ความหมาย หัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest)
หัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) เป็นภาวะที่หัวใจหยุดเต้นหรือหยุดทำงาน ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ โดยภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดได้จากหลายปัจจัย แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะภาวะหัวใจหยุดเต้นที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือ Sudden Cardiac Arrest ซึ่งเป็นภาวะที่อาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติบางอย่างทางหัวใจ อย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy) หรือโรคประจำตัวบางชนิด
หัวใจหยุดเต้นเป็นภาวะที่รุนแรงและอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว หากพบคนใกล้ตัวหมดสติและมีสัญญาณของภาวะหัวใจหยุดเต้น อย่างไม่มีชีพจรหรือไม่หายใจ ควรโทรแจ้งสายด่วนที่เบอร์ 1669 และหากเคยได้รับการฝึกฝนการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน ควรช่วยเหลือผู้ป่วยโดยให้ทำการกู้ชีพขั้นพื้นฐานด้วยการปั๊มหัวใจ (Cardiopulmonary Resuscitation: CPR) สลับกับการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillators: AED) ทันที
อาการหัวใจหยุดเต้น
ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นจะหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่มีชีพจร หรือไม่หายใจ โดยอาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจไม่มีอาการใด ๆ เป็นสัญญาณนำมาก่อน แต่ในบางคนอาจพบอาการบางอย่างที่เป็นสัญญาณก่อนจะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น เช่น รู้สึกอึดอัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย เหนื่อยผิดปกติ หายใจถี่ ใจสั่น เวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้ เป็นต้น
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเป็นภาวะที่อันตรายและควรได้รับการรักษาทันที เนื่องจากเมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น ระบบไหลเวียนเลือดของร่างกายจะหยุดทำงาน ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ และสมองมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ดังนั้น ให้รีบไปพบแพทย์หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันทีหากตนเองหรือคนใกล้ตัวพบอาการผิดปกติดังต่อไปนี้
- รู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือใจสั่น
- หายใจมีเสียงดังโดยไม่ทราบสาเหตุ
- จะเป็นลมหรือเป็นลม
สาเหตุของหัวใจหยุดเต้น
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเป็นภาวะที่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
ความผิดปกติทางหัวใจ
อัตราการเต้นของหัวใจจะถูกควบคุมโดยการนำไฟฟ้าของหัวใจ โดยความผิดปกติบางอย่างทางหัวใจอาจทำให้การนำไฟฟ้าของหัวใจทำงานผิดปกติอย่างรุนแรงจนอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) หรือหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) ซึ่งเป็นภาวะที่อาจนำไปสู่ภาวะหยุดใจหยุดเต้นได้
ความผิดปกติต่าง ๆ ทางหัวใจที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้น เช่น
- โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากการอุดตันในหลอดเลือดเนื่องจากผนังหลอดเลือหนาตัวขึ้น ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปยังหัวใจได้น้อยลงจนอาจเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) ซึ่งอาจกระตุ้นให้หัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ (Ventricular Fibrillation) และเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นตามมา
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เป็นโรคที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจของผู้ป่วยมีความหนาผิดปกติจนอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง และเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น
- ลิ้นหัวใจผิดปกติ เป็นความผิดปกติของลิ้นหัวใจ อย่างลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบตัน อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงได้เช่นกัน
- ภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) เป็นภาวะที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นมากขึ้น
สาเหตุอื่น ๆ
ปัจจัยอื่นที่อาจทำให้เกิดภาวะ เช่น
- การเสียเลือดจำนวนมาก
- ร่างกายขาดออกซิเจนขั้นรุนแรง
- มีระดับเกลือแร่บางชนิดผิดปกติ เช่น โพแทสเซียมหรือแมกนีเซียม เป็นต้น
- การออกกำลังกายอย่างหักโหมเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นอาจเพิ่มขึ้นตามอายุ เพศ หรือปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น
- เพศชาย จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นสูงกว่าเพศหญิง
- มีโรคหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อหัวใจ เช่น มีประวัติการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น มีประวัติการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ป่วยเป็นโรคหัวใจต่าง ๆ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ อย่างคนในครอบครัวมีประวัติการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ สูบบุหรี่ ความดันเลือดสูง ระดับคอเลสเตอรอลสูง มีภาวะอ้วน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
- พันธุกรรม ผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด อย่างกลุ่มอาการ Long QT หรือผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือป่วยเป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นมากขึ้น
