อาหารเสริม คือ สารอาหารที่ใช้รับประทานเพิ่มเติมจากมื้ออาหารหลัก อาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ หรือเพื่อบำรุงสุขภาพตามความเชื่อของบางบุคคล ส่วนสารอาหารที่มักถูกนำมาทำเป็นอาหารเสริม ได้แก่ วิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน พืช ผัก สมุนไพรต่าง ๆ เป็นต้น
อาหารเสริมถูกผลิตออกมาให้สามารถรับประทานได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบเม็ด แบบแคปซูล แบบผง หรือแบบน้ำ โดยอาหารเสริมอาจเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการรักษาทางการแพทย์ ที่ผู้ป่วยต้องรับประทานภายใต้การดูแลจากแพทย์เท่านั้น หรืออาจถูกวางจำหน่ายตามร้านขายยา ซึ่งผู้บริโภคควรรับประทานตามคำแนะนำของเภสัชกรและข้อบ่งชี้ที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด
ทำไมต้องรับประทานอาหารเสริม ?
บางคนมีความเชื่อว่า การรับประทานอาหารเสริมอาจช่วยบำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมเพิ่มเติมจากสารอาหารที่ได้รับจากมื้ออาหาร เพราะสารอาหารที่จำเป็นต่อกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกายหรือการมีสุขภาพดีโดยส่วนใหญ่ สามารถหาได้จากการรับประทานอาหารให้ครบโภชนาการทั้ง 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม
ส่วนผู้ที่อาจมีความจำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม ได้แก่ ผู้ที่กำลังป่วยด้วยภาวะต่าง ๆ ผู้ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าร่างกายมีภาวะขาดสารอาหารชนิดใด ๆ ก็ตาม ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตร และผู้ที่ไม่สามารถบริโภคสารอาหารเหล่านั้นได้ในปริมาณที่ร่างกายสมควรได้รับ เป็นต้น ทั้งนี้ หากร่างกายขาดสารอาหารบางชนิด อาจทำให้เกิดภาวะอาการป่วยที่สร้างปัญหาแก่สุขภาพได้ เช่น
- การขาดวิตามินเอ อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางสายตา ภาวะผิวแห้ง ผมแห้ง หรือคันระคายเคืองที่ผิวหนัง เป็นต้น
- การขาดวิตามินบี อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง มือชา เมื่อยล้า อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ผิวหนังอักเสบ หรือปากนกกระจอก เป็นต้น
- การขาดวิตามินซี อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ผิวแห้ง ผมแตกปลาย เกิดรอยฟกช้ำได้ง่าย เลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม โรคลักปิดลักเปิด และภูมิคุ้มกันร่างกายต้านทานการติดเชื้อได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ป่วยง่าย เป็นต้น
- การขาดวิตามินดี อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน อาการปวดตามกระดูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
- การขาดธาตุเหล็ก อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง อาการอ่อนเพลีย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดพัฒนาการช้าทางร่างกาย การเคลื่อนไหว และกระบวนการคิด
- การขาดแคลเซียม อาจทำให้เป็นตะคริวได้ง่าย อาการกล้ามเนื้อหดเกร็งบริเวณมือและเท้า ปวดเกร็งหน้าท้อง หรืออาจนำไปสู่ภาวะกระดูกบางและโรคกระดูกพรุนได้ในที่สุด
ในบางกรณี แพทย์จะเป็นผู้ดูแลแนะนำหรือกำหนดให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารเสริมในปริมาณที่เหมาะสม แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการบริโภคอาหารเสริมเพราะคิดว่าสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวันไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร พร้อมศึกษาข้อมูลการบริโภคอาหารเสริมแต่ละชนิดให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ เพราะการรับสารอาหารชนิดใดเข้าสู่ร่างกายจนมากเกินพอดี อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน
อาหารเสริม ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่ ?
