อาการคันผิวหนังเป็นอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย หลายคนน่าจะเคยรู้สึกไม่สบายตัวหรือระคายผิวจนอยากจะเกาให้หายคัน แต่ยิ่งเกากลับยิ่งรู้สึกคัน ดังนั้น การเข้าใจถึงสาเหตุของอาการคันผิวหนังและรักษาให้ตรงจุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากอาการคันผิวหนังอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและใช้วิธีการดูแลรักษาอาการที่แตกต่างกัน
อาการคันผิวหนังของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน บางคนอาจมีอาการคันเฉพาะบางบริเวณ แต่บางคนอาจมีอาการคันทั่วทั้งร่างกายขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ โดยส่วนมาก หากเป็นอาการคันจากการระคายเคืองทั่วไปมักทำให้เกิดตุ่ม ผื่นแดง หรืออาการอื่นที่สังเกตเห็นได้บนผิวหนัง แต่บางคนที่มีอาการคันจากโรคหรือปัญหาสุขภาพภายในอื่น ๆ อาจไม่มีอาการผิวหนังใด ๆ ให้สังเกตได้ โดยในบทความนี้ได้รวบรวมวิธีการดูแลผิวหนังที่มีอาการคันทั่วไปมาฝากกัน
สาเหตุของอาการคันผิวหนัง
อาการคันผิวหนังเป็นเรื่องใกล้ตัวและเกิดได้บ่อย โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบได้ เช่น
ผิวแห้ง
คนที่มีผิวแห้งถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการคันได้ง่ายกว่าคนที่มีสภาพผิวอื่น ๆ ซึ่งสาเหตุของผิวแห้งอาจเกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น การอยู่ในสถานที่ที่มีความชื้นต่ำหรือมีอากาศแห้ง การใช้สบู่หรือสารทำความสะอาดบ่อยครั้งเกินไป พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ความเครียด รวมไปถึงอายุที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ผิวแห้ง เนื่องจากผิวหนังจะบางลงและสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ อาการคันจากผิวแห้งมักไม่มีตุ่มหรือผื่นแดง แต่จะรู้สึกคันและผิวหนังบริเวณนั้นอาจแตกหรือลอกเป็นขุย
วิธีรักษาอาการคันจากผิวแห้งที่ได้ผลคือการใช้ผลิตภัณฑ์มอยส์เจอร์ไรเซอร์เป็นประจำหลังการอาบน้ำ เพื่อเติมความชุ่มชื้นและป้องกันการสูญเสียน้ำออกจากผิวหนัง นอกจากนี้ ควรเลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัด และหากภายในที่อยู่อาศัยมีสภาพอากาศแห้ง ควรใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ (Humidifier)
แพ้สารเคมีหรือแมลง
อาการคันผิวหนังอาจเป็นปฏิกิริยาของผิวเมื่อสัมผัสสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคือง อย่างเสื้อผ้าที่มีเนื้อหยาบ เครื่องประดับที่ทำจากโลหะผสมนิกเกิล (Nickle) ทำให้รู้สึกระคายผิวเมื่อสวมใส่ หรือเกิดอาการคันหลังจากสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น น้ำหอม แชมพู และน้ำยาทาเล็บ นอกจากนี้ อาการคันอาจเกิดจากการถูกแมลงหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น ยุง แมงมุม แมลงบนที่นอน โลน และไรฝุ่น ทำให้เกิดตุ่มนูนหรือผดผื่นได้
การบรรเทาอาการคันจากการแพ้สารเคมีหรือแมลงทำได้โดยหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ประเภทของสารเคมีหรือแมลงที่ทำให้เกิดผื่นคัน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งนั้น รวมถึงทำความสะอาดบ้านเพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่ของแมลงอย่างสม่ำเสมอ สำหรับคนที่มีผิวระคายเคืองง่าย ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยที่นุ่มสบาย อย่างผ้าไหมหรือผ้าฝ้าย จะช่วยป้องกันอาการคันผิวหนัง
ความผิดปกติของผิวหนัง
อาการคันผิวหนังอาจเกิดจากความผิดปกติบางอย่างของผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Eczerma) โรคสะเก็ดเงิน โรคหิด มีรอยไหม้หรือรอยแผลเป็นที่ผิวหนัง หรือโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) ที่มักทำให้เกิดอาการคันผิวหนังบริเวณหน้าอกและเท้า
การรักษาอาการคันจากความผิดปกติของผิวหนัง ควรได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผิวหนัง เพื่อหาสาเหตุของอาการคันที่อาจเป็นสัญญาณของโรคผิวหนังอย่างถูกต้อง และรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป
