ความหมาย อัมพาตครึ่งซีก (Hemiplegia)
อัมพาตครึ่งซีก (Hemiplegia) คือภาวะที่ร่างกายด้านใดด้านหนึ่ง เช่น แขน ขา และกล้ามเนื้อใบหน้าซีกซ้ายหรือขวาอ่อนแรง ติดแข็ง และไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคและความรุนแรงของอาการแต่ละคน ผู้ป่วยมักช่วยเหลือตัวเองได้ลำบาก และเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
อัมพาตครึ่งซีกเกิดจากความเสียหายที่สมองและไขสันหลัง เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บที่สมอง เนื้องอก การติดเชื้อ และความผิดปกติแต่กำเนิด การรักษาอัมพาตครึ่งซีกจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแต่เนิ่น ๆ เพื่อช่วยให้ฟื้นฟูอาการให้กลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุด และช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
สาเหตุของอัมพาตครึ่งซีก
สมองและไขสันหลังทำหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย หากสมองซีกใดซีกหนึ่งหรือไขสันหลังได้รับความเสียหาย จะทำให้การส่งสัญญาณสั่งการให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้เลย จึงเกิดภาวะอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งความเสียหายของสมองและไขสันหลังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
1. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะที่หลอดเลือดสมองเกิดการอุดตัน ตีบแคบ หรือฉีกขาด เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือขยับไม่ได้เลย ซึ่งความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอัมพาตครึ่งซีกทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กมักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด และโรคทางพันธุกรรมเกี่ยวกับระบบเลือด
ส่วนในผู้ใหญ่ โรคหลอดเลือดสมองอาจเกิดจากการมีไขมันเกาะที่ผนังหลอดเลือด เนื่องจากความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน และพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก การไม่ออกกำลังกาย
2. การกระทบกระเทือนที่สมองและไขสันหลัง
การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจากการหกล้มหัวฟาดพื้น การถูกตีหรือกระแทกที่ศีรษะหรือกระดูกสันหลังบริเวณต้นคออย่างรุนแรงจากการเล่นกีฬา การถูกทำร้ายร่างกาย หรือรถชน อาจทำให้มีเลือดออกในสมอง สมองซีกใดซีกหนึ่งหรือไขสันหลังได้รับความกระทบกระเทือน จนเกิดภาวะอัมพาตครึ่งซีกได้
3. เนื้องอกในสมอง
เนื้องอกในสมอง โดยเฉพาะการเกิดเนื้องอกบริเวณสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหว อาจทำให้เกิดอัมพาตครึ่งซีกได้ ยิ่งเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น จะยิ่งกดทับและทำให้เกิดความเสียหายต่อสมอง และทำให้อาการอัมพาตครึ่งซีกรุนแรงขึ้น
4. การติดเชื้อที่สมอง
การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่สมองซีกใดซีกหนึ่ง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) และไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) อาจทำให้เกิดอัมพาตครึ่งซีกได้
สาเหตุอื่น ๆ
ความเสียหายของสมองอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- ภาวะสมองพิการ ซึ่งมักเกิดกับทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) เป็นโรคทางระบบประสาท ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของสมองและไขสันหลัง
- โรคใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก (Bell's Palsy)
- โรคสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) ซึ่งเป็นความพิการของไขสันหลังของทารกแต่กำเนิด
- ความผิดปกติของพันธุกรรมในเด็ก จากการกลายพันธุ์ของยีน ATP1A3 ซึ่งทำให้เกิดอาการอัมพาตครึ่งซีกในลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ
อาการอัมพาตครึ่งซีก
อาการอัมพาตครึ่งซีกจัดอยู่ในกลุ่มโรคอัมพาต (Paralysis) ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นกับร่างกายเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง โดยอาการจะเกิดขึ้นตรงข้ามกับสมองซีกที่ได้รับผลกระทบ เช่น หากสมองซีกขวาได้รับความเสียหาย จะเกิดอาการอัมพาตครึ่งซีกกับร่างกายด้านซ้าย
อาการอัมพาตครึ่งซีกคล้ายกับกล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีก (Hemiparesis) แต่จะแตกต่างกันตรงที่ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีกมักจะมีอาการชาหรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อบางส่วน แต่ยังพอมีความรู้สึกและเคลื่อนไหวได้ ส่วนอัมพาตครึ่งซีกมักทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่า จนอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขยับร่างกายซีกที่มีอาการได้เลย
อาการและความรุนแรงของอาการอัมพาตครึ่งซีกจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น
