อาหารเสริมผู้สูงอายุเป็นตัวช่วยสำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับสารอาหารจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งสารอาหารที่ผู้สูงอายุอาจได้รับไม่เพียงพอมีหลายชนิด เช่น แคลเซียม วิตามินบี วิตามินดี โอเมก้า 3 โปรตีน และวิตามินแร่ธาตุอื่น ๆ การรับประทานอาหารเสริมผู้สูงอายุจึงจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพ
การรับประทานอาหารเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพออาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุ เพราะความอยากอาหารมักลดลง การเคี้ยวและย่อยอาหารทำได้ยากขึ้น ร่างกายจะดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง รวมถึงการเข้าสู่วัยทองและโรคประจำตัวบางอย่างที่ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ อาหารเสริมผู้สูงอายุจะช่วยทดแทนสารอาหารในส่วนที่ขาดไปได้
อาหารเสริมผู้สูงอายุที่ควรได้รับ
อาหารเสริมผู้สูงอายุมีหลายรูปแบบ โดยอาจอยู่ในรูปแบบเม็ด แคปซูล น้ำ ผง เม็ดฟู่ หรือรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นวิตามินเดี่ยว หรือวิตามินรวมหลายชนิดในผลิตภัณฑ์เดียวกัน โดยอาหารเสริมผู้สูงอายุมักประกอบด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
1. แคลเซียม
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการสร้างและเสริมความแข็งแรงให้กับกระดูกและฟัน ช่วยในการทำงานของสมอง กล้ามเนื้อ รวมถึงหัวใจและระบบเลือด เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุจะสูญเสียความแข็งแรงของกระดูก กระดูกบางลง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ที่ทำให้มีโอกาสหกล้มและกระดูกหักได้ง่าย
การรับประทานแคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริมผู้สูงอายุในกรณีที่ได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ จะช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ได้ โดยอาหารเสริมแคลเซียมมีหลายประเภท ซึ่งมีปริมาณแคลเซียม วิธีการรับประทาน และข้อควรระวังที่ต่างกัน เช่น
- อาหารเสริมที่มีแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) ให้แคลเซียมสูงกว่าแคลเซียมชนิดอื่น โดยควรรับประทานพร้อมอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น แต่อาจไม่เหมาะกับผู้สูงอายุที่รับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เพราะทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมคาร์บอเนตน้อยลง
- อาหารเสริมที่มีแคลเซียมซิเตรต (Calcium Citrate) ดูดซึมง่าย ไม่จำเป็นต้องรับประทานพร้อมอาหาร แต่มีปริมาณแคลเซียมน้อยกว่า จึงอาจต้องรับประทานปริมาณมากกว่าอาหารเสริมที่มีแคลเซียมคาร์บอเนต เพื่อให้ได้รับปริมาณแคลเซียมที่เพียงพอต่อความต้องการ
2. วิตามินบี 12
วิตามินบี 12 มีส่วนช่วยบำรุงการทำงานของระบบประสาท สมอง และกระบวนการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 12 ได้ง่าย เนื่องจากการสร้างกรดในกระเพาะอาหารลดลงตามวัย ทำให้การดูดซึมวิตามินบี 12 ลดลง
การขาดวิตามินบี 12 อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หลงลืมง่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจเกิดภาวะโลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12 (Pernicious Anemia) นอกจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 การรับประทานอาหารเสริมผู้สูงอายุจะช่วยเสริมปริมาณวิตามินบี 12 ที่ขาดไปได้ โดยอาจเป็นวิตามินบี 12 รวมกับวิตามินอื่น เช่น วิตามินบีรวม
3. วิตามินดี
วิตามินดีมีส่วนช่วยสร้างกระดูกที่แข็งแรง ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น ลดโอกาสการหกล้มและกระดูกเปราะหักในผู้สูงอายุ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน การทำงานของกล้ามเนื้อและสมอง ซึ่งร่างกายสามารถสร้างวิตามินดีได้เองเมื่อผิวหนังโดนแสงแดด หรือได้จากการรับประทานอาหาร
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุอาจจะได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ เนื่องจากมักไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง และผิวหนังสามารถสังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดดได้น้อยลง การรับประทานอาหารเสริมผู้สูงอายุที่มีวิตามินดีควบคู่กับการรับประทานอาหาร จะช่วยให้ได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ
