อาการวูบ

ความหมาย อาการวูบ

อาการวูบ เป็นอาการคล้ายหมดสติชั่วคราว มักเวียนศีรษะ รู้สึกหวิว คลื่นไส้ และอาจเห็นภาพเป็นสีขาวหรือสีดำก่อนจะวูบ นอกจากนั้น อาจรู้สึกเย็นและชื้นที่ผิวหนัง หรือเสียการควบคุมกล้ามเนื้อและล้มลงในที่สุด

อาการวูบมักมีสาเหตุจากการที่เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอในช่วงเวลาสั้น ๆ หรืออาจเกิดจากมีเนื้องอกในสมอง ระบบการทรงตัวเกิดความผิดปกติ สมองทำงานผิดปกติ หรืออาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ  

อาการวูบ

อาการวูบ

ผู้ที่มีอาการวูบจะรู้สึกคล้ายหมดสติไปชั่วขณะหนึ่งแล้วกลับมารู้สึกตัวตามปกติ บางรายอาจมีอาการวูบเพียงระยะเวลาสั้น ๆ หรือบางรายอาจหมดสติล้มลงด้วย ซึ่งมีสัญญาณเตือนดังนี้

  • คลื่นไส้ วิงเวียน
  • สับสน มึนงง ง่วงซึม
  • ปวดศีรษะ
  • พูดไม่ชัด
  • อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง อาจทำให้รู้สึกเย็นหรือชื้นขึ้นในทันที
  • ตัวเปียกชื้นไปด้วยเหงื่อโดยกะทันหัน
  • ตัวสั่น
  • รู้สึกชา
  • ผิวซีด
  • การมองเห็นผิดปกติ เช่น เห็นเป็นจุด มองเห็นแคบลง เห็นภาพไม่ชัด หรือตาดำขยาย
  • ได้ยินเหมือนเสียงมาจากที่ไกล ๆ
  • ชีพจรเต้นอ่อน
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • อ่อนเพลีย

แม้อาการวูบมักไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคหรือภาวะที่ร้ายแรง แต่ควรได้รับการตรวจประเมินโดยแพทย์ โดยเฉพาะหากพบว่าตนเองมีอาการวูบบ่อย ๆ หรือมีอาการวูบเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น ดังต่อไปนี้

  • มีอาการวูบเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง และใช้เวลานานกว่า 2 นาที ถึงจะได้สติ
  • กระเพาะหรือลำไส้เสียการควบคุม ทำให้อาเจียนหรือปัสสาวะอุจจาระราด
  • หมดสติล้มลง
  • มีอาการชักเกร็ง
  • คลำพบชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก หรือปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก
  • มีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือเบาหวาน
  • สงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์

สาเหตุของอาการวูบ

อาการวูบอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัจจัยแวดล้อม การเจ็บป่วยด้วยโรคหรือภาวะต่าง ๆ จากอารมณ์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์คับขัน อาการเจ็บปวดที่รุนแรง น้ำตาลในเลือดต่ำ การเปลี่ยนแปลงของระดับเลือดในร่างกาย หรือจังหวะการเต้นของหัวใจลดต่ำลง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการวูบได้ เช่น

  • การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างกะทันหัน เช่น ลุกขึ้นยืนเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้เลืิอดไหลลงไปที่เท้าหรือขาอย่างรวดเร็ว
  • ยืนเป็นเวลานาน
  • รู้สึกกลัว หรือเครียดอย่างรุนแรง
  • มีภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเกิดจากมีเหงื่อออกมาก อาเจียน ท้องเสีย หรือมีเลือดออก
  • ร่างกายเผชิญกับความร้อนสูงเกินไป เช่น อยู่ในสภาพอากาศร้อนจัด แออัด หรือแช่น้ำร้อนมากเกินไป
  • อ่อนเพลีย
  • กำลังตั้งครรภ์
  • ความดันต่ำ หรือหลอดเลือดขยายตัว
  • เป็นโรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต หรือยาที่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ
  • หกล้ม หรือได้รับบาดเจ็บ
  • อาการชัก หรือโรคลมบ้าหมู
  • โรคเส้นเลือดในสมองตีบชั่วคราว หรืออัมพฤกษ์
  • ภาวะง่วงมากกว่าปกติ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เวียนศีรษะ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทการทรงตัวในช่องหูชั้นใน หรือสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการทรงตัว
  • ใช้สารเสพติด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การวินิจฉัยอาการวูบ