- กล้ามเนื้อของร่างกายด้านใดด้านหนึ่งเกิดอาการอ่อนแรง หดเกร็ง ติดแข็ง และไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวเองได้
- เดินลำบาก ทรงตัวไม่ได้ หยิบจับหรือถือของได้ยาก
- รับรู้ความรู้สึกบริเวณร่างกายด้านที่มีอาการได้น้อย หรือไม่ได้เลย
- พูดลำบาก พูดไม่ชัด กลืนอาหารลำบาก
- กระสับกระส่าย สับสน มีปัญหาด้านความคิด ความจำ และไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
- มีปัญหาด้านการมองเห็น
- มีอาการชัก
- อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้า และแยกตัวจากสังคม
- ในเด็กอาจมีพัฒนาการล่าช้า เช่น เริ่มเดินได้ช้า เรียนรู้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน เดินเขย่งปลายเท้าข้างหนึ่ง กำมือข้างใดข้างหนึ่งไว้ หรือชอบใช้มือข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า
อัมพาตครึ่งซีกมีหลายประเภท เช่น ใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก (Facial Hemiplegia) อัมพาตครึ่งซีกชนิดหดเกร็ง (Spastic Hemiplegia) และอัมพาตครึ่งซีกจากความเสียหายอย่างรุนแรงที่ไขสันหลัง (Brown-sequard Syndrome/Spinal Hemiplegia) เป็นต้น
อาการอัมพาตครึ่งซีกที่ควรไปพบแพทย์
หากมีอาการใด ๆ ที่บ่งบอกอาการอัมพาตครึ่งซีก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้อาการรุนแรงจนส่งผลให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อีก
นอกจากนี้ อัมพาตครึ่งซีกมักเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
- มีอาการชาที่ใบหน้า มือ แขน ขาด้านใดด้านหนึ่ง
- หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว
- มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง ตาพร่า มองไม่ชัด
- แขนอ่อนแรง ยกแขนไม่ขึ้น
- พูดไม่ชัด พูดไม่คล่อง มีอาการสับสน
- ปวดหัวอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
การวินิจฉัยอัมพาตครึ่งซีก
แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพ ตรวจร่างกายเบื้องต้น นอกจากนี้ อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
ตรวจการทำงานของระบบประสาท
การตรวจการทำงานของระบบประสาทมีหลายวิธี เช่น ตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหว เช่น ตรวจการทรงตัวขณะเดินว่ามีความมั่นคงหรือไม่ ให้ผู้ป่วยลองเขียนคำหรือประโยค เพื่อตรวจความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อมือและแขน และการใช้ค้อนยาง หรือวัตถุอื่น เช่น คอตตอนบัด และก้อนน้ำแข็ง วางบนผิวหนังด้านที่มีอาการ เพื่อทดสอบปฏิกิริยาการตอบสนองและประสาทสัมผัส
การตรวจโดยอ่านผลจากภาพ (Imaging Tests)
แพทย์อาจตรวจดูความเสียหายของสมองและไขสันหลังด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีที สแกน (CT Scan)
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI)
- การตรวจระบบประสาทไขสันหลัง (Myelography) โดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในช่องน้ำไขสันหลัง และถ่ายภาพเอกซเรย์ หรือซีที สแกน เพื่ออ่านผล
การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG)
การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อใช้ตรวจหาความผิดปกติของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ โดยใช้เข็มขนาดเล็กทิ่มผ่านผิวหนังไปยังกล้ามเนื้อ และตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าภายในกล้ามเนื้อ
การตรวจเลือด
การตรวจเลือดจะใช้เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของเลือดที่อาจทำให้เกิดอัมพาตครึ่งซีก เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน การติดเชื้อ หรือตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
การรักษาอัมพาตครึ่งซีก
อัมพาตครึ่งซีกเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไปตลอดชีวิต และสาเหตุส่วนใหญ่ของอัมพาตครึ่งซีกมักทำให้เกิดความเสียหายถาวรต่อระบบประสาท อย่างไรก็ตาม อาการของโรคจะไม่แย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้อาการดีขึ้น และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ซึ่งวิธีการรักษาจะแตกต่างกันตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยอาจใช้วิธีรักษาหลายวิธีร่วมกัน เช่น
กายภาพบำบัด
กายภาพบำบัดเป็นการรักษาอัมพาตครึ่งซีกด้วยการออกกำลังกายและยืดเส้น เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยปรับท่าทางของผู้ป่วย ฟื้นฟูความสามารถในการทรงตัวและการเคลื่อนไหว และช่วยยืดกล้ามเนื้อของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกชนิดหดเกร็งได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติได้มากที่สุด
Modified Constraint-Induced Movement Therapy (mCIMT)
CIMT เป็นวิธีการรักษาด้วยการจำกัดการเคลื่อนไหวของร่างกายด้านที่แข็งแรง เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อและฝึกการเคลื่อนไหวของร่างกายด้านที่อ่อนแรงให้ออกแรงทำงานทดแทนด้านที่เป็นปกติ
