การได้วิ่งเล่นอย่างสนุกสนานนอกบ้านเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ หลายคนชื่นชอบ แต่การอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนและมีแสงแดดจัดเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดอาการเพลียแดดในเด็กได้ ทั้งนี้ อาการเพลียแดดเกิดขึ้นได้ทุกวัย แต่มักพบในเด็กและวัยรุ่นที่ชื่นชอบการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง
โดยทั่วไป อาการเพลียแดดจะค่อย ๆ เกิดขึ้น และอาจนำไปอาการเจ็บป่วยจากความร้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคลมแดด (Heatstroke) ซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อสมองและอวัยวะสำคัญอื่น ๆ ดังนั้น หากลูกเกิดอาการเพลียแดดควรให้ลูกได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอาการร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
สัญญาณบ่งบอกว่าลูกมีอาการเพลียแดด
อาการเพลียแดดเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการเจ็บป่วยจากความร้อน (Heat-Related Illness) ซึ่งมีความรุนแรงน้อยที่สุด แต่สามารถนำไปสู่อาการที่รุนแรงขึ้นตามลำดับ ได้แก่ อย่างตะคริวแดด (Heat Cramps) และโรคลมแดด
ทั้งนี้ อาการเพลียแดดเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นและไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ตามปกติ มักเกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูงเป็นเวลานาน โดยพบได้บ่อยในกรณีที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกอยู่ในรถที่ไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศหรือเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท การทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬากลางแจ้งเป็นเวลานาน การดื่มน้ำน้อย และการให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ไม่ระบายอากาศ
เด็กเล็กเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดอาการเพลียแดดได้ง่าย เนื่องจากระบบประสาทส่วนกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิในร่างกายยังไม่พัฒนาเต็มที่ และกลไกการปรับตัวต่อความร้อน (Heat Acclimatization) ทำได้ช้า ร่างกายของเด็กเล็กจึงมีประสิทธิภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในร่างกายได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่
อาการที่พ่อแม่อาจสังเกตเห็นได้เมื่อลูกมีอาการเพลียแดด ได้แก่
- กระหายน้ำมากผิดปกติ
- ตัวเย็นและมีผิวชื้น
- หงุดหงิด และร้องไห้งอแง
- อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หน้ามืด และเป็นลม
- ปวดศีรษะ
- เป็นตะคริวที่ท้องและขา
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น แต่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส
รับมืออย่างไรเมื่อลูกมีอาการเพลียแดด
หากลูกมีอาการเพลียแดด พ่อแม่ควรรีบดูแลให้อาการดีขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคลมแดดที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิต ดังนี้
- ให้ลูกออกจากบริเวณที่มีอากาศร้อน โดยหาที่หลบแดดหรือที่ร่ม อย่างใต้ร่มไม้ หรือใต้อาคารที่มีหลังคาและมีอากาศถ่ายเท หากเป็นไปได้ควรให้ลูกอยู่ในห้องที่เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ
- ให้ลูกนอนหงาย โดยยกเท้าทั้งสองข้างให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นและคลายเสื้อผ้าออก
- หากลูกยังรู้สึกตัวอยู่ ให้พ่นละอองน้ำและใช้พัดหรือพัดลมเป่า หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวให้ลูก
- หากเป็นเด็กเล็ก ควรให้จิบน้ำเย็นหรือป้อนนมให้บ่อยกว่าปกติ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากอากาศร้อน สำหรับเด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจให้จิบน้ำเปล่าหรือดื่มผงเกลือแร่ โดยให้จิบทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมตามอายุและน้ำหนักตัวของลูก
- หากลูกอาเจียน ควรจับลูกให้นอนตะแคงให้ศีรษะต่ำลงเพื่อป้องกันการสำลัก
วิธีป้องกันอาการเพลียแดดในเด็ก
พ่อแม่สามารถป้องกันไม่ให้ลูกเกิดอาการเพลียแดดได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเที่ยงและบ่ายที่มีอุณหภูมิสูงและมีแดดจัด โดยให้ลูกอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และมีอุณหภูมิเย็นสบาย วิธีนี้ถือเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด
- ควรเปิดพัดลมและหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก หรือเปิดเครื่องปรับอากาศในวันที่มีอากาศร้อน หากที่บ้านไม่มีเครื่องปรับอากาศ อาจพาลูกไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็น อย่างห้างสรรพสินค้าเพื่อคลายร้อนในตอนกลางวัน
- ให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน เนื้อผ้าเบาสบาย ไม่รัดแน่นหรือแนบลำตัวจนเกินไป เพื่อช่วยให้ร่างกายระบายความร้อนได้ดี รวมทั้งพ่อแม่ควรเตรียมหมวกและแว่นตากันแดดให้ลูก เพื่อป้องกันอันตรายจากรังสียูวี (UV Rays)
- หากลูกอายุมากกว่า 6 เดือน ควรทาครีมกันแดดก่อนออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งประมาณ 30 นาทีโดยเลือกครีมกันแดดที่สามารถป้องกันรังสียูวีได้อย่างครอบคลุม (Broad Spectrum) มีค่า SPF 15 ขึ้นไป และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง
- ในระหว่างการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ควรให้ลูกเข้ามาหลบในที่ร่มบ่อย ๆ เพื่อพักเหนื่อยและจิบน้ำทดแทนเหงื่อที่เสียไป โดยสอนให้ลูกจิบน้ำบ่อย ๆ แม้จะยังไม่รู้สึกกระหายน้ำ ทั้งก่อน ระหว่างและหลังทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- ไม่ปล่อยให้ลูกอยู่ในรถตามลำพัง โดยเฉพาะรถที่จอดไว้กลางแดด เพราะอุณหภูมิในรถจะเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วแม้เวลาผ่านไปไม่กี่นาที
- สอนให้ลูกสังเกตอาการของตัวเอง หากรู้สึกไม่สบายตัว กระหายน้ำ เวียนศีรษะ ให้รีบเข้าที่ร่มและบอกพ่อแม่ทันที
อาการเพลียแดดในเด็กสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อน ดื่มน้ำให้เพียงพอ และกำหนดเวลาพักระหว่างทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากทารกหรือเด็กเล็กมีอาการเพลียแดด ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอีกครั้งหลังจากอาการดีขึ้นแล้ว
หากพบว่าอาการของลูกยังไม่ดีขึ้นแม้จะใช้วิธีดูแลในเบื้องต้นแล้ว หรือลูกมีอาการผิดปกติอื่นที่เป็นสัญญาณของโรคลมแดด เช่น มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หายใจหอบถี่ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการของภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที