อาหารติดคอ วิธีรับมือและป้องกันก่อนเกิดอันตราย

อาหารติดคอ เกิดขึ้นเนื่องจากการที่มีอาหารหลุดเข้าไปอุดกั้นในบริเวณลำคอหรือทางเดินหายใจ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการสำลัก นอกจากนี้ อาหารติดคออาจทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หากร่างกายขาดออกซิเจนเกิน 4 นาที อาจทำให้สมองได้รับความเสียหาย รวมทั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

อาหารติดคออาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด กินอาหารเร็วเกินไป และพูดคุยขณะกินอาหาร โดยผู้ที่กำลังสำลักอาหารหรืออาหารติดคออาจมีอาการต่าง ๆ เช่น ไอ พูดหรือร้องไม่มีเสียง มือกำรอบลำคอ ตื่นตระหนก ผิวหนังและปากเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือเขียว และหมดสติ

Food stuck in the Throat

 

วิธีรับมืออาหารติดคออย่างถูกวิธี

หากมีอาหารติดคอหรือสำลักอาหาร แต่ยังสามารถพูดหรือหายใจได้ สิ่งแรกที่ควรทำคือการพยายามให้ผู้ที่มีอาหารติดคอไอ เพราะการไออย่างต่อเนื่องอาจช่วยให้อาหารหลุดออกจากลำคอได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้นิ้วล้วงเข้าไปในปากหรือคอขณะที่กำลังสำลัก เพราะอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการถูกกัดได้

หากเริ่มมีอาการหายใจไม่สะดวกหรือพูดออกมาแต่ไม่มีเสียง ควรตั้งสติและอาจลองปฐมพยาบาลด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อช่วยให้อาหารหลุดออกจากลำคอ ดังนี้

วิธีรับมืออาหารติดคอสำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

สำหรับการรับมืออาหารติดคอในเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ผู้ทำการปฐมพยาบาลอาจใช้วิธีรัดกระตุกหน้าท้อง (Abdominal thrusts) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาหารติดคอที่ยังมีสติอยู่ แต่ไม่สามารถหายใจ พูด หรือไอได้ วิธีการนี้ไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยวิธีการรัดกระตุกหน้าท้องสามารถทำได้ดังนี้ 

  1. ยืนด้านหลังและใช้แขนทั้งสองข้างโอบรอบเอวของผู้ที่มีอาหารติดคอ เอนตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย ในเด็กอายุ 1–5 ปีหรือเด็กที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 20 กิโลกรัม ผู้ช่วยเหลือควรคุกเข่าให้อยู่ในระดับเดียวกับเด็ก
  2. กำมือข้างหนึ่งโดยหันนิ้วโป้งเข้าร่างกายและวางไว้ใต้กระดูกซี่โครงหรือเหนือสะดือประมาณ 2 นิ้ว จากนั้นใช้มืออีกข้างจับมือที่กำไว้
  3. รัดกระตุกหน้าท้องขึ้นให้แรงและรวดเร็ว 5 ครั้ง หรือทำซ้ำจนกว่าอาหารที่ติดอยู่จะหลุดออกมา สำหรับเด็กควรออกแรงกระตุกน้อยกว่าปกติ

นอกจากนี้ อาจใช้วิธีการทุบหลัง (Back blows) โดยอาจทำได้ตามขั้นตอนดังนี้

  1. เริ่มจากยืนด้านหลังฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาของผู้ที่มีอาหารติดคอ หากเป็นเด็ก ผู้ช่วยเหลือควรคุกเข่าให้อยู่ในระดับเดียวกัน จากนั้นใช้มือข้างหนึ่งประคองหน้าอกและเอนตัวผู้ที่มีอาหารติดคอให้ก้มไปด้านหน้า 
  2. ใช้ส้นมืออีกข้างทุบไปที่ระหว่างกระดูกสะบักหรือบริเวณกลางหลังด้านบน 5 ครั้ง เพื่อให้อาหารที่ติดคอหลุดออกจากทางเดินหายใจ
  3. หากอาหารยังคงติดคออยู่ อาจทำสลับกับวิธีรัดกระตุกหน้าท้องไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาหารที่ติดคอหลุดออกมา

วิธีรับมืออาหารติดคอสำหรับทารก

หากอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมติดคอทารกหรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี อาจช่วยเหลือได้โดยมีขั้นตอนดังนี้ 