ยาบางชนิด
ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการคันผิวหนังได้ในบางบริเวณหรือทั่วทั้งร่างกาย โดยอาจไม่มีผื่นแดงบนผิวหนัง เช่น ยาสแตติน (Statin) ยาโอปิออยด์ (Opioids) หรือยารักษาโรคต่าง ๆ อย่างยาลดความดันโลหิต ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านมาลาเรีย ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาเกาต์ ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และยาปฏิชีวนะ
นอกจากนี้ อาการคันผิวหนังอาจเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับยารักษามะเร็ง อย่างยาบรรเทาปวด ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน หรือยาปรับฮอร์โมนในร่างกาย และการบำบัดรักษามะเร็ง อย่างการทำเคมีบำบัด การฉายแสง และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หากได้รับยาหรือรับการรักษาโรคมะเร็งใด ๆ อยู่ เพื่อรักษาอาการคันที่เกิดขึ้นหลังการรักษามะเร็ง
โรคประจำตัวและการตั้งครรภ์
โรคประจำตัวอาจทำให้เกิดอาการคันโดยไม่มีตุ่มหรือผื่นแดงขึ้นบนผิวหนังได้ เช่น โรคตับ โรคไต โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) ปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์ โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIVs) ในบางครั้งอาการคันอาจเกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจที่ผิดปกติ อย่างโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า
นอกจากนี้ ในหญิงตั้งครรภ์อาจมีอาการคันผิวหนังได้เช่นกัน ผลการวิจัยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ส่วนมากมีอาการคันที่บริเวณหน้าท้อง และมักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่บางกรณีพบว่าอาการคันอาจเกิดจากผิวแห้ง การขยายตัวของผิวหนัง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ และการติดเชื้อบางชนิดบนผิวหนัง ซึ่งหากมีอาการคันช่วงกลางคืนอาจรบกวนการนอนหลับและส่งผลต่อสุขภาพของแม่และเด็กได้
อาการคันผิวหนังจากโรคประจำตัวและการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม และควรรับประทานยารักษาโรคประจำตัวให้ครบถ้วนตามคำสั่งของแพทย์ เช่นเดียวกับผู้ที่มีปัญหาด้านสภาวะจิตใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาในการดูแลสุขภาพจิตควบคู่ไปกับการรักษาอาการคันทางผิวหนัง
อาการคันผิวหนังแบบใด ควรไปพบแพทย์
หากปล่อยให้อาการคันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาการคันอาจยิ่งรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดรอยแผลบนผิวหนังจากการเกา ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ผิวหนังตามมา ในกรณีที่มีอาการคันผิวหนังเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์แม้จะดูแลตนเองแล้ว ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย อย่างรู้สึกอ่อนเพลีย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีไข้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
อย่างไรก็ตาม หากยังมีอาการคันผิวหนังนานกว่า 3 เดือนหลังได้รับการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการคันที่อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่น ๆ
อาการคันผิวหนังชนิดที่มีตุ่มหรือผื่นแดง อย่างการถูกแมลงกัดหรือแพ้สารเคมี เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป สามารถดีขึ้นได้เองหลังการดูแลตนเองในเบื้องต้น ส่วนอาการคันที่ไม่มีตุ่มหรือผื่นแดงให้เห็นอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่สาเหตุที่ไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นร้ายแรงอย่างโรคมะเร็ง วิธีการรักษาที่ได้ผลคือเข้ารับการตรวจรักษาตามสาเหตุ และหมั่นดูแลตนเองอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งจะช่วยรักษาอาการคันผิวหนังให้ดีขึ้นได้