แพทย์จะวินิจฉัยอาการวูบด้วยการซักประวัติ สอบถามลักษณะอาการ ระยะเวลาในการเกิดอาการวูบ และตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด เช่น ตรวจระบบการไหลเวียนโลหิต วัดความดันโลหิต ตรวจระบบประสาทและการทรงตัว ในบางกรณี แพทย์อาจทดสอบเพิ่มเติม ดังนี้

  • ตรวจความดันโลหิตภายใน 3 นาทีขณะผู้ป่วยยืน สำหรับผู้ป่วยที่อาจมีความดันต่ำจากการยืนหรือการเปลี่ยนท่าทาง
  • ตรวจหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Test) แพทย์จะวัดชีพจรในท่ายืน นั่ง และนอน จากนั้นผู้ป่วยจะขึ้นนอนบนเตียงโดยมีสายรัดหน้าอกผูกติดกับเตียงซึ่งถูกปรับให้เอียง 70 องศา โดยแพทย์จะคอยสังเกตบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจและระดับความดันโลหิตเป็นระยะ
  • ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจาง หรือการเปลี่ยนแปลงของเมตาบอลิกในร่างกาย
  • ตรวจน้ำตาลในเลือด ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย ผู้ป่วยจะออกกำลังกายบนลู่วิ่งหรือจักรยาน ในขณะที่เครื่องตรวจจะบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยการแปะอุปกรณ์ที่เป็นขั้วไฟฟ้าลงบนผิวหนัง เพื่อตรวจดูว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่
  • ตรวจด้วยเครื่องบันทึกอัตราและจังหวะการเต้นหัวใจแบบพกพา (Ambulatory Monitor) ผู้ป่วยจะติดขั้วไฟฟ้าจากเครื่องดังกล่าว เพื่อบันทึกรายละเอียดอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ
  • ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงตรวจและสร้างภาพโครงสร้างของหัวใจ
  • ตรวจความผิดปกติของการไหลเวียนเลือด เป็นการตรวจการไหลเวียนเลือดและความดันของเลือดในหลอดเลือดแดงในขณะที่หัวใจบีบตัวและสูบฉีดเลือด โดยผู้ป่วยจะถูกฉีดสารกัมมันตภาพรังสีเข้าทางหลอดเลือดดำ (Tracer) จากนั้นจึงฉายภาพแสดงลักษณะของหลอดเลือดประกอบการวินิจฉัย

นอกจากนั้น แพทย์อาจตรวจการทำงานของสมองเพิ่มเติม เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ตรวจเส้นเลือดสมองหรือหาความผิดปกติของสมองด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอสมอง (MRI) ส่วนการตรวจอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

