อันตรายจากโรคเนื้อเน่า รู้จักสัญญาณและการป้องกัน

โรคเนื้อเน่า (Necrotizing Fasciitis) หรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน (Soft Tissue) ที่อยู่ระหว่างชั้นผิวหนังและกล้ามเนื้อ ส่งผลให้บริเวณที่ติดเชื้อเกิดการอักเสบอย่างรุนแรงและเน่าในที่สุด แม้เป็นโรคที่พบได้น้อย แต่อาจร้ายแรงจนต้องตัดอวัยวะเพื่อยับยั้งการลุกลามของเชื้อ หรือผู้ป่วยบางรายอาจเสียชีวิตได้

อาการของโรคเนื้อเน่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียปล่อยสารพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งสาเหตุการติดเชื้อมักมาจากการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นแผลขนาดเล็ก แผลขนาดใหญ่ แผลถลอก แผลไฟไหม้ รอยขีดข่วนจากสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงการถูกแมลงกัดต่อยก็อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่แผลและเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน

โรคเนื้อเน่า

สัญญาณและอาการของโรคเนื้อเน่า

เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคเนื้อเน่ามักลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยสัญญาณของโรคเนื้อเน่าที่พบในช่วงแรกอาจเป็นรอยแผลขนาดเล็ก ผิวหนังบริเวณดังกล่าวจะมีอาการบวมแดง อักเสบ มีอาการปวดที่รุนแรงกว่าปกติเมื่อเทียบกับขนาดของแผล อีกทั้งอาจมีไข้สูงและรู้สึกหนาวสั่นร่วมด้วย 

เมื่อผ่านไปหลายชั่วโมงหรือหลายวัน เชื้ออาจลุกลามจนทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำและเป็นแผลพุพอง ผู้ป่วยอาจมีอาการถ่ายเหลวและอาเจียน ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ช็อก ไตวาย และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ค่อนข้างสูง ดังนั้น หากพบสัญญาณหรืออาการที่เข้าข่ายโรคนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากการวินิจฉัยโรคมักมีความซับซ้อนและจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

โรคเนื้อเน่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคเนื้อเน่าสามารถพบได้ในพื้นที่ที่ขาดสุขอนามัย โดยแบ่งออกเป็นหลายชนิดและแต่ละชนิดอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันไป หากร่างกายเกิดแผล ทั้งแผลมีดบาด แผลถลอก แผลไหม้ แผลผ่าตัด รอยเข็มฉีดยา แล้วไปสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียจากพื้นที่ที่สกปรกเข้าหรือไม่ดูแลรักษาความสะอาดของแผลก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น นอกจากนี้ การถูกแมลงกัดต่อย โดนสัตว์เลี้ยงกัดและข่วนก็อาจทำให้ติดเชื้อได้ เพราะสัตว์และแมลงมักมีเชื้อแบคทีเรียปะปนอยู่

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อตามมา เช่น

  • ฤดูกาล ความเสี่ยงของโรคนี้มักเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน
  • การทำความสะอาดแผลอย่างไม่เหมาะสมและไม่ถูกสุขอนามัย
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันต่ำจากโรคหรือการใช้ยา เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไต โรคตับ โรคมะเร็ง การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

โรคเนื้อเน่าสามารถป้องกันได้หรือไม่ ?

เนื่องจากสาเหตุหลักของโรคมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียผ่านทางแผล หากมีบาดแผลไม่ว่าจะรูปแบบใด ควรทำความสะอาดและดูแลแผลอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำดังนี้

  • ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที หากมีแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ สามารถใช้สำลีชุบแล้วทำความสะอาดบริเวณรอบแผลได้ แต่ห้ามใช้แอลกอฮอล์ทาหรือเช็ดแผลโดยตรง
  • หากเป็นแผลลึก หลังล้างด้วยวิธีข้างต้นแล้วควรไปสถานพยาบาลทันที
  • หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลหรือทำความสะอาดบาดแผล ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง
  • หากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงกัด ควรไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากในน้ำลายและเล็บของสัตว์นั้นเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคหลายชนิดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง
  • ควรรักษาความสะอาดร่างกายอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ อย่างการล้างมือด้วยสบู่และการอาบน้ำ

สำหรับผู้ติดเชื้อโรคเนื้อเน่า เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจทำความสะอาดแผลพร้อมแนะนำการดูแลแผลอย่างถูกต้อง ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดและยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรีย ในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์จำเป็นต้องตัดเนื้อหรืออวัยวะที่เน่าและติดเชื้อเพื่อไม่ให้เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ สุดท้ายนี้ การใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังอาจช่วยป้องกันการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่ทำให้เกิดแผล ซึ่งเป็นช่องทางในการติดเชื้อได้