ

หัวใจพิการ หรือภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับโครงสร้างหัวใจที่เป็นได้ตั้งแต่เกิด เด็กที่มีภาวะนี้อาจแสดงอาการตั้งแต่แรกเกิดหรือเพิ่งเริ่มสังเกตเห็นอาการตอนโตขึ้น ซึ่งบางรายอาจมีอาการไม่รุนแรงมากและไม่ต้องรับการรักษา ในขณะที่บางรายอาจเกิดความพิการที่ซับซ้อนและต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาหลายต่อหลายครั้ง

1599 หัวใจพิการ Resized

ภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดแบ่งออกได้เป็นชนิดหลัก ดังนี้

  • ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ อาจทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดีเท่าที่ควร และเสี่ยงก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา
  • ความผิดปกติของผนังหัวใจ การพัฒนาของผนังหัวใจที่ไม่สมบูรณ์อาจทำให้มีเลือดสะสมหรือตกค้างในบริเวณที่ไม่ควรมีอยู่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดแรงดันต่อหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และอาจเกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมาได้ โดยผู้ป่วยบางรายอาจเกิดรูหรือมีช่องเชื่อมผ่านระหว่างห้องหัวใจด้านซ้ายและขวา จนอาจทำให้เลือดจากหัวใจทั้ง 2 ห้องมาผสมกันได้
  • ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ อาจเกิดจากลิ้นหัวใจแคบเกินไปหรือไม่เปิดตามปกติ ส่งผลให้เลือดไหลผ่านหัวใจแต่ละห้องลำบาก หรืออาจเกิดจากลิ้นหัวใจปิดไม่สนิทจนทำให้เลือดไหลย้อนกลับ
  • ความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำที่นำเลือดออกจากหัวใจไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง หรืออาจทำให้การไหลเวียนของเลือดอุดตัน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง หรือส่งผลให้อวัยวะบางอย่างทำงานล้มเหลว

อาการของหัวใจพิการ

เด็กที่มีภาวะหัวใจพิการชนิดรุนแรงอาจแสดงอาการตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์มารดา หรือเพียงไม่นานหลังจากคลอดออกมา โดยสัญญาณที่อาจสังเกตได้ในเด็กแรกเกิด มีดังนี้

  • ริมฝีปาก ผิวหนัง นิ้วมือ และเท้าเป็นสีเทาหรือเขียว เนื่องจากมีเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ
  • เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หายใจเร็ว หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
  • มีอาการบวมบริเวณขา ท้อง หรือรอบดวงตา
  • ไม่ค่อยยอมกินอาหาร ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้น้อย
  • โตช้า

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีภาวะหัวใจพิการไม่รุนแรง เด็กอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ จนกระทั่งผ่านไปหลายปี แต่เมื่อเริ่มมีอาการ อาจสังเกตอาการแสดงต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • เหนื่อยง่ายในระหว่างและหลังจากออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลัง
  • วิงเวียน หรือหมดสติในระหว่างการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลัง
  • บวมที่แขน เท้า หรือข้อเท้า
  • หายใจลำบาก
  • หัวใจเต้นผิดปกติ

หากทารกมีอาการผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดดังข้างต้น ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที ส่วนในกรณีที่เพิ่งเริ่มมีอาการหลังจากโตขึ้นแล้ว ก็ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่าเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจหรือโรคอื่น ๆ หรือไม่

สาเหตุของหัวใจพิการ

หัวใจของคนเรามี 4 ห้อง แบ่งเป็นห้องด้านซ้าย 2 ห้องและห้องด้านขวา 2 ห้อง โดยหัวใจห้องขวาทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปที่ปอดเพื่อรับออกซิเจนแล้วนำเลือดและออกซิเจนกลับเข้าสู่หัวใจห้องซ้าย จากนั้นหัวใจห้องซ้ายจึงสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ หัวใจของตัวอ่อนเด็กจะเป็นรูปเป็นร่างและเริ่มเต้นเป็นจังหวะ เช่นเดียวกับหลอดเลือดหลักที่ทำหน้าที่นำเลือดเข้าและออกจากหัวใจ ซึ่งก็อาจเป็นช่วงเดียวกันกับที่เริ่มมีความผิดปกติเกิดขึ้น โดยอาการที่เกิดขึ้นมักส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนเลือดผ่านหัวใจ ทำให้ทารกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจไปด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันนักวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของความผิดปกตินี้ แต่คาดว่าอาจมีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง ดังต่อไปนี้

