ความหมาย หูหนวก (Deafness)
หูหนวก (Deafness) หรือสูญเสียการได้ยิน เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความสามารถในการได้ยินลดลงหรือสูญเสียการได้ยินทั้งหมด โดยเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นในภายหลัง โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่ เช่น ประสาทหูเสื่อมเพราะอายุมากขึ้น กรรมพันธุ์ การได้รับบาดเจ็บ หรือการได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน
นอกจากนั้น หูหนวกอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความสัมพันธ์ได้ ดังนั้น หากพบว่าตนเองมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หูหนวกหรือสูญเสียการได้ยินอย่างกะทันหันกับหูข้างใดข้างหนึ่งหรือพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะมีโอกาสที่จะรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้
สาเหตุของหูหนวก
หูหนวกมีสาเหตุมาจากการเสียความสามารถในการนำเสียงไปยังสมอง โดยการสูญเสียการได้ยินแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. การสูญเสียการได้ยินจากการนำเสียงบกพร่อง (Conductive Hearing Loss)
สาเหตุนี้เกิดจากการที่เสียงไม่สามารถผ่านจากหูชั้นนอกไปสู่หูชั้นในได้ตามปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ขี้หูปิดกั้นในหู น้ำเข้าหู สิ่งแปลกปลอมในหู
- การติดเชื้อในหู
- แก้วหูทะลุ (Perforated Eardrum) มีการฉีกขาดหรือเป็นหลุมที่แก้วหู
- โรคหินปูนเกาะกระดูกหู (Otosclerosis) มีหินปูนเกิดขึ้นผิดปกติที่หูชั้นกลาง ทำให้เสียงไม่สามารถผ่านจากหูชั้นกลางไปยังหูชั้นในได้ตามปกติ
- เนื้องอกภายในหู
- ปัญหาเกี่ยวกับท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube) ที่ทำหน้าที่ปรับอากาศในช่องหูชั้นกลาง โดยของเหลวอาจสะสมอยู่ที่บริเวณท่อดังกล่าวและทำให้หูหนวกหรือสูญเสียการได้ยินได้
- อาการบวมรอบ ๆ ท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube) ซึ่งมีสาเหตุจากการผ่าตัดขากรรไกร หรือการใช้รังสีรักษามะเร็งโพรงจมูก
2. การสูญเสียการได้ยินที่โสตประสาท (Sensorineural Hearing Loss)
หูหนวกหรือสูญเสียการได้ยินอาจเกิดจากความเสียหายที่หูชั้นในหรือประสาทการได้ยิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- อายุที่เพิ่มขึ้น
- ความบกพร่องทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด หรือกรรมพันธุ์
- ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่หูหรือศีรษะ
- ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง
- เนื้องอกของเส้นประสาทหู (Acoustic Neuroma)
- การติดเชื้อจากแม้สู่ทารกในครรภ์ เช่น เริม หรือหัดเยอรมัน
- โรคหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดในสมองแตก ตีบ หรือตัน (Stroke) ภาวะแพ้ภูมิตนเอง เยื่อหุ้มสมองหรือสมองอักเสบ แพ้ภูมิตัวเอง
- การรักษาหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น การใช้รังสีบำบัดบริเวณโพรงจมูก ยาเคมีบำบัด หรือยาปฏิชีวนะ
3. การรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม (Mixed Hearing Loss)
เป็นกรณีที่ทั้ง 2 สาเหตุข้างต้นเกิดขึ้นพร้อมกัน คือเกิดการสูญเสียความสามารถในการนำเสียงของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง ร่วมกับการสูญเสียความสามารถของหูชั้นในและระบบประสาทการได้ยิน
อาการของหูหนวก
อาการของหูหนวกมักจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวตั้งแต่เริ่มต้น หรืออาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน โดยอาการของหูหนวกที่พบได้ทั่วไป ได้แก่
- ได้ยินเสียงพูดของผู้อื่นไม่ชัดเจนหรือได้ยินลำบากขึ้น ทำให้ไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีการสนทนากันเป็นกลุ่ม
- มักให้ผู้อื่นพูดซ้ำ พูดให้ดังขึ้น หรือพูดช้าลง เนื่องจากไม่สามารถฟังได้ชัดเจน
- ได้ยินเสียงต่าง ๆ ลำบากขึ้น เช่น ไม่ได้ยินเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์หรือไม่ได้ยินเสียงออดประตู
