ต้อกระจก (Cataract) เป็นภาวะที่เลนส์แก้วตาเกิดความขุ่นมัวจนกระทบกับการมองเห็นตามมา โดยอาการต้อกระจกอาจเกิดขึ้นกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง หากเกิดขึ้นกับดวงตาทั้งสอง 2 ข้าง ความรุนแรงของอาการในดวงตาแต่ละข้างอาจจะแตกต่างกันได้
ต้อกระจกเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อโปรตีนและเส้นใยในเลนส์ตาเสื่อมสภาพจนเกาะตัวกัน ทำให้เลนส์ตาขุ่นมัว โดยสาเหตุที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น พันธุกรรม อุบัติเหตุ โรคทางดวงตา ประวัติการผ่าตัดดวงตา ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือดวงตาถูกแสงแดดเป็นระยะเวลานานโดยไม่ป้องกัน เป็นต้น
อาการต้อกระจกมีอะไรบ้าง
คนที่มีภาวะต้อกระจกอาจมีอาการแตกต่างกันไป แต่อาการต้อกระจกส่วนใหญ่ที่มักพบได้ เช่น
มองเห็นภาพเบลอคล้ายหมอกบัง
อาการนี้เป็นหนึ่งในอาการต้อกระจกที่พบได้ค่อนข้างบ่อย ในช่วงแรกจะสังเกตอาการได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากอาการจะเกิดขึ้นเพียงแค่เล็กน้อยก่อนจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นตามเวลา
มองเห็นตอนกลางคืนแย่ลง
เมื่อภาวะต้อกระจกเริ่มมีความรุนแรงขึ้นจะส่งผลให้การมองเห็นในตอนกลางคืนแย่ลง หรือรู้สึกว่าจำเป็นต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในตอนกลางคืน
ค่าสายตาสั้นลงอย่างรวดเร็ว
คนที่เป็นต้อกระจกอาจพบว่าค่าสายตาสั้นลงอย่างรวดเร็วจนต้องเปลี่ยนแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์อยู่บ่อย ๆ
ดวงตาไวต่อแสงผิดปกติ
เป็นอีกอาการต้อกระจกที่พบได้ค่อนข้างบ่อย บางครั้งอาจมีอาการอื่นเกิดร่วมด้วย เช่น รู้สึกเจ็บตาเมื่อมองแสงสว่าง หรือเห็นแสงวงกลมล้อมรอบดวงไฟ เป็นต้น
มองเห็นภาพซ้อน
เมื่อเลนส์ในดวงตาของผู้ป่วยเริ่มขุ่นมัวมากขึ้น ผู้ที่เป็นต้อกระจกอาจมองเห็นภาพซ้อนตามมา โดยอาจมองเห็นวัตถุเดียวเป็นสองชิ้น หรือมากกว่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะต้อกระจก
มองเห็นภาพต่าง ๆ เป็นสีออกเหลืองหรือน้ำตาล
คนที่มีอาการต้อกระจกเป็นระยะเวลานาน โปรตีนและเส้นใยในดวงตาที่เกาะตัวกันอาจเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล ทำให้ภาพที่ผู้ป่วยต้อกระจกมองเห็นจึงอาจมีสีออกเหลืองหรือน้ำตาลได้
อาการต้อกระจกรักษาอย่างไร
หากอาการต้อกระจกเป็นเพียงเล็กน้อย แพทย์อาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เลนส์ตาจะมีความขุ่นมากขึ้น ทำให้อาการของผู้ป่วยเริ่มมีความรุนแรงหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะแนะนำวิธีรักษาอาการต้อกระจกด้วยการผ่าตัด
จุดประสงค์ของแพทย์ในการผ่าตัดต้อกระจก คือการนำเลนส์ตาที่ขุ่นมัวของผู้ป่วยออก และนำเลนส์ตาเทียมใหม่เปลี่ยนให้ แต่วิธีการผ่าตัดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นอยู่กับความเหมาะสม สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ โดยวิธีผ่าตัดต้อกระจกที่แพทย์มักจะเลือกใช้ คือ
- ผ่าตัดเปิดแผลขนาดเล็กที่ดวงตาของผู้ป่วย และใช้คลื่นเสียงหรือเลเซอร์ทำให้เลนส์ตาเดิมของผู้ป่วยกระจายออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนนำออกมา แล้วค่อยนำเลนส์ตาเทียมเปลี่ยนให้
- ผ่าตัดเปิดแผลในขนาดที่ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย และนำเลนส์ตาของผู้ป่วยออกมาทั้งชิ้น ก่อนจะนำเลนส์ตาเทียมใหม่เปลี่ยนให้ผู้ป่วย
ภายหลังจากผ่าตัดเสร็จ หากไม่พบความผิดปกติใด ๆ แพทย์มักให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้เลย ในช่วงแรก ๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการทางดวงตาเล็กน้อย เช่น รู้สึกคันตา ระคายเคืองตา ดวงตาไวต่อแสง มองเห็นภาพไม่ชัด และน้ำตาไหลมาก แต่อาการมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เองในระยะเวลาประมาณ 2–3 สัปดาห์
ในกรณีที่จำเป็นต้องผ่าตัดดวงตาทั้ง 2 ข้าง แพทย์มักจะพิจารณาผ่าตัดดวงตาทีละข้าง โดยจะผ่าตัดดวงตาข้างที่สองหลังจากผ่าตัดดวงตาข้างแรกของผู้ป่วยไปแล้วไม่พบอาการข้างเคียงใด ๆ แล้ว
แม้ภาวะต้อกระจกจะพบมากในผู้สูงวัย แต่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ยังอยู่ในช่วงวัยทำงานหรือวัยเด็กได้ แต่พบได้น้อยกว่ามาก คนที่พบสัญญาณที่อาจเป็นอาการต้อกระจกในข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถประเมิน ติดตามอาการ และแนะนำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป