ความหมาย อ่อนเพลีย
อ่อนเพลีย (Fatigue) เป็นอาการที่บ่งบอกถึงความรู้สึกเหนื่อยล้า ขาดแรงจูงใจหรือขาดพลังงาน สาเหตุที่พบบ่อยคือ โรคประจำตัวที่มีความรุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก หรือเป็นผลมาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น ขาดการออกกำลังกาย หรือการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่เพียงพอ
หากพบว่าอาการอ่อนเพลียไม่สามารถดีขึ้นได้ด้วยการพักผ่อนหรือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือสงสัยว่ามีสาเหตุมาจากสุขภาพร่างกายหรือจิตใจที่อ่อนแอ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
อาการอ่อนเพลีย
อาการอ่อนเพลียเป็นอาการที่เกิดจากโรคหรือภาวะบางอย่างที่อธิบายได้หลากหลายรูปแบบ โดยเป็นอาการที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแอ หรือหมดแรง
อาการอ่อนเพลียอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอด หรือภาวะโลหิตจาง อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจตื้น หรือเหนื่อยง่ายระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย คือ ภาวะปัสสาวะมาก (Polyuria) ดื่มน้ำมากผิดปกติ (Polydypsia) หรือมีการมองเห็นที่เปลี่ยนแปลงไป
- ผู้ป่วยภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย คือ รู้สึกหนาว ผิวแห้งและผมเปราะ
สาเหตุของอาการอ่อนเพลีย
สาเหตุของอาการอ่อนเพลีย สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ปัจจัยการดำเนินชีวิต ภาวะทางสุขภาพ และปัญหาสุขภาพจิต
- ปัจจัยการดำเนินชีวิต
- ดื่มเครืองดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาเสพติดเป็นประจำ
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
- ออกกำลังกายหนักเกินไป
- ทำงานหนักเกินไป
- ขาดการออกกำลังกาย
- ขาดการนอนหลับ
- อาการเจ็ตแล็ก (Jet lag)
- มีนิสัยรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์
- มีน้ำหนักตัวมากเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- ใช้ยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยารักษาอาการซึมเศร้า และยากล่อมประสาท
- อยู่ในช่วงเวลาที่มีความเครียด
- เบื่อหน่าย หรือกำลังเศร้าโศก
- ภาวะทางสุขภาพ อาการอ่อนเพลียที่เป็นอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นผลกระทบจากการใช้ยารักษาโรค หรือวิธีบำบัดรักษาโรค หรือเป็นสัญญาณของภาวะทางสุขภาพ ได้แก่
- อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome)
- การติดเชื้อหรือการอักเสบเรื้อรัง
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- โรคถุงลมโป่งพอง
- ภาวะโลหิตจาง
- ภาวะตับวายเฉียบพลัน
- โรคไตเรื้อรัง
- โรคเมราลเจีย พาเรสเธทิคา (Meralgia Paresthetica)
- โรคเบาหวาน
- โรคหัวใจ
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- โรคอ้วน
- โรคมะเร็ง
- การตั้งครรภ์
- มีอาการเจ็บปวดนานต่อเนื่อง
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- การกินสารพิษเข้าไป
- การใช้ยารักษาและการรักษาโรค เช่น เคมีบำบัด ฉายรังสี ยาแก้ปวด ยาโรคหัวใจ และยารักษาอาการซึมเศร้า
- ปัญหาสุขภาพจิต อาการอ่อนเพลียเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพจิตได้ ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยของโรคทางจิต เช่น
- โรควิตกกังวล
- โรคเครียด
- โรคซึมเศร้า
- โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Depression)
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์?
หากพบว่ามีอาการอ่อนเพลียที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต และมีอาการ ได้แก่ คิดอยากทำร้ายตัวเองหรือคิดฆ่าตัวตาย หรือมีความกังวลว่าตนเองจะไปทำร้ายคนอื่น และหากมีอาการอ่อนเพลียที่มีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์
- เจ็บหน้าอก
- หายใจหอบเหนื่อย
- หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็ว
- รู้สึกเหมือนจะเป็นลม
- ปวดท้องรุนแรง ปวดหลังหรือเชิงกราน
นอกจากนั้น หากพบว่ามีอ่อนเพลียที่มีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ในทันที
- มีเลือดออกผิดปกติ รวมไปถึงมีเลือดออกทางทวารหนัก หรืออาเจียนเป็นเลือด
- ปวดศีรษะรุนแรง
การวินิจฉัยอาการอ่อนเพลีย
การวินิจฉัยอาการอ่อนเพลีย แพยท์จะสอบถามข้อมูลผู้ป่วย ได้แก่ ช่วงเวลาที่เกิดอาการ หรืออาการอื่น ๆ ที่เป็นร่วมด้วย โรคประจำตัว พฤติกรรมการใช้ชีวิต และสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด รวมไปถึงยารักษาโรคที่กำลังใช้อยู่ หลังจากนั้น หากแพทย์ได้สันนิษฐานว่าผู้ป่วยมีสาเหตุของอาการอ่อนเพลียจากโรคหรือภาวะทางร่างกาย แพทย์อาจให้ทำการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดหรือการตรวจปัสสาวะ
การรักษาอาการอ่อนเพลีย
เนื่องจากอาการอ่อนเพลียเป็นอาการที่เกิดจากโรคประจำตัวหรือโรคพื้นหลัง ดังนั้น การรักษาจึงขึ้นอยู่กับภาวะที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากทางด้านร่างกายหรือจิตใจ หรือทั้ง 2 อย่างรวมกัน
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยภาวะโลหิตจาง อาการอ่อนเพลียจะดีขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อปริมาณเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น หรือผู้ป่วยโรคติดเชื้ออาการอ่อนเพลียจะดีขึ้นเมื่อการติดเชื้อหมดไป
หรือผู้ป่วยโรคไทรอยด์อาการอ่อนเพลียจะดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษาจนฮอร์โมนกลับมาเป็นปกติ
ภาวะแทรกซ้อนของอาการอ่อนเพลีย
อาการอ่อนเพลียไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เนื่องจากเป็นอาการที่มีสาเหตุจากปัญหาทางสุขภาพหรือโรคประจำตัว แต่ทำให้รู้สึกเหนื่อยหรือหมดแรง ผู้ที่มีอาการจึงอาจจำเป็นต้องได้รับการพักผ่อน เนื่องจากร่างกายขาดพลังงานและไม่แข็งแรง
การป้องกันอาการอ่อนเพลีย
อาการอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นทั่วไป ซึ่งไม่มีความรุนแรง ป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่หากการออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงทำให้รู้สึกเหนื่อยล้ามาก อาจออกกำลังกายเบา ๆ ด้วยการเดินระยะสั้น
- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและรับประทานอย่างพอเหมาะ โดยไม่ควรข้ามมื้ออาหารโดยเฉพาะมื้อเช้า
- ดื่มน้ำอย่างพอเหมาะ ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หากเกิดปัญหาทางอารมณ์ ควรเผชิญหน้าและแก้ไข้ปัญหา ไม่ควรเพิกเฉยและหนีปัญหา อาจปรึกษาคนใกล้ชิดเพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ปัญหา
- หาทางจัดการกับความเครียดและทำงานในปริมาณที่เหมาะสม
- หาเวลาว่างทำกิจกรรมเพื่อให้ผ่อนคลาย เช่น การเล่นโยคะ
- หลีกเลี่ยงการบริโถคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิด
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอาจช่วยลดอาการอ่อนเพลียได้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอ่อนเพลีย ควรได้รับการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ เพราะหากไม่ได้รับการรักษา อาการอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจมากขึ้นได้