อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็ก วิธีดูแลอาการ และสัญญาณที่ควรพบแพทย์

อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็ก มักทำให้เด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้เกิดอาการคล้ายโรคหวัด แต่มีอาการที่รุนแรงกว่า เช่น มีไข้ ปวดหัว ปวดตามตัว และเจ็บคอ โดยทั่วไปอาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กมักดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ แต่เด็กบางคนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรงได้ หากทราบแนวทางการดูแลอาการอย่างเหมาะสม อาจช่วยให้เด็กหายเร็วขึ้น และป้องกันการเกิดอาการรุนแรง

ไข้หวัดใหญ่กิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วผ่านการหายใจเอาเชื้อจากการไอ จาม หรือจับสิ่งของที่มีเชื้อไวรัส เด็กจึงเป็นไข้หวัดใหญ่ได้บ่อย เนื่องจากอาจติดมาจากการเล่นกับเพื่อน แล้วใช้มือจับบริเวณใบหน้าหรือหยิบสิ่งของเข้าปาก 

อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

ลักษณะอาการไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าอาการจากโรคหวัด โดยเฉพาะในช่วง 2–3 วันแรกที่เริ่มมีอาการ ซึ่งอาจทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัวและมีอาการต่าง ๆ เช่น

  • หนาวสั่น และมีไข้เฉียบพลัน โดยมักมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • เวียนหัว ปวดหัว 
  • อ่อนเพลีย เซื่องซึม
  • เบื่ออาหาร
  • ไอแห้ง เจ็บคอ
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดหู ปวดเมื่อยตามตัว
  • ท้องเสีย

โดยปกติแล้ว อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กมักดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ แต่มีอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยล้านานได้ถึง 3–4 สัปดาห์

ดูแลอาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กให้หายดี

พ่อแม่สามารถดูแลอาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. พักผ่อนมาก ๆ

ให้เด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่พักผ่อนมาก ๆ งดออกไปวิ่งเล่นหรือเล่นกีฬา เพื่อบรรเทาอาการอ่อนเพลีย และช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการป่วยได้เร็วขึ้น โดยเด็กก่อนวัยเรียนอายุ 3–5 ปี ควรนอนหลับประมาณวันละ 10–13 ชั่วโมง เด็กวัยเรียนอายุ 6–12 ปี ควรนอนหลับวันละ 9–12 ชั่วโมง และวัยรุ่นอายุ 13–18 ปี ควรนอนหลับวันละ 8–10 ชั่วโมง

นอกจากนี้ เด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่และไข้ยังไม่ลดลง ควรให้หยุดเรียนและงดไปในที่สาธารณะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ไปสู่ผู้อื่น

2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

ร่างกายของเด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่อาจสูญเสียน้ำจากการมีไข้ อาเจียน และท้องเสีย การดื่มน้ำให้เพียงพอจะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำได้ โดยให้เด็กดื่มน้ำเปล่าอุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่น นม น้ำผลไม้ที่ไม่เติมน้ำตาล ซุป หรือโจ๊กอุ่น ๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้ด้วย ส่วนเด็กทารกที่ยังดื่มนมแม่อยู่ ควรให้นมตามปกติ

3. รักษาอุณหภูมิร่างกายให้เหมาะสม

อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กมักทำให้เกิดอาการหนาวสั่น มีไข้ และไม่สบายตัว ควรวัดไข้เด็กบ่อย ๆ หากไข้ไม่ลดลง ให้เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง หรือให้เด็กอาบน้ำอุ่น หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็นจัด และสวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนาเกินไป เพราะอาจทำให้อุณหภูมิของร่างกายระบายออกยากขึ้น

ควรระวังไม่ให้ลมจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศพัดถูกตัวเด็กโดยตรงขณะนอนหลับ และให้เด็กผ้าห่มที่ไม่หนาจนเกินไป