  • บุคคลในครอบครัวมีภาวะหัวใจพิการ เนื่องจากภาวะนี้อาจถ่ายทอดผ่านรุ่นสู่รุ่นได้
  • เด็กมีโรคความผิดปกติทางพันธุกรรมอย่างกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม โดยเด็กหลายคนที่ป่วยเป็นโรคนี้มักมีภาวะหัวใจพิการไปด้วย
  • การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน เป็นต้น
  • มารดาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และควบคุมอาการได้ไม่ดี เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกได้
  • การใช้ยาบางอย่างในช่วงก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์ เพราะยาบางตัวอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะหัวใจพิการและความพิการแต่กำเนิดชนิดอื่น ๆ ได้
  • การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์

การวินิจฉัยหัวใจพิการ

แพทย์อาจสังเกตความผิดปกติที่บ่งบอกถึงภาวะหัวใจพิการได้จากการฟังเสียงหัวใจของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่วนบางรายอาจตรวจพบภาวะนี้หลังจากคลอด ในช่วงวัยเด็ก หรือกระทั่งเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว โดยหากพบว่ามีเสียงฟู่ของหัวใจ ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดขึ้นเมื่อเลือดไหลผ่านหัวใจหรือหลอดเลือดในหัวใจอย่างรวดเร็วและอาจแสดงถึงความผิดปกติของหัวใจได้ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์แสดงภาพหัวใจ เพื่อดูการเคลื่อนไหวและความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ ผนังหัวใจ และลิ้นหัวใจ มักใช้ตรวจหลังจากทารกคลอดออกมาแล้ว หรืออาจอัลตราซาวด์ตรวจทารกที่ยังอยู่ในครรภ์ได้ด้วยเช่นกัน
  • การเอกซเรย์ทรวงอก แพทย์อาจใช้วิธีนี้เพื่อตรวจดูว่าหัวใจของผู้ป่วยมีขนาดโตขึ้นหรือมีน้ำคั่งในปอดหรือไม่ เพราะความผิดปกติดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจล้มเหลวได้
  • การถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) ใช้วินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของภาวะหัวใจพิการในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ด้วยการใช้เครื่องสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจและจังหวะการเต้นของหัวใจ ทำได้โดยใช้เครื่องมือบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • การสวนหัวใจและหลอดเลือด แพทย์จะใช้ท่อขนาดเล็กที่โค้งงอได้สอดผ่านหลอดเลือดบริเวณแขนหรือขาไปยังหัวใจ จากนั้นจึงใส่สารย้อมสีผ่านท่อไปด้วย ก่อนจะเอกซเรย์ดูภาพภายในหัวใจ เพื่อให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
  • การตรวจออกซิเจนในเลือด เป็นการใช้เซนเซอร์ตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือดบริเวณปลายนิ้ว หากมีออกซิเจนน้อยเกินไปก็อาจบ่งบอกถึงปัญหาเกี่ยวกับหัวใจได้

การรักษาหัวใจพิการ

การรักษาภาวะหัวใจพิการขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่เกิดขึ้นและความรุนแรงของอาการ เด็กบางคนที่มีความผิดปกติชนิดไม่รุนแรงอาจหายดีได้โดยไม่ต้องรักษา แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะต้องได้รับการรักษาทันทีที่ตรวจพบ

โดยวิธีที่แพทย์อาจนำมาใช้ มีดังนี้

  • การใช้ยา แพทย์จะสั่งจ่ายยาที่ช่วยให้หัวใจของผู้ป่วยทำงานได้ดีขึ้น เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
  • การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยปรับให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นจังหวะปกติ และอาจใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • การสวนหัวใจและหลอดเลือด แพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กที่โค้งงอได้ผ่านทางหลอดเลือดในขาไปยังหัวใจ จากนั้นจึงใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กสอดเข้าไปเพื่อทำการรักษา เช่น การใส่อุปกรณ์เพื่อปิดหลอดเลือดหรือผนังหัวใจที่มีรูเปิดผิดปกติ เป็นต้น
  • การผ่าตัดหัวใจ หากการสวนหัวใจและหลอดเลือดใช้ไม่ได้ผล แพทย์อาจต้องผ่าตัดเปิดหัวใจเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ปิดรอยรั่วในหัวใจ ซ่อมแซมลิ้นหัวใจ ขยายหลอดเลือด เป็นต้น
  • ารผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ หากมีภาวะหัวใจพิการชนิดซับซ้อนและรักษาได้ยาก แพทย์อาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจากผู้บริจาคแล้วปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจพิการ

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีภาวะหัวใจพิการเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนี้

  • มีพัฒนาการและการเจริญเติบโตช้า เด็กที่มีภาวะหัวใจพิการรุนแรงมักมีพัฒนาการช้าและโตช้ากว่าเด็กทั่วไปที่มีอายุใกล้เคียงกัน และหากระบบประสาทได้รับผลกระทบไปด้วย เด็กก็อาจเดินและพูดได้ช้ากว่าปกติ บางรายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการประสานงานกันของระบบต่าง ๆ ในร่างกายไปตลอดชีวิต
  • หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากภาวะหัวใจพิการและการมีเนื้อเยื่อแผลเป็นหลังจากผ่าตัดรักษาหัวใจพิการ
  • ตัวเขียวคล้ำ ภาวะนี้อาจทำให้เด็กมีออกซิเจนในเลือดต่ำจนทำให้ริมฝีปากและผิวของเด็กเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือคล้ำ
  • เยื่อบุหัวใจอักเสบ เป็นการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจและลิ้นหัวใจ อาการที่อาจสังเกตได้ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ไม่อยากอาหาร ปวดหรือเกร็งกล้ามเนื้อ มีเหงื่อออกตอนกลางคืน หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้หัวใจเสียหายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ภาวะหัวใจวาย เป็นภาวะร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในทารกที่มีภาวะหัวใจพิการรุนแรง เนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ สัญญาณของภาวะนี้ ได้แก่ หายใจเร็ว หายใจลำบาก ท้องบวมและขา เท้า หรือข้อเท้าบวม น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้น้อย เป็นต้น
  • มีลิ่มเลือด ผู้ป่วยหรือผู้ที่เคยมีภาวะหัวใจพิการนั้นเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดในหัวใจได้ ซึ่งลิ่มเลือดอาจเดินทางไปถึงปอดจนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือหากขึ้นไปยังสมองก็อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยภาวะนี้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ปอดและทางเดินหายใจ เช่น ภาวะปอดบวม เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ไอ หายใจเสียงดังหวีด หายใจเร็ว และหอบเหนื่อย
  • ความดันหลอดเลือดปอดสูง ผู้ป่วยอาจมีความดันในหลอดเลือดแดงที่เชื่อมต่อระหว่างหัวใจและปอดสูงเกินไป จนมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น หายใจถี่ เหนื่อยมาก วิงเวียนศีรษะ คล้ายจะหมดสติ หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก เป็นต้น
  • ภาวะไหลตาย เป็นภาวะที่ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตอย่างฉับพลันได้
  • ปัญหาทางอารมณ์ เด็กบางคนอาจรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองจากผลกระทบของภาวะหัวใจพิการ เช่น มีขนาดตัวเล็กกว่าผู้อื่น ไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนเด็กคนอื่น มีปัญหาทางการเรียนรู้ เป็นต้น
  • การใช้ชีวิตที่ยากลำบาก ผู้ป่วยภาวะหัวใจพิการอาจต้องเฝ้าระวังอาการของตนตลอดชีวิตที่เหลือ และต้องเข้ารับการตรวจติดตามเป็นประจำ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะรุนแรงอย่างหัวใจล้มเหลว ปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ หรือเยื่อบุหัวใจอักเสบ

การป้องกันหัวใจพิการ

เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจพิการในทารก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงโดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยารักษาโรค สมุนไพร และอาหารเสริมทุกชนิดก่อนใช้ ทั้งในขณะที่ตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนจะมีบุตร
  • หากมีบุคคลในครอบครัวมีหัวใจพิการ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงดังกล่าว และเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม
  • หญิงที่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวานควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อควบคุมอาการของโรคให้เรียบร้อยก่อน เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันก่อนตั้งครรภ์ เพราะการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ในระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อพัฒนาการหัวใจของทารก
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
  • รับประทานวิตามินรวมและกรดโฟลิก ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับกรดโฟลิกอย่างน้อยวันละ 400 ไมโครกรัม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองพิการและหัวใจพิการในทารก
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดทุกชนิดในระหว่างตั้งครรภ์
  • เลี่ยงการเผชิญสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นตัวทำละลาย เช่น ทินเนอร์ ยาล้างเล็บ เป็นต้น