- ไม่สามารถหาที่มาของแหล่งกำเนิดเสียงได้
- เวลาฟังเพลงหรือดูโทรทัศน์จะเปิดเสียงดังกว่าปกติ
- มักรู้สึกเครียดหรือเหนื่อยจากการที่ต้องตั้งใจฟังเสียงมากกว่าปกติ หรือไม่ชอบอยู่ในวงสนทนา
- มีอาการเสียงดังในหู หรือหูอื้อ (Tinnitus) โดยอาจได้ยินคล้ายเสียงแมลงหวี่หรือเสียงผึ้ง
อาการของหูหนวกในเด็กทารกหรือเด็กวัยหัดเดิน ได้แก่
- เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 4 เดือน เมื่อเกิดเสียงจะไม่หันไปหาที่มาของเสียง
- เด็กอายุ 1 ปี แต่ไม่พูดหรือออกเสียงตามพัฒนาการของเด็กที่ควรจะเป็น
- เด็กจะตอบสนองเมื่อเห็นพ่อแม่ แต่จะไม่ตอบสนองหากถูกเรียกชื่อ
- ไม่มีอาการผวาหรือตกใจเมื่อเกิดเสียงดัง
- ได้ยินเสียงเพียงบางเสียงเท่านั้น โดยจะไม่ได้ยินทั้งหมดทุกเสียง
อาการของหูหนวกในเด็ก ได้แก่
- มีการเรียนรู้ที่จะพูดได้ช้า หรือพูดไม่ชัดเจน
- เด็กจะต้องให้ผู้อื่นพูดซ้ำอีกรอบ หรือตอบคำถามได้ไม่เหมาะสม เนื่องจากฟังไม่ถนัด
- เมื่อเรียกแล้วไม่มีการตอบสนอง
- เด็กมักจะพูดเสียงดังมาก
- เด็กมักจะเปิดเสียงโทรทัศน์ดังมาก
- เด็กมักจะมองและเลียนแบบผู้อื่น หากได้รับคำสั่งให้ทำกิจกรรมบางอย่าง เนื่องจากเด็กไม่ได้ยิน
โดยผู้ที่มีอาการหูหนวกอาจมีระดับของการได้ยินแตกต่างกันไป ดังนี้
- หูตึงเล็กน้อย เสียงเบาที่สุดที่จะได้ยิน คือ 21–40 เดซิเบล บางรายอาจทำให้ได้ยินเสียงพูดได้ไม่ถนัด โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีเสียงดังรอบ ๆ
- หูตึงปานกลาง เสียงเบาที่สุดที่จะได้ยิน คือ 41–70 เดซิเบล อาจทำให้ฟังเสียงพูดได้ลำบาก หากไม่ได้ใช้เครื่องช่วยฟัง
- หูตึงรุนแรง เสียงเบาที่สุดที่จะได้ยิน คือ 71–90 เดซิเบล กรณีนี้ผู้ป่วยต้องใช้วิธีอ่านปากหรือใช้ภาษามือในการสื่อสาร ในขณะที่ใช้เครื่องช่วยฟังร่วมด้วย
- หูหนวก เสียงเบาที่สุดที่จะได้ยินต้องมากกว่า 90 เดซิเบล โดยกรณีนี้ผู้ป่วยสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (Cochlear Implant) หรือต้องสื่อสารด้วยการอ่านปากและใช้ภาษามือ
อาการหูหนวกที่ควรไปพบแพทย์
หากพบว่าตนเองหรือเด็กมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน หรือพบว่าเมื่อตื่นเช้ามาหูข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ยินอย่างกะทันหันหรือไม่ได้ยินเป็นเวลา 1–2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษา
การวินิจฉัยหูหนวก
แพทย์จะวินิจฉัยโดยเริ่มจากการซักประวัติอย่างละเอียด ตรวจหู และอาจมีการทดสอบเพิ่มเติม ได้แก่
- ตรวจหู แพทย์จะใช้กล้องส่องตรวจหู (Otoscope) เพื่อหาสาเหตุที่มีผลต่อการได้ยิน เช่น ขี้หู การอักเสบ หรือการติดเชื้อ รวมไปถึงตรวจดูส่วนต่าง ๆ ในช่องหูที่อาจเกิดปัญหาและเป็นสาเหตุให้สูญเสียการได้ยิน
- ตรวจคัดกรองด้วยส้อมเสียง (Tuning Fork Tests) เป็นการทดสอบด้วยอุปกรณ์โลหะ ที่จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจคัดกรองประเภทของการสูญเสียการได้ยินในเบื้องต้น ว่าเป็นการสูญเสียการได้ยินจากการนำเสียงบกพร่อง หรือสูญเสียการได้ยินที่โสตประสาท
- ตรวจวัดการได้ยินด้วยเสียงบริสุทธิ์ (Pure-Tone Audiometry) เป็นการตรวจสอบการได้ยินของหูทั้งสองข้างด้วยเครื่องทดสอบการได้ยิน โดยเครื่องดังกล่าวจะให้ระดับความดังเสียงที่แตกต่างกันไป แพทย์จะให้ผู้ป่วยฟังเสียงผ่านทางหูฟังและให้ตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน เช่น ให้กดปุ่ม
- ตรวจการได้ยินโดยการนำเสียงทางกระดูก (Bone Conduction Test) เป็นการตรวจด้วยการวางเครื่องสั่นไว้บริเวณกระดูกมาสตอยด์ของหูข้างที่จะตรวจ ซึ่งเสียงจะเดินทางผ่านกระดูกมาสตอยด์ไปยังหูชั้นใน ทำให้สามารถตรวจสอบการทำงานของหูแต่ละส่วนได้
- ตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิด (Newborn Hearing Screening) การตรวจนี้จะช่วยให้ทราบถึงการได้ยินของเด็ก และหากพบว่าเด็กมีปัญหาการได้ยินหรือสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร จะช่วยให้หาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
การรักษาหูหนวก
การรักษาหูหนวกมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ซึ่งวิธีการรักษา ได้แก่
- หากขี้หูอุดตันจนทำให้การได้ยินเสียงแย่ลง แพทย์จะนำขี้หูออกโดยการใช้น้ำมันหยอดหูทำให้ขี้หูนิ่มลง ใช้ยาละลาย เขี่ยออก หรือดูดออก
- หากการสูญเสียการได้ยินมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาได้ด้วยการให้ผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะ
- การผ่าตัดจะมีความจำเป็นหากเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือหากเกิดการติดเชื้อซ้ำที่ต้องสอดท่อเพื่อระบายน้ำออก รวมไปถึงการผ่าตัดเพื่อระบายของเหลว ซ่อมแซมแก้วหูที่ทะลุ หรือแก้ไขกระดูกที่เกิดปัญหา
อย่างไรก็ตาม หูหนวกหรือการสูญเสียการได้ยินที่มีสาเหตุมาจากความเสียหายของหูชั้นในหรือโสตประสาทจะเป็นการสูญเสียอย่างถาวร โดยวิธีที่ช่วยให้ได้ยินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ดังนี้
- เครื่องช่วยฟัง (Hearing Aids) เป็นเครื่องที่ช่วยขยายเสียงให้ผู้ป่วยได้ยินชัดและง่ายขึ้น โดยเครื่องช่วยฟังอาจแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ เครื่องช่วยฟังชนิดฟังเสียงทางอากาศ (Air conduction Hearing Aid) และเครื่องช่วยฟังชนิดฟังเสียงทางกระดูก (Bone Conduction Hearing Aid)
- ประสาทหูเทียม (Cochlear Implant) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำงานทดแทนหูชั้นในส่วนที่ได้รับความเสียหายหรือไม่ทำงาน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะแปลงสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า และจะช่วยกระตุ้นเซลล์ขนภายในอวัยวะรับเสียงให้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของหูหนวก
หูหนวกหรือสูญเสียการได้ยินอาจส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เช่น ในหมู่ผู้ป่วยวัยสูงอายุมักเกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือรู้สึกแย่ เพราะมักถูกโกรธหรือเกิดความไม่เข้าใจกันกับผู้อื่น เนื่องจากเกิดอุปสรรคในการสื่อสาร หรือบางรายอาจเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมหรือคนรอบข้าง ซึ่งจะทำให้คนรอบข้างหรือคนที่รักเกิดความลำบากใจ
การป้องกันหูหนวก
เนื่องจากมีผู้ป่วยหูหนวกจำนวนมากที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นการป้องกันจึงมีความสำคัญเพื่อช่วยให้การได้ยินเป็นปกติได้ในระยะยาว โดยวิธีป้องกันการสูญเสียการได้ยินทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงเสียงสถานที่ที่ดังเกินไป เสียงที่ดังมากอาจสังเกตได้จากการที่ต้องตะโกนดัง ๆ แข่งกับเสียงรอบข้าง ซึ่งอาจดังมากพอที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อการได้ยิน เช่น เสียงโทรทัศน์ที่ดังมาก เสียงจากลำโพงเวลาไปดูคอนเสิร์ต เสียงเครื่องมือขุดเจาะ และเสียงจากหูฟังที่เปิดดังเกินไป
- ใช้ที่ป้องกันเสียง เช่น ที่อุดหู (Earplug) ที่ครอบหู (Earmuff) หากในชีวิตประจำวันหรือการทำงานต้องเผชิญกับเสียงดังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการสูญเสียการได้ยิน สำหรับผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับควันบุหรี่
- กำจัดขี้หูอย่างถูกวิธี การสะสมของขี้หูจะปิดกั้นการได้ยินเสียง โดยไม่ควรใช้ไม้พันสําลีเพื่อเอาขี้หูออก เพราะอาจเป็นการดันให้ขี้หูเข้าไปลึกยิ่งขึ้น หากขี้หูเข้าไปอัดแน่นในหูและปิดกั้นการได้ยิน ควรไปพบแพทย์
- ตรวจสอบการใช้ยาที่อาจมีผลกระทบต่อการได้ยิน เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยาแอสไพรินที่ใช้ในปริมาณมาก หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลกระทบต่อการได้ยิน หรือให้แพทย์ตรวจสอบการได้ยินก่อนการรักษา
- ควรได้รับการทดสอบการได้ยินเป็นประจำ หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นหูหนวก เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นหูหนวก มีปัญหาในการได้ยินระหว่างการสนทนา อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังเป็นประจำ ได้ยินเสียงดังในหูหรือหูอื้ออยู่บ่อยครั้ง