อาการเนื้องอกในสมองเกิดขึ้นเมื่อเซลล์สมองหรือบริเวณใกล้เคียง เช่น ต่อมใต้สมอง ต่อมไพเนียล เจริญเติบโตผิดปกติ โดยเนื้องอกในสมองอาจเป็นได้ทั้งมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง อีกทั้งยังอาจส่งผลให้สมองได้รับความเสียหายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น การรู้จักอาการเนื้องอกในสมองอาจช่วยให้สังเกตเห็นอาการได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และช่วยให้ได้รับการรักษาเร็วยิ่งขึ้น
เนื้องอกในสมองสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้คนทุกวัย แต่มักพบได้บ่อยในเด็กและผู้สูงอายุ โดยในปัจจุบัน สาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกในสมองนั้นยังไม่ชัดเจน แต่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น เคยผ่านการสัมผัสรังสี หรือป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ เช่น โรคทูเบอรัส สเคลอโรซิส (Tuberous sclerosis) กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner's syndrome)
รู้จักอาการเนื้องอกในสมองที่ไม่ควรมองข้าม
อาการเนื้องอกในสมองอาจเกิดขึ้นเมื่อก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่และกดทับบริเวณสมอง โดยอาการอาจแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น บริเวณที่เกิดเนื้องอก ขนาด ความเร็วในการเจริญเติบโตของเนื้องอก อย่างไรก็ตาม บางรายอาจไม่แสดงอาการเนื้องอกในสมอง หากก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กมาก
โดยผู้ที่มีอาการเนื้องอกในสมองอาจมีอาการต่าง ๆ ที่สามารถพบได้ เช่น
- ปวดศีรษะบ่อยและอาจค่อย ๆ รุนแรงยิ่งขึ้น โดยมักปวดศีรษะอย่างรุนแรงในตอนเช้า ขณะไอ ขณะเกร็งตัว หรืออาจรู้สึกปวดศีรษะจนทำให้ตื่นกลางดึก
- ความจำไม่ดี มีปัญหาเกี่ยวกับการคิด
- พูดจาติดขัด ไม่สามารถเข้าใจคำพูดในสิ่งที่ผู้อื่นพูด
- วิงเวียนศีรษะ หรือมีอาการบ้านหมุน
- คลื่นไส้ อาเจียน และง่วงซึม
- นิสัยหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป
- อ่อนเพลีย อ่อนแรง และไม่สามารถขยับร่างกายด้านใดด้านหนึ่งได้
- การมองเห็นผิดปกติ เช่น มองเห็นไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน หรือสูญเสียการมองเห็นด้านข้าง
- มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน
- สูญเสียการทรงตัว
- มีอาการชัก หมดสติ
ในบางกรณี เนื้องอกในสมองอาจทำให้หมดสติ และอาจนำไปสู่อาการโคม่า ซึ่งเป็นอาการรุนแรงที่ผู้ที่มีเนื้องอกในสมองอาจไม่รู้สึกตัวหรือสูญเสียการรับรู้สิ่งรอบข้างเป็นเวลานาน โดยโคม่าเป็นอาการที่อันตรายและจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากแพทย์
นอกจากนี้ อาการเนื้องอกในสมองที่ไม่ใช่มะเร็งส่วนใหญ่มักแสดงอาการอย่างช้า ๆ และมักมีอาการเพียงเล็กน้อย จนอาจไม่ทันสังเกตเห็นอาการในช่วงแรก ในขณะเดียวกัน เนื้องอกในสมองที่เป็นมะเร็งส่วนใหญ่มักแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน และมีอาการรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว
วิธีรับมืออาการเนื้องอกในสมองก่อนเกิดอันตราย
หากมีอาการปวดศีรษะบ่อย ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีอาการปวดศีรษะแตกต่างไปจากปกติ หรือมีอาการใด ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของอาการเนื้องอกในสมอง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และทำการรักษาก่อนที่เนื้องอกในสมองจะมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีความดันภายในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น สมองได้รับความเสียหาย เลือดออกในสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
แพทย์อาจวินิจฉัยอาการเนื้องอกในสมองด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การตรวจร่างกาย การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือซีที สแกน (CT Scan) บริเวณสมอง การตรวจทางระบบประสาท (Neurological Examination) อีกทั้งแพทย์ยังอาจทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจดูว่าเนื้องอกในสมองเป็นเนื้อมะเร็งหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
โดยแพทย์อาจวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น ชนิด ขนาด และบริเวณที่เกิดเนื้องอก สุขภาพโดยรวมของผู้ที่มีอาการเนื้องอกในสมอง โดยเนื้องอกในสมองทั้งที่เป็นมะเร็งและไม่ใช่มะเร็งมักรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกออก หรือใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น การฉายรังสี การทำเคมีบำบัด และยาที่ช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการเนื้องอกในสมองบางรายอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา หากเนื้องอกในสมองมีขนาดเล็ก ไม่ใช่มะเร็ง และไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีเนื้องอกในสมองลักษณะนี้ ยังคงจำเป็นต้องมาตรวจดูเนื้องอกในสมองเป็นประจำตามที่แพทย์นัด หากเนื้องอกในสมองมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีอาการเนื้องอกในสมองเกิดขึ้น อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเช่นเดียวกัน
เนื้องอกในสมองอาจเป็นอาการที่รักษาให้ดีขึ้นได้ ซึ่งหลังจากการรักษาเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ที่เคยมีอาการเนื้องอกในสมองยังควรมาพบแพทย์ตามนัด และหมั่นสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอ เพราะเนื้องอกในสมองเป็นปัญหาสุขภาพที่อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้