4. รับประทานอาหารที่เหมาะสม

อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กมักทำให้เด็กเบื่ออาหาร ผู้ปกครองไม่ควรบังคับให้เด็กรับประทานอาหาร โดยอาจให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทีละน้อย เช่น ซุปไก่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซึ่งรับประทานง่าย ให้พลังงาน และมีสารอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอต่อร่างกาย

5. บรรเทาอาการคัดจมูกและเจ็บคอ

หากลูกมีอาการคัดจมูก อาจให้เด็กสูดไอน้ำร้อนจากอ่างน้ำหรือภาชนะปากกว้าง ไอน้ำร้อนจะช่วยลดอาการระคายเคืองและบวมของเส้นเลือดฝอยภายในโพรงจมูก ช่วยกำจัดน้ำมูกเหนียวข้น ซึ่งจะช่วยให้ลูกหายใจสะดวก หรือล้างจมูกเด็กด้วยน้ำเกลือ เพื่อชะล้างน้ำมูกและเชื้อโรคต่าง ๆ ในโพรงจมูก

เด็กที่เจ็บคอจากอาการไข้หวัดใหญ่ อาจให้ใช้น้ำอุ่น 1 แก้ว หรือประมาณ 225 มิลลิลิตรผสมกับเกลือประมาณครึ่งช้อนชา กลั้วให้ทั่วปากและลำคอประมาณ 15 วินาทีแล้วบ้วนทิ้ง แต่วิธีนี้ไม่เหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เนื่องจากยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจการบ้วนน้ำเกลือทิ้ง และอาจเกิดการสำลักได้

6. ใช้ยาบรรเทาอาการ

การใช้ยาบรรเทาอาการไข้หวัดใหญ่ในเด็ก เช่น ยาแก้ปวดและลดไข้ โดยให้เด็กรับประทานยาพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน ซึ่งมีความเข้มข้นของตัวยาหลายขนาด และมีทั้งชนิดหยด ชนิดน้ำเชื่อม และชนิดเม็ด ควรปรึกษาเภสัชกรและเลือกใช้ยาให้เหมาะกับน้ำหนักตัวหรือช่วงอายุของเด็ก และห้ามให้ยาแอสไพรินลดไข้เด็ก เนื่องจากอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย

ส่วนการให้ยาอื่น เช่น ยาแก้ไอ และยาลดน้ำมูก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเหล่านี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และใช้ยาตามที่เภสัชกรแนะนำหรือตามที่ระบุบนฉลาก ทั้งนี้ ไม่ควรให้ยาเหล่านี้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์

สังเกตอาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กที่อาจทำให้เกิดอันตราย

อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูอักเสบ อาการโรคหืดกำเริบ และโรคปอดบวม โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด หัวไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน มะเร็ง และโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน 

หากเด็กมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรพาไปพบแพทย์ทันที

  • เด็กมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และเด็กเล็กที่อายุต่ำ 3 ปีที่วัดอุณหภูมิร่างกายได้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
  • หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด หายใจหอบถี่ เจ็บหน้าอกขณะหายใจ ไอเป็นเลือด
  • มีอาการไข้หวัดใหญ่และมีไข้ซ้ำหลังจากหายดีแล้ว
  • ดื่มน้ำได้น้อย ปัสสาวะน้อยหรือปัสสาวะไม่ออก ร้องไห้ไม่มีน้ำตา
  • ง่วงนอนมากผิดปกติ เซื่องซึม ไม่เล่นของเล่นที่ชอบ ปลุกแล้วไม่ยอมตื่นหรือไม่รู้สึกตัว
  • ร้องไห้งอแงไม่หยุด
  • ปวดหัวอย่างรุนแรง
  • อาเจียนต่อเนื่องกันนานกว่า 4 ชั่วโมง และท้องเสียอย่างรุนแรง
  • ผิวและเล็บซีด หรือเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ 
  • คอแข็ง 
  • มีอาการสับสน และชัก

อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กพบได้บ่อยและเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทำได้โดยการล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ หากต้องการไอหรือจามควรปิดจมูกและปากด้วยกระดาษทิชชู่และนำไปทิ้งลงถังขยะให้เรียบร้อย และพาเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่