อันตรายจากเล็บปลอม ความสวยคู่ความเสี่ยง

การต่อเล็บปลอมหรือติดเล็บปลอมเป็นวิธีที่สาว ๆ นิยมทำ เพราะสามารถตกแต่งเล็บให้สวยงามตามต้องการ แต่ก็แฝงไปด้วยอันตรายหากไม่ระวัง ซึ่งอันตรายจากเล็บปลอมอาจเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น แพ้สารเคมีในการทำเล็บ เล็บเปราะง่ายจากการทำเล็บบ่อย รวมทั้งการติดเชื้อ ส่งผลให้เล็บจริงได้รับความเสียหาย 

เล็บปลอมมี 3 ประเภท ได้แก่ เล็บอะคริลิก (Acrylic) ซึ่งทำจากผงอะคริลิกโพลิเมอร์ (Acrylic Polymers) ผสมกับน้ำยา ทิ้งไว้จนกลายเป็นเจลและนำมาติดที่เล็บจริง เล็บเจล (Gels) ซึ่งใช้น้ำยาทาเล็บแบบสีเจลมาทาที่เล็บและอบสีเจลให้แห้งด้วยเครื่องอบเล็บรังสียูวี (UV) และเล็บปลอมสำเร็จรูปที่ทำจากพลาสติกซึ่งสามารถซื้อมาติดได้เอง 

3713-อันตรายจากเล็บปลอม

ผู้ที่รักการต่อเล็บปลอมมีข้อควรระวังก่อนและหลังการทำที่ควรรู้ มาดูกันว่าอันตรายจากเล็บปลอมแต่ละชนิดมีอะไรบ้าง และจะป้องกันไม่ให้เล็บเสียได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

อันตรายจากเล็บปลอมที่ควรระวัง

อันตรายจากเล็บปลอมที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

1. อาการแพ้

อันตรายจากเล็บปลอมที่พบได้บ่อยคือการแพ้สารเคมีที่ใช้ในการทำเล็บ เช่น น้ำยาอะซีโตน (Acetone) ซึ่งเป็นน้ำยาที่ใช้ในการถอดเล็บอะคริลิกและเล็บเจล ผู้ที่ทำเล็บเจลและเล็บอะคริลิกต้องแช่นิ้วมือในน้ำยาอะซีโตนอย่างน้อย 10 นาที เพื่อให้เล็บปลอมอ่อนตัวลงและถอดออกได้ง่าย สารเคมีในน้ำยาอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ เล็บบวมแดงและมีตุ่มหนอง

นอกจากนี้ ผู้ที่ซื้อเล็บปลอมสำเร็จรูปมาติดเองอาจเกิดอาการแพ้จากการใช้กาวติดเล็บ ซึ่งมีส่วนประกอบของเอทิลไซยาโนอะคริเลต (Ethyl Cyanoacrylates) เป็นสารที่ใช้ยึดเกาะชนิดแห้งเร็วที่ผสมในกาวสำหรับติดเล็บปลอมหรือกาวติดขนตาปลอม

ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง เยื่อบุตา ทางเดินหายใจ และอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อสารเคมีและไอระเหย

2. เล็บอ่อนแอและเปราะง่าย

นอกจากทำให้เกิดอาการแพ้ การทำเล็บปลอมประเภทเจลและอะคริลิก ช่างทำเล็บจะต้องตะไบหน้าเล็บเพื่อให้ผิวเล็บขรุขระเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยให้สีทาเล็บและเล็บอะคริลิกยึดเกาะกับเล็บจริงได้ดีขึ้น รวมทั้งการแช่นิ้วมือในน้ำยาอะซีโตนเพื่อให้ถอดเล็บอะคริลิกหรือล้างสีเล็บออกได้ง่าย อาจทำให้ผิวแห้ง เล็บฉีก เปราะบาง และหักง่าย