  1. พ่อแม่ควรนั่งลงและอุ้มทารกให้คว่ำหน้าพาดไปตามต้นขาหรือแขน โดยศีรษะควรต่ำกว่าก้น และใช้มือข้างหนึ่งประคองคอทารกให้มั่นคง 
  2. ใช้ส้นมืออีกข้างทุบบริเวณกลางหลังหรือกระดูกระหว่างสะบักเพื่อให้เศษอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในคอหลุดออกจากร่างกาย

วิธีรับมืออาหารติดคอสำหรับคนท้อง

การช่วยเหลือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่ไม่สามารถโอบรอบเอวอาจทำได้โดยการรัดกระตุกหน้าอก (Chest thrust) โดยการรัดกระตุกหน้าอกอาจทำได้ ดังนี้

  1. ยืนด้านหลังผู้ที่กำลังเกิดอาการสำลักและใช้แขนโอบรอบบริเวณหน้าอก 
  2. กำมือข้างหนึ่งโดยให้นิ้วโป้งหันเข้าร่างกายและใช้มืออีกข้างจับไว้ วางมือตรงกลางอกและกระตุกขึ้นอย่างรวดเร็ว
  3. ทำซ้ำจนกว่าอาหารที่ติดคอจะหลุดออกจากทางเดินหายใจ

วิธีรับมืออาหารติดคอสำหรับผู้ที่หมดสติ

หากลองปฐมพยาบาลอาหารติดคอเบื้องต้นแล้ว แต่อาหารยังคงไม่หลุดออกจากทางเดินหายใจ หรือผู้ที่มีอาหารติดคอหมดสติไป ควรเริ่มทำการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) หรือการปั๊มหัวใจ จากนั้นโทรหาสายด่วน 1669 หรือรถฉุกเฉินทันทีเพื่อนำตัวผู้ที่หมดสติเข้ารับการรักษาต่อไป

วิธีรับมืออาหารติดคอเมื่ออยู่คนเดียว

หากอยู่คนเดียวขณะอาหารติดคอ และไม่มีผู้ทีจะสามารถทำการปฐมพยาบาลให้ได้ สามารถรับมือได้ด้วยตัวเอง โดยอาจวางหน้าท้องไว้บนพนักเก้าอี้และกระแทกเข้า-ออกเพื่อให้ที่อาหารติดคออยู่หลุดออกมาหรือใช้วิธีรัดกระตุกหน้าท้องด้วยตนเอง ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  1. กำมือข้างหนึ่งวางไว้เหนือสะดือ โดยให้นิ้วโป้งหันเข้าหาตัวและใช้มืออีกข้างกำไว้รอบ ๆ 
  2. โค้งตัวลงเล็กน้อยและดันมือที่กำไว้เข้าหาตัวและกระตุกขึ้นพร้อมกัน 5 ครั้ง
  3. ทำซ้ำจนกว่าอาหารจะหลุดออกจากคอ

วิธีรับมืออาหารติดคอแต่ไม่สำลัก

หากรู้สึกว่ามีอาหารติดคอแต่ไม่สำลัก อาจเกิดจากการที่อาหารติดอยู่ในหลอดอาหาร เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก อาหารที่ติดอยู่อาจไหลลงไปได้เอง หากอาหารยังคงไม่ไหลลงไป อาจลองทำตามวิธีต่าง ๆ เพื่อให้อาหารที่ติดคอไหลลงไปง่ายขึ้น เช่น กลืนน้ำอึกใหญ่ กลืนอาหารนิ่ม ๆ เช่น กล้วยหรือขนมปังจุ่มในนม

วิธีป้องกันอาหารติดคอ

การป้องกันอาหารติดคอสามารถทำได้โดยการกินอาหารคำเล็ก ๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมขณะกลืนอาหาร เช่น การเดิน การวิ่ง การหัวเราะและการพูดคุย สำหรับเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรเก็บสิ่งของหรือของเล่นขนาดเล็กให้พ้นมือเด็กเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเอาเข้าปาก รวมไปถึงไม่ควรให้เด็กกินอาหารที่เคี้ยวยากหรืออาจหลุดติดคอได้ เช่น ชีส องุ่น ถั่วหรือลูกอม