อาการปอดรั่ว เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่ออากาศที่ควรจะอยู่ในปอดรั่วออกไปอยู่ที่บริเวณระหว่างปอดและผนังทรวงอก ซึ่งเมื่อบริเวณดังกล่าวมีอากาศไปสะสมอยู่มาก ปอดก็จะไม่สามารถขยายตัวหรือขยายตัวได้ยากขณะหายใจเข้าและเริ่มแฟบลง
ปอดรั่ว (Pneumothorax) เป็นภาวะที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเกิดอุบัติเหตุ เกิดจากโรคอื่น ๆ ทางปอด การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์บางชนิดในกระบวนการรักษา โดยผู้ที่มีอาการปอดรั่วควรได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้ ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการปอดรั่ว
ภาวะปอดรั่วสามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่างๆ เช่น
- การเกิดอุบัติเหตุที่ปอด เช่น ถูกของแข็งหรือของมีคมทิ่มทะลุบริเวณหน้าอก
- อุบัติเหตุจากวิธีตรวจหรือรักษาทางการแพทย์บางอย่าง เช่น เกิดแผลขณะขั้นตอนตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (Biopsy)
- การเจ็บป่วยด้วยโรคปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปอดบวม โรคหืด มะเร็งปอด วัณโรค
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติดชนิดสูดดม การดำน้ำลึก หรือการอยู่ในสภาที่มีการเปลี่ยนแปลงของการกดอากาศอย่างรุนแรง อย่างการนั่งเครื่องบิน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้บางคนเกิดปอดรั่วได้ง่ายอีกด้วย เช่น ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเกิดปอดรั่ว ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่ตัวสูงและผอมมาก ๆ ผู้ที่ป่วยเป็นมาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome) และผู้ที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือในบางครั้งก็อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
ลักษณะสัญญาณของอาการปอดรั่ว
เมื่อปอดรั่ว ลักษณะอาการอาการแรก ๆ ที่ผู้ป่วยมักจะพบก็คืออาการเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะขณะหายใจเข้า ร่วมกับอาการหายใจไม่อิ่ม ซึ่งอาการมักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันที่บริเวณหน้าอกข้างที่ปอดรั่ว
ส่วนอาการปอดรั่วอื่น ๆ มักจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงหรือความเสียหายของปอดที่เกิดขึ้น โดยลักษณะอาการที่มักพบก็เช่น
- ไอแห้ง
- หายใจหอบถี่
- หัวใจเต้นเร็ว
- อ่อนเพลีย
- ผิวหนังเริ่มเปลี่ยนเป็นสีออกฟ้า
ควรทำอย่างไรเมื่อมีอาการปอดรั่ว
ผู้ที่มีอาการปอดรั่ว โดยเฉพาะผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรคปอดชนิดใด ๆ อยู่ ผู้ที่เคยเกิดปอดรั่วมาก่อน และผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงหรือหายใจไม่ออก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที แม้จะเห็นว่าอาการเริ่มดีขึ้นเอง เนื่องจากในหลาย ๆ ครั้ง แม้ผู้ป่วยภาวะปอดรั่วจะมักพบว่าอาการค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง แต่ในความเป็นจริงแล้วปอดยังมีการรั่วอยู่
นอกจากนี้ ภาวะปอดรั่วยังเป็นภาวะที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่นได้อีกมากมาย หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น ความสมดุลระหว่างความเป็นกรดและเบสในเลือดผิดปกติหรือภาวะเลือดเป็นกรด (Acidosis) หรือในบางคนก็อาจเกิดภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้
สำหรับการรักษาอาการปอดรั่ว จุดมุ่งหมายหลัก ๆ ก็คือ การลดแรงที่กดทับปอดและช่วยให้ปอดของผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนเป็นกรณีไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดปอดรั่ว เช่น การติดตามสังเกตอาการ การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์กำจัดอากาศที่กดทับปอด การให้ออกซิเจนทดแทน หรือการผ่าตัด