การใช้อุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนไหว
แพทย์อาจให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการเคลื่อนไหว เช่น อุปกรณ์ช่วยพยุง (Brace) ไม้เท้า อุปกรณ์ช่วยเดิน 4 ขา (Walker) วีลแชร์ เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงและเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคงขึ้น
การผ่าตัด
การผ่าตัดอาจใช้ในการรักษาผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกที่เกิดจากบางสาเหตุ เช่น การผ่าตัดนำเนื้องอกในสมองออก หรือผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ที่มีภาวะเลือดออกในสมอง
การใช้ยา
สาเหตุหลักของการเกิดอัมพาตครึ่งซีกคือโรคหลอดเลือดสมอง แพทย์อาจสั่งจ่ายยารักษาโรคหลอดเลือดสมองตามประเภทของโรคหลอดเลือดสมองที่ผู้ป่วยแต่ละคนเป็น เช่น
- โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) แพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด เช่น Tissue Plasminogen Activator หรือ tPA เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดสมอง
- โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke) แพทย์อาจให้ยาลดความดันโลหิต และยาที่ช่วยยับยั้งการมีเลือดออกในสมอง
นอกจากนี้ แพทย์อาจจ่ายยาที่ช่วยรักษาภาวะอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของอัมพาตครึ่งซีก เช่น ยาฆ่าเชื้อไวรัส และยาปฏิชีวนะ กรณีที่มีโรคจากการติดเชื้อ
การบำบัดอื่น ๆ
การบำบัดอื่น ๆ ที่อาจใช้รักษาผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก เช่น การบำบัดการพูด (Speech Therapy) สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดไม่ชัด และการกลืนอาหาร และกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) คือการฟื้นฟูทักษะการทำงานของกล้ามเนื้อ เพื่อให้ทำกิจวัตรประจำวัน การเข้าสังคม และการทำงานได้ดีขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของอัมพาตครึ่งซีก
ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างตามมา เช่น
- โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกที่เคยมีประวัติเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตกมาก่อน จะเสี่ยงต่อการเกิดอาการซ้ำได้มากขึ้น
- โรคหัวใจ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นอัมพาตครึ่งซีกอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจในวัยผู้ใหญ่ได้
- ปัญหาในการควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะไม่สุด และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบเลือด เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) ภาวะความดันโลหิตสูงเฉียบพลัน และการติดเชื้อในกระแสเลือด
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
- โรคลมชัก (Epilepsy) และอาการชัก เนื่องจากอาการบาดเจ็บหรือความผิดปกติของสมอง
- แผลกดทับจากการนั่งหรือนอนเป็นเวลานาน
- โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล
การป้องกันอัมพาตครึ่งซีก
อัมพาตครึ่งซีกเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน จึงไม่มีวิธีป้องกันได้โดยตรง แต่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของอัมพาตครึ่งซีกได้ ดังนี้
ป้องกันการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ
ควรป้องกันการบาดเจ็บที่อาจกระทบต่อสมองและไขสันหลัง เช่น ใส่หมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย หรือสวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อเล่นกีฬา อยู่ในสถานที่ที่มีการก่อสร้าง และขณะขับขี่ยานพาหนะทุกครั้ง
ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และธัญพืชขัดสีน้อย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และออกกำลังกายเป็นประจำ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมอง
รักษาโรคประจำตัว
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง ควรตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอล และความดันโลหิตเป็นประจำ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง และไปพบแพทย์ตามนัด
ป้องกันการติดเชื้อ
การติดเชื้อโรคบางอย่างที่อาจเป็นสาเหตุของอัมพาตครึ่งซีก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไข้สมองอักเสบ อาจป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาด ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ช้อนส้อม แก้วน้ำ ร่วมกับผู้ติดเชื้อ ระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัด และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
รวมทั้งรับวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฮิบ (Haemophilus Influenzae Type B) วัคซีน IPD (Pneumococcal Vaccine)