ไม่ใช่อาหารเสริมทุกตัวที่ได้รับการรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัย แม้อาหารเสริมบางชนิดจะผ่านการทดลองในห้องปฏิบัติการมาแล้วก็ตาม แต่อาหารเสริมและส่วนประกอบในอาหารเสริมเหล่านั้น อาจยังไม่ได้รับการพิสูจน์ถึงประสิทธิผลและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเสมอไป ยิ่งไปกว่านั้น การบริโภคอาหารเสริมอย่างผิดวิธี หรือเกินปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้บริโภคได้
ดังนั้น การรับประทานอาหารเสริมแต่ละชนิด จะปลอดภัยก็ต่อเมื่อผู้บริโภคใช้อาหารเสริมตัวนั้นอย่างถูกวิธีในปริมาณที่ถูกต้องเหมาะสม ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
แนวทางการบริโภคอาหารเสริมอย่างปลอดภัย
- ก่อนรับประทานอาหารเสริมชนิดใด ควรพิจารณาและขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญในประเด็นต่าง ๆ เช่น ประโยชน์ต่อสุขภาพทั่วไปจากการบริโภคอาหารเสริมชนิดนั้น ประโยชน์และความเหมาะสมต่อสภาพร่างกายของผู้ที่ต้องการบริโภค ความปลอดภัยและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ วิธีการ ปริมาณ และระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการบริโภค เป็นต้น
- ศึกษาข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนการบริโภคเกี่ยวกับชนิดของอาหารเสริม ส่วนผสมในอาหารเสริม และข้อมูลสำคัญสำหรับผู้บริโภค อย่างวิธีการบริโภคและผลข้างเคียงที่เคยเกิดขึ้นกับผู้บริโภคอื่น ๆ
- ไม่บริโภคอาหารเสริมเพื่อรักษาอาการป่วยที่ตนสงสัย แต่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยและคำแนะนำจากแพทย์ว่าควรบริโภคอาหารเสริมชนิดนั้น
- ไม่บริโภคอาหารเสริมแทนการใช้ยารักษา หรือบริโภคร่วมกับยารักษาชนิดใด หากไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือเข้ารับการรักษาใด ๆ ให้แจ้งกับแพทย์ผู้ดูแลก่อนทุกครั้งว่ากำลังรับประทานอาหารเสริมชนิดใดอยู่
- ผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ต้องระมัดระวังในการใช้อาหารเสริมใด ๆ เป็นอย่างยิ่ง เพราะสารเคมีที่ร่างกายได้รับ อาจส่งต่อไปยังบุตร และทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อทารกได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ และบริโภคอาหารเสริมตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสารสกัดมาจากธรรมชาติ แต่ส่วนประกอบต่าง ๆ ในอาหารเสริมก็ไม่ได้รับการยืนยันอย่างแน่ชัดว่าจะมีผลลัพธ์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคเสมอไป ทั้งนี้ อาหารเสริมอาจมีส่วนประกอบของสารเคมีที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคได้หากบริโภคอย่างผิดวิธี หรืออาจส่งผลข้างเคียงต่อผู้บริโภคบางรายที่มีอาการแพ้ยาหรือสารใด ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม ควรระมัดระวังในการบริโภคอยู่เสมอ
- หลังบริโภคอาหารเสริม หากพบผลข้างเคียงเป็นอาการเจ็บป่วยใด ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที และแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังบริโภคอาหารเสริมชนิดใดอยู่
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริม เพราะอาจจะทำให้อาการของโรคแย่ลง หรือมีผลข้างเคียงต่อยาที่ใช้ในปัจจุบัน
ผลข้างเคียงและความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารเสริม
นอกจากประสิทธิภาพทางการบำบัดรักษาผู้ป่วยในบางกรณีแล้ว การรับประทานอาหารเสริมอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย หรืออาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการรักษาทางการแพทย์บางประการได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่เพิ่งเริ่มบริโภคอาหารเสริมเป็นครั้งแรก ผู้ที่บริโภคอาหารเสริมผิดวิธี ผู้ที่บริโภคอาหารเสริมแทนการรับประทานยารักษา ผู้ที่บริโภคอาหารเสริมร่วมกันหลาย ๆ ชนิด หรือบริโภคร่วมกับการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ด้วย บุคคลเหล่านี้ คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากการบริโภคอาหารเสริมมากกว่าคนทั่วไป
อย่างไรก็ดี ผู้ที่กำลังบริโภคอาหารเสริมจึงควรระมัดระวัง และเฝ้าสังเกตอาการที่อาจเป็นผลข้างเคียงของการใช้อาหารเสริมชนิดนั้น ๆ ด้วย เพื่อให้สามารถไปพบแพทย์และรับการรักษาได้ทันเวลา และหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงที่อาจก่ออันตรายแก่ชีวิตได้
ตัวอย่างผลข้างเคียงและความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารเสริม ได้แก่
- เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะมีเลือดออกในผู้ป่วยก่อนหรือหลังการผ่าตัด เพราะอาหารเสริมบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในกระบวนการวางยาสลบได้
- วิตามินเอ หากบริโภคมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว เกิดความเสียหายในตับ ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เพิ่มความเสี่ยงให้ทารกในครรภ์เผชิญภาวะพิการแต่กำเนิด
- วิตามินซี และวิตามินอี อาจลดประสิทธิผลทางการรักษาด้วยเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งได้
- วิตามินเค อาจลดประสิทธิภาพของยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งอาจกระทบต่อประสิทธิผลทางการรักษาและสุขภาพของผู้ป่วยได้
- ธาตุเหล็ก หากบริโภคมากเกินไป อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจเกิดความเสียหายภายในตับหรืออวัยวะอื่น ๆ ได้
- แคลเซียม หากบริโภคมากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงเผชิญภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia) ซึ่งนำไปสู่การเกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้