ความหมาย อัณฑะค้าง (Undescended Testis)
อัณฑะค้าง (Undescended Testis) เป็นภาวะที่ลูกอัณฑะไม่เคลื่อนตัวลงไปในถุงอัณฑะตามปกติ โดยติดอยู่ในบริเวณช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน ภาวะนี้เกิดได้กับอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งหรืออัณฑะทั้ง 2 ข้าง แต่จะไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดหรือความผิดปกติในการขับปัสสาวะ
สาเหตุในการเกิดภาวะอัณฑะค้างยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ภาวะนี้พบได้บ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนด หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้ลูกอัณฑะได้รับความเสียหายจนอาจกระทบต่อการเจริญพันธุ์หรือนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในอนาคต
อาการอัณฑะค้าง
ภาวะอัณฑะค้างเป็นภาวะที่พบในเด็กแรกเกิด โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนด ผู้ป่วยจะไม่มีลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างในถุงอัณฑะ แต่ความผิดปกติดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อการขับปัสสาวะและไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด เว้นแต่กรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน อย่างอัณฑะบิดขั้ว ทำให้มีอาการปวดได้
แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะอัณฑะค้างได้ตั้งแต่หลังการคลอด หากลูกอัณฑะของทารกไม่เคลื่อนตัวลงมาในตำแหน่งปกติภายในอายุ 4–6 เดือน จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งการรักษาตั้งแต่วัยทารกจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติของอวัยวะเพศหรือมีความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของทารกควรปรึกษาแพทย์
สาเหตุของอัณฑะค้าง
ตามปกติแล้วลูกอัณฑะจะเคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะเมื่ออายุครรภ์ 9 เดือน แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะอัณฑะค้างจะพบว่าลูกอัณฑะไม่เคลื่อนตัวลงมาหรือถูกดึงกลับออกจากถุงอัณฑะเข้าไปในร่างกายจากการที่กล้ามเนื้อหดตัว ส่วนใหญ่จะพบภาวะนี้ในทารกคลอดก่อนกำหนดมากกว่าทารกที่คลอดปกติ
นอกจากนี้ ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นในวัยเด็กหรือวัยก่อนวัยรุ่นได้เช่นกัน โดยอัณฑะไหลลงมาอยู่ในถุงอัณฑะปกติและเคลื่อนสูงขึ้นไปในบริเวณขาหนีบ แต่สามารถจับให้ลูกอัณฑะเคลื่อนกลับที่เดิมได้ (Retractile Testicle) เนื่องจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในถุงอัณฑะ อีกลักษณะที่อาจพบได้คือ อัณฑะไหลลงมาอยู่ในถุงอัณฑะปกติและเคลื่อนสูงขึ้นไปในบริเวณขาหนีบ แต่ไม่สามารถจับลูกอัณฑะให้กลับมาในตำแหน่งเดิมได้ (Ascending Testicle หรือ Acquired Undescended Testicle)
ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดภาวะอัณฑะค้างได้อย่างแน่ชัด โดยอาจเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ได้แก่ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่อาจรบกวนฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ การทำงานของระบบประสาท พัฒนาการภายในครรภ์มีความผิดปกติ รวมทั้งมีบางปัจจัยอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะอัณฑะค้างได้มากขึ้น เช่น
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่ขณะตั้งครรภ์
- ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยหรือคลอดก่อนกำหนด
- ภาวะที่ส่งผลให้พัฒนาการของทารกในครรภ์มีความผิดปกติและกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารก เช่น ภาวะผนังหน้าท้องโหว่ (Abdominal Wall Defects) หรือกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) เป็นต้น
- มารดาเป็นโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 ชนิดที่ 2 และภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes)
- สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นภาวะอัณฑะค้างหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับพัฒนาการของอวัยวะเพศ
- บิดามารดาสัมผัสกับยาฆ่าแมลง
การวินิจฉัยอัณฑะค้าง
แพทย์จะวินิจฉัยภาวะอัณฑะค้างด้วยการตรวจร่างกายทารก โดยจะพบว่าลูกอัณฑะไม่เข้าไปอยู่ในถุงอัณฑะหรือมีลูกอัณฑะค้างอยู่ภายในท้องส่วนล่างในช่วงอายุ 4–6 เดือน และอาจใช้การผ่าตัดเพื่อวินิจฉัยร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นการผ่าตัดขนาดเล็กบริเวณช่องท้องด้วยกล้อง (Laparoscopy) เพื่อตรวจหาลูกอัณฑะที่อาจอยู่ในช่องท้อง หากตรวจพบจะรักษาภาวะนี้ไปเลยในขณะตรวจวินิจฉัย หรืออาจเป็นการผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery) บริเวณช่องท้องหรือเชิงกรานโดยตรงเพื่อตรวจดูความผิดปกติในผู้ป่วยบางราย
นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมหากไม่พบลูกอัณฑะในถุงอัณฑะของทารกหลังการคลอด เนื่องจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของทารกได้หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา
การรักษาอัณฑะค้าง
แพทย์จะเน้นการรักษาไปยังการเคลื่อนย้ายให้ลูกอัณฑะไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หากผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็วหรือก่อนอายุ 1 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างภาวะมีบุตรยากหรือมะเร็งอัณฑะ (Testicular Cancer) โดยวิธีที่แพทย์นำมาใช้รักษาผู้ป่วย ได้แก่
การผ่าตัด