- ใช้สารเสพติดบางชนิด เช่น โคเคน หรือแอมเฟตามีน (Amphetamine) เป็นต้น
- มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea)
- ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง
การวินิจฉัยหัวใจหยุดเต้น
ในเบื้องต้น ภาวะหัวใจหยุดเต้นอาจสังเกตได้จากอาการบางอย่าง โดยผู้ป่วยจะไม่หายใจ หมดสติ หายใจแผ่ว หรือชีพจรไม่เต้น ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แพทย์จึงจะต้องช่วยชีวิตของผู้ป่วยก่อนตรวจหาสาเหตุ โดยจะตรวจสัญญาณชีพของผู้ป่วย อย่างความดันโลหิต อัตราการเต้นของชีพจร อัตราการหายใจ และอุณหภูมิของร่างกาย รวมทั้งมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) พร้อมกับการปั๊มหัวใจ ใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า และให้ยาบางชนิดที่ช่วยกระตุ้นสัญญาณชีพ
เมื่อผู้ป่วยอาการคงที่ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุและรักษาเพื่อป้องกันการเกิดภาวะนี้ซ้ำ เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพิ่มเติม เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าและอัตราการเต้นของหัวใจ
- การตรวจเลือด เพื่อนำไปตรวจระดับโพแทสเซียม แมกนีเซียม ฮอร์โมนต่าง ๆ และสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจ
- การเอกซเรย์ แพทย์จะเอกซเรย์บริเวณอกของผู้ป่วยเพื่อดูขนาดและหลอดเลือดของหัวใจ รวมถึงความผิดปกติต่าง ๆ
- การทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram) เป็นวิธีตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงเพื่อจำลองภาพหัวใจของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ตรวจความเสียหาย การสูบฉีดเลือด และความผิดปกติของลิ้นหัวใจ
- การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac Catheterization) โดยแพทย์จะฉีดสารบางชนิดเข้าสู่หลอดเลือดแดงและเอกซเรย์เพื่อตรวจหาบริเวณที่เกิดการอุดตัน
การรักษาหัวใจหยุดเต้น
ในการรักษาภาวะหัวใจหยุดเต้นเบื้องต้น จำเป็นต้องทำอย่างทันท่วงที โดยให้คนที่พบผู้ป่วยใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติที่สามารถหาได้ตามสถานที่สาธารณะที่มีสัญลักษณ์ของอุปกรณ์ ในระหว่างที่รอทีมแพทย์ฉุกเฉินและเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ ให้ทำการปั๊มหัวใจโดยจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ใช้สันมือวางตรงกึ่งกลางหน้าอกหรือกึ่งกลางระหว่างราวนมของผู้ป่วย จากนั้นนำมืออีกข้างวางไว้ด้านบนแล้วเริ่มกดหน้าอกผู้ป่วยให้ได้ความลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ด้วยความเร็วประมาณ 100–120 ครั้งต่อนาที
เมื่อเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติมาถึง ให้ติดแผ่นนำไฟฟ้าบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวาและบริเวณชายโครงด้านซ้ายของผู้ป่วย เพื่อให้เครื่องตรวจภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเครื่องมือจะอธิบายวิธีการใช้งานอย่างละเอียดด้วยเสียงทีละขั้นตอน จากนั้นหากเครื่องสั่งให้ช็อกไฟฟ้า ให้ทำตามคำแนะนำของเครื่องมืออย่างระมัดระวังสลับกับการปั๊มหัวใจอย่างต่อเนื่อง แต่หากเครื่องตรวจไม่พบภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่แนะนำให้ช็อกไฟฟ้า ให้ทำการปั๊มหัวใจผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจนกว่าทีมแพทย์ฉุกเฉินจะมาถึง
เมื่อทีมแพทย์มาถึง แพทย์จะรักษาต่อด้วยการปั๊มหัวใจและใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า ร่วมกับการให้ยาบางชนิดเพื่อกระตุ้นสัญญาณชีพของผู้ป่วย เมื่อสัญญาณชีพของผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ แพทย์อาจให้ยาบางชนิดเพื่อช่วยให้หัวใจผู้ป่วยเต้นในจังหวะปกติหรือลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นซ้ำ
นอกจากนี้ แพทย์จะค้นหาสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นและรักษาตามสาเหตุ เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันร่วมด้วย อย่างการออกกำลังกายให้มากขึ้น ลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง รวมถึงอาจผ่าตัดฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (Implantable Cardioverter–Defibrillator: ICD) หรือเครื่องมือที่ช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งหากเครื่องมือตรวจพบว่าหัวใจของผู้ป่วยเต้นผิดจังหวะ เครื่องมือจะส่งคลื่นไฟฟ้าเพื่อช่วยให้หัวใจเต้นในจังหวะที่ปกติ
ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจหยุดเต้น
ภาวะหัวใจหยุดเต้นอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เนื่องจากระบบไหลเวียนเลือดหยุดทำงาน เช่น อวัยวะสำคัญของร่างกายมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ สมองเกิดความเสียหาย และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง เป็นต้น
การป้องกันหัวใจหยุดเต้น
เนื่องจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเกิดได้จากหลายปัจจัย การป้องกันทั้งหมดอาจทำได้ยาก ในเบื้องต้นอาจลดความเสี่ยงได้โดยการไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพโดยรวมและสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่างผู้ที่ป่วยเป็นโรคหรือมีภาวะผิดปกติทางหัวใจ ให้ไปพบแพทย์ตามนัดและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ
นอกจากนี้ ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างร่วมด้วย เช่น
- ลดปริมาณอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง และเลือกรับประทานอาการประเภทผักผลไม้ ธัญพืช หรือแหล่งโปรตีนที่มีไขมันต่ำ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความเครียด
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