4. โพแทสเซียม
โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานแทบจะทุกส่วนในร่างกาย เช่น หัวใจ เส้นประสาท กล้ามเนื้อ และไต หากขาดโพแทสเซียมอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง และความดันโลหิตสูง โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้เอง และจะได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุมักรับประทานอาหารได้น้อยลง อีกทั้งมีโรคประจำตัวและใช้ยาบางชนิดที่ขัดขวางการดูดซึมโพแทสเซียม การรับประทานโพแทสเซียมในรูปแบบอาหารเสริมผู้สูงอายุอาจช่วยทดแทนปริมาณโพแทสเซียมที่ขาดไปได้อีกทางหนึ่ง
5. แมกนีเซียม
แมกนีเซียมจำเป็นต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะดูดซึมแมกนีเซียมลดลง และยาบางชนิดที่ผู้สูงอายุใช้ เช่น ยาขับปัสสาวะ อาจทำให้ร่างกายดูดซึมแมกนีเซียมได้น้อยลงอีก
แมกนีเซียมจึงเป็นแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งผู้สูงอายุอาจได้รับไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว และต้องรับประทานเพิ่มจากอาหารเสริมผู้สูงอายุ
6. โอเมก้า 3
โอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน เช่น ต้านการอักเสบในร่างกาย ช่วยในการทำงานของหัวใจ ป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ข้อเสื่อม สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ และจอประสาทตาเสื่อม
โอเมก้า 3 พบในอาหารจำพวกปลาที่มีไขมันดี ถั่ว เมล็ดพืช และน้ำมันพืช นอกจากนี้ อาหารเสริมผู้สูงอายุที่มีโอเมก้า 3 ก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารเหล่านี้ไม่เพียงพอ
7. โปรตีน
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่สูญเสียกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของร่างกายได้ง่าย โปรตีนจะช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ และช่วยให้การทำงานของกล้ามเนื้อเป็นปกติ ทำให้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ดี ลดโอกาสการหกล้มและบาดเจ็บ และช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกัน และรักษาสมดุลของฮอร์โมนและสารในร่างกาย
นอกจากรับประทานอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ นม เต้าหู้ และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง การรับประทานโปรตีนในรูปอาหารเสริมผู้สูงอายุ เช่น โปรตีนผงชงดื่ม อาจเป็นตัวเลือกที่สะดวก รับประทานง่าย และช่วยให้ร่างกายได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ
สิ่งที่ควรระวังก่อนรับประทานอาหารเสริมผู้สูงอายุ
ข้อควรรู้ก่อนจะเริ่มรับประทานอาหารเสริมผู้สูงอายุ มีดังนี้
- ผู้มีโรคประจำตัว หรือใช้ยารักษาโรคใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานอาหารเสริมผู้สูงอายุ เพราะการรับประทานอาหารเสริมผู้สูงอายุอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลง หรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้
- ควรรับประทานอาหารเสริมผู้สูงอายุเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงสารอาหารที่ได้รับจากการรับประทานอาหารในแต่ละวันด้วย หากไม่แน่ใจว่าขาดสารอาหารชนิดใด ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร
- ควรรับประทานอาหารเสริมผู้สูงอายุในปริมาณที่เหมาะสมตามที่ฉลากระบุ หรือตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร เพราะการได้รับวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดมากเกินความต้องการของร่างกาย อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
- ซื้ออาหารเสริมผู้สูงอายุที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผลิตจากบริษัทที่น่าเชื่อถือ ปลอดภัย และมีคุณภาพ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมผู้สูงอายุที่มีส่วนประกอบอื่นที่ไม่จำเป็น เช่น น้ำตาล และสารปรุงแต่งอาหารต่าง ๆ
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน แต่กรณีที่มีปัญหาในการรับประทานและการดูดซึมสารอาหาร การรับประทานอาหารเสริมผู้สูงอายุถือเป็นตัวเลือกที่ช่วยชดเชยสารอาหารที่ควรได้รับเพิ่มเติม หากรับประทานแล้วเกิดผลข้างเคียงใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำต่อไป