การรักษาอาการวูบ

อาการวูบอาจดูแลรักษาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

การดูแลตนเองหรือคนใกล้ชิด

  • ผู้ป่วยต้องเข้าใจลักษณะอาการ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น  การยืนอยู่ในสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน หรือแช่อยู่ในน้ำร้อน
  • เมื่อเกิดอาการให้นอนลงแล้วยกเท้าสูงวางบนเก้าอี้หรือกำแพง หรือนั่งลง แล้วก้มศีรษะต่ำอยู่ระหว่างหัวเข่า โดยให้นั่งลงบนส้นเท้า เพื่อช่วยให้หลอดเลือดดำที่แขนขาไหลเวียนและหมุนเวียนเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง
  • เมื่อรู้สึกดีขึ้นแล้ว ให้ผู้ป่วยค่อย ๆ ลุกขึ้นอย่างระมัดระวัง หากมีอาการวูบอีกครั้ง ให้ทำตามวิธีข้างต้นซ้ำอีก
  • ยกหัวเตียงให้สูงขึ้น โดยอาจใช้สิ่่งของวางที่ขาเตียง หรือใช้หมอนเสริมยกศีรษะให้สูงขึ้น
  • การฝึกไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback Training) เป็นการฝึกควบคุมการทำงานของร่างกายโดยการชูแขนสูงหรือขกยาสูง ซึ่งจะช่วยให้ระบบในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

การรักษามักขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการวูบ และมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้เกิดอาการวูบขึ้นอีก โดยแพทย์อาจรักษาตามขั้นตอนรวมทั้งแนะนำวิธีรักษาที่ควรปฏิบัติ ดังนี้

  • เปลี่ยนแปลงการรับประทานอาหาร โดยแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง รับประทานเกลือ โซเดียม และโพแทสเซียมให้มากขึ้น ดื่มน้ำมาก ๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • สวมใส่เสื้อผ้าหรือถุงน่องที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น
  • ให้ยารักษา หรือปรับยาที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ โดยแพทย์จะพิจารณาและเลือกใช้ยาตามสาเหตุที่ทำให้มีอาการวูบ
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ แพทย์จะรักษาโรคหัวใจตามประเภทต่างๆ เช่น หากหัวใจเต้นผิดจังหวะแพทย์อาจใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า (Implantable Cardiac Defibrillator: ICD) เพื่อช่วยให้อัตราการเต้นหัวใจเป็นปกติ ส่วนขั้นตอนการรักษาอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนของอาการวูบ

อาการวูบมักส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเนื่องจากคาดเดาไม่ได้ จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุตามมา เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บหรือเสี่ยงเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่เกิดอาการวูบบ่อย ๆ หรืออยู่ในภาวะเสี่ยงเกิดอาการวูบซึ่งคาดเดาไม่ได้ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย เช่น การขับรถ การใช้เครื่องจักร และการเล่นกีฬาทางน้ำ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนจากอาการวูบมักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และส่งผลกระทบให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เช่น

  • สูญเสียความมั่นใจ
  • คล่องตัวน้้อยลง เคลื่อนไหวลำบาก
  • เสียการทรงตัวหรือล้มลง ซึ่งอาจทำให้กระดูกแตกหักง่าย
  • กลัวการหกล้ม
  • เป็นโรคซึมเศร้า

อย่างไรก็ตาม หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมก็อาจช่วยควบคุมอาการได้ โดยผู้ที่เคยมีอาการวูบมักเสี่ยงเกิดซ้ำอีกเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอาการครั้งต่อไปจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสาเหตุของอาการวูบ เพศ อายุ และปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ของผู้ป่วย

การป้องกันอาการวูบ

หากอาการวูบเกิดจากสาเหตุที่ระบุได้ อาจป้องกันอาการวูบได้ และปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้เพื่อหลีกเลี่ยงอาการวูบ เช่น

  • หลีกเลี่ยงสภาพอากาศร้อน และอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศเพียงพอ
  • หากมีเลือดค้างอยู่ที่เท้าหรือขา ผู้ป่วยควรยืดเหยียดบริหารขา หรือใส่ถุงเท้าเพิ่มการไหลเวียนเลือดภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • ควรดื่มน้ำในปริมาณมาก ๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดอาการ หรือเมืื่อเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ เช่น หลังออกกำลังกาย อาเจียน หรือท้องเสีย
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด
  • หากมีอาการป่วยหรือโรคประจำตัวที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการวูบ เช่น ความดันโลหิตต่ำ หรือโรคหัวใจ ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อรักษาควบคุมอาการอยู่เสมอ