การทำเล็บบ่อย ๆ อาจทำให้เล็บของเราอ่อนแอได้เช่นกัน เพราะโดยปกติแล้วเล็บอะคริลิกและเล็บเจลมักอยู่ได้นานประมาณ 2–3 สัปดาห์ หากต้องการให้เล็บสวยงามดังเดิมต้องให้ช่างทำเล็บเติมสีบริเวณโคนเล็บ การสัมผัสน้ำยาทาเล็บและสารเคมีในการทำเล็บจึงมีโอกาสทำให้เล็บเปราะหักง่ายขึ้น

3. รังสียูวี

การทำเล็บปลอมชนิดเล็บเจลต้องอบสีทาเล็บให้แห้งด้วยเครื่องอบเล็บเจลที่ใช้รังสียูวี แม้รังสียูวีจากเครื่องอบเล็บเจลจะมีความเข้มข้นของรังสีต่ำและไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง แต่การสัมผัสรังสียูวีเป็นเวลานานอาจทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอ เกิดจุดด่างดำ และริ้วรอยได้ 

4. การติดเชื้อ

การติดเชื้อที่เล็บเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หากช่างทำเล็บต่อเล็บอะคริลิกไม่แน่นหรือไม่แนบสนิทไปกับเล็บจริง อาจทำให้เกิดรอยต่อระหว่างเล็บอะคริลิกและเล็บจริงได้ ซึ่งอาจทำให้ความชื้นเข้าไปสะสมและเกิดเชื้อราที่เล็บได้ 

หากเล็บปลอมได้รับแรงกระแทกอาจทำให้เล็บจริงเคลื่อนออกจากเนื้อเยื่อใต้เล็บ (Nail Bed) ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่น ๆ นอกจากนี้ การใช้อุปกรณ์ทำเล็บที่ไม่สะอาดหรือการนำเล็บที่หลุดออกไปแล้วมาติดทับใหม่โดยไม่ทำความสะอาด อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อราและแบคทีเรีย ซึ่งอาจเจริญเติบโตระหว่างชั้นเล็บจนทำให้ผิวหนังอักเสบได้

ในช่วงแรกของการติดเชื้ออาจไม่มีอาการ แต่เมื่อติดเชื้อไประยะหนึ่ง เล็บจะมีลักษณะหนาตัวขึ้น สีเล็บเปลี่ยนไป คันผิวหนังบริเวณเล็บ และเล็บแยกตัวออกมาจากฐานเล็บ

หากสังเกตเห็นอาการติดเชื้อควรถอดเล็บอะคริลิกออก ล้างเล็บด้วยสบู่และน้ำ และควรหลีกเลี่ยงการทำเล็บจนกว่าจะหายดี เพราะการทำเล็บขณะมีอาการติดเชื้อจะยิ่งทำให้เล็บเสียหายรุนแรงขึ้น หากอาการติดเชื้อไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

ป้องกันอันตรายจากเล็บปลอมได้อย่างไร

หากต่อเล็บปลอมที่ร้าน ควรเลือกร้านทำเล็บที่จดทะเบียนถูกต้อง บริเวณร้านและอุปกรณ์ทำเล็บควรผ่านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ และเลือกช่างทำเล็บที่ผ่านการอบรมและมีใบอนุญาต 

ทั้งนี้ ควรบอกให้ช่างหลีกเลี่ยงการตัดแต่งบริเวณจมูกเล็บซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากทำเล็บเจล ควรเลือกร้านทำเล็บที่ใช้เครื่องอบเล็บที่ใช้แสง LED แทนเครื่องอบแสงยูวี และทาครีมกันแดดบริเวณมือก่อนทำเล็บเจล

หากซื้อเล็บปลอมสำเร็จรูปมาติดเองควรเลือกยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ และผู้ที่ไวต่อสารเคมีในกาวติดเล็บควรสวมผ้าปิดจมูกเมื่อทำเล็บ เพื่อป้องกันการสูดดมสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง 

อันตรายจากเล็บปลอมมีตั้งแต่อาการไม่รุนแรงไปจนถึงอาการรุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อเล็บและผิวหนังโดยรอบ ทั้งนี้ ไม่ควรทำเล็บบ่อยเกินไปและพักการทำเล็บเป็นระยะ เพื่อลดความเสี่ยงของการสัมผัสสารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคืองและทำให้เล็บอ่อนแอ