เป็นวิธีการรักษาหลักของของอัณฑะค้าง แพทย์จะผ่าตัดในบริเวณช่องท้องหรือเชิงกรานเพื่อเคลื่อนให้ลูกอัณฑะอยู่ในถุงอัณฑะและเย็บให้ยึดติดอยู่กับตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดในช่วงอายุประมาณ 6–12 เดือน วิธีการนี้สามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้องหรือผ่าตัดแบบเปิด ขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย หรือปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ
นอกจากนี้ หากทารกมีภาวะอัณฑะค้างร่วมกับภาวะไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal Hernia) แพทย์จะรักษาภาวะไส้เลื่อนไปพร้อมกับการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะอัณฑะค้าง ในกรณีที่ลูกอัณฑะของผู้ป่วยมีการพัฒนาช้า ผิดปกติหรือเป็นเนื้อตาย แพทย์จะผ่าตัดเพื่อกำจัดลูกอัณฑะออก
ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่ไม่ทำให้เสียเลือดมากและอาการฟื้นฟูได้รวดเร็ว โดยแพทย์จะนัดหมายเพื่อติดตามอาการเป็นเวลา 1–2 สัปดาห์ ด้วยการตรวจร่างกายและอัลตราซาวด์บริเวณถุงอัณฑะและวัดระดับฮอร์โมน เพื่อสังเกตการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดและตรวจดูให้แน่ใจว่าลูกอัณฑะของผู้ป่วยคงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม มีพัฒนาการและการทำงานตามปกติ โดยผู้ที่มีภาวะอัณฑะค้างข้างเดียวจะมีการเจริญพันธุ์เกือบเป็นปกติ แต่ผู้ที่มีภาวะอัณฑะค้างทั้ง 2 ข้างจะมีประสิทธิภาพในการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 65% ทั้งนี้ การรักษาด้วยการผ่าตัดไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งอัณฑะและภาวะมีบุตรยากได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
การรักษาด้วยฮอร์โมน (Hormone Treatment)
แม้ว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาน้อยกว่าการผ่าตัด แต่อาจใช้ควบคู่กับการผ่าตัดได้ โดยแพทย์จะฉีดฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) เพื่อช่วยให้ลูกอัณฑะเคลื่อนที่ไปยังถุงอัณฑะได้
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีลูกอัณฑะฝ่อหรือเนื้อเยื่อตาย เหลือลูกอัณฑะเพียงข้างเดียว หรือไม่มีลูกอัณฑะทั้ง 2 ข้าง แพทย์จะรักษาด้วยการฝังลูกอัณฑะเทียมในช่วงวัยเด็กโตหรือในช่วงวัยรุ่น เพื่อให้ถุงอัณฑะมีลักษณะคล้ายปกติ และอาจส่งต่อการรักษาไปที่ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาด้วยฮอร์โมนในอนาคต ซึ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นและพัฒนาการด้านกายภาพ
การดูแลที่บ้าน
หลังการรักษาด้วยการผ่าตัด ผู้ปกครองควรตรวจดูลูกอัณฑะของเด็กอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าลูกอัณฑะมีพัฒนาการที่เป็นปกติ โดยอาจสังเกตได้ขณะเปลี่ยนผ้าอ้อมหรืออาบน้ำ เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยแรกรุ่นควรพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอธิบายวิธีการตรวจดูตำแหน่งลูกอัณฑะด้วยตนเอง
นอกจากนี้ การไม่มีลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างอาจส่งผลต่อความมั่นใจและสร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของผู้ป่วยได้ ผู้ปกครองอาจลองทำตามคำแนะต่อไปนี้
- พูดคุยเกี่ยวกับลูกอัณฑะและถุงอัณฑะโดยใช้คำพูดอย่างเหมาะสม
- อธิบายเกี่ยวกับความผิดปกติบริเวณดังกล่าวและย้ำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่มีความรุนแรงหรือเป็นอันตราย
- พูดคุยเกี่ยวกับทางเลือกในการฝังลูกอัณฑะเทียม
- แนะนำให้ผู้ป่วยสวมใส่กางเกงบ็อกเซอร์ทรงหลวม เพื่อพรางไม่ให้ผู้อื่นเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนหากต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าพร้อมผู้อื่น
- เฝ้าระวังอาการวิตกกังวลและความรู้สึกอายของผู้ป่วยอยู่เสมอ
ภาวะแทรกซ้อนของอัณฑะค้าง
หากลูกอัณฑะอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติและไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น
- โรคมะเร็งอัณฑะอาจจะเกิดขึ้นได้ในเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตอสุจิที่ยังโตไม่เต็มที่
- ภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากลูกอัณฑะมีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ มีปริมาณอสุจิต่ำหรืออสุจิผิดปกติ และอาการอาจแย่ลงหากไม่ได้รับการรักษา
- ภาวะอัณฑะบิดขั้ว (Testicular Torsion) เป็นการบิดตัวของเส้นเลือด เส้นประสาทและท่อนำอสุจิจากลูกอัณฑะไปยังอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นอาการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและทำให้เลือดไม่ไหลเวียนไปยังลูกอัณฑะ
- ภาวะไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal Hernia) ในกรณีที่ช่องว่างระหว่างช่องท้องและขาหนีบหย่อนจนลำไส้ถูกดันไปยังบริเวณขาหนีบ
- ลูกอัณฑะได้รับความเสียหายเนื่องจากแรงดันในช่องท้องกับกระดูกเชิงกราน ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรง
การป้องกันอัณฑะค้าง
ภาวะอัณฑะค้างไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติบริเวณลูกอัณฑะได้ด้วยการสังเกตบริเวณอวัยวะเพศชายอย่างสม่ำเสมอ และควรสร้างความรู้ความเข้าใจถึงวิธีการตรวจหาความผิดปกติบริเวณถุงอัณฑะด้วยตนเองในช่วงวัยรุ่น เพื่อช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ในบางรายที่เข้ารับการผ่าตัดภาวะอัณฑะค้างแล้ว ควรพบแพทย์ตามนัดหลังการผ่าตัดเพื่อให้แน่ใจว่าลูกอัณฑะอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม