อ้วนลงพุง ปัญหาด้านรูปร่างที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากมี เพราะชั้นไขมันรอบท้องนี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกสารพัดปัญหาสุขภาพที่แฝงอยู่ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
อ้วนลงพุงเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อไขมันสะสมบริเวณท้องมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนัง หรือไขมันที่อยู่ลึกลงไปในช่องท้องระหว่างอวัยวะต่าง ๆ โดยในกรณีที่สองถือเป็นกรณีที่อันตราย เนื่องจากไขมันในช่องท้องอาจปล่อยสารบางชนิด เช่น กรดไขมัน เข้าสู่หลอดเลือดดำพอร์ทัลและตับจนนำไปสู่ภาวะผิดปกติได้ เช่น คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดสูง หรือภาวะดื้ออินซูลิน
สาเหตุของการสะสมของไขมันบริเวณหน้าท้องเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น รับประทานเกินพอดี ออกกำลังกายไม่มากพอ กล้ามเนื้อลดลงและมีไขมันขึ้นมาแทนเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ฮอร์โมนเอสโทรเจนที่ลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทอง และดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
หน้าท้องใหญ่แค่ไหนถึงเรียกอ้วนลงพุง
หากสงสัยว่าหน้าท้องมีขนาดใหญ่เกินไปหรือไม่ สามารถวัดได้โดยใช้สายวัดวัดรอบเอวระดับสะดือในท่ายืนตรง ดึงให้พอดีกับหน้าท้อง ไม่แน่นเกินไป และให้สายวัดอยู่ในระดับเดียวกัน โดยรอบเอวสุขภาพดีสำหรับผู้หญิงควรไม่เกิน 80 เซนติเมตร และผู้ชายไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร เพราะหากมากกว่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้สูง อย่างโรคเบาหวานชนิดที่ 2
ทั้งนี้ รูปร่างหรือหุ่นของแต่ละคนก็มีผลต่อขนาดรอบเอวเช่นกัน โดยผู้ที่มีหุ่นรูปทรงแอปเปิล หรือมีร่างกายช่วงบนใหญ่และมีหน้าท้องขนาดกว้างอาจเป็นอันตรายได้มากกว่าคนหุ่นลูกแพร์ซึ่งมีสะโพกและต้นขาที่ใหญ่ แต่มีรอบเอวขนาดเล็กกว่า
ทำอย่างไรให้หน้าท้องลด
การแก้ไขปัญหาอ้วนลงพุงเป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเช่นเดียวกับการลดน้ำหนัก เช่น
ออกกำลังกาย
ไม่ว่าการเดิน การวิ่ง หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ก็ถือว่าเป็นการช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกาย ไม่เว้นแม้แต่ไขมันที่พุง เพียงแต่ต้องทำอย่างกระฉับกระเฉง จนถึงระดับที่มีเหงื่อออก หายใจหอบ และหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติจึงจะเห็นผล
โดยหากเลือกเดินเร็ว ควรทำให้ได้ประมาณ 150 นาที/สัปดาห์ หรือหากเป็นการวิ่ง ควรทำให้ได้ประมาณ 75 นาที/สัปดาห์ ทั้งนี้ ควรออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ (Stretching Exercise) ร่วมด้วยอย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อหน้าท้องที่ลดลงและสุขภาพที่ดี
ควบคุมอาหารและปริมาณแคลอรี่
อาหารเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมน้ำหนักและกำจัดหน้าท้อง จึงควรหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวที่มักพบในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันสูงจำพวกชีส เนยแข็ง รวมถึงเนื้อสัตว์แปรรูปทั้งหลาย แต่ให้รับประทานไขมันที่มาจากปลา ถั่ว หรือน้ำมันพืชทดแทน
ส่วนอาหารประเภทโปรตีนควรเลือกที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลาหรือผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ และเน้นอาหารที่มีไฟเบอร์สูงอย่างผัก ผลไม้ และธัญพืช ควรเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ทั้งนี้ควรกำหนดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวันไม่ให้มากเกินไปด้วย
ผ่อนคลายจากความเครียด
นอกจากความเครียดจะส่งผลให้ร่างกายอยากอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่สูงแล้ว ฮอร์โมนจากความเครียดที่ชื่อว่าคอร์ติซอล ยังอาจไปเพิ่มไขมันที่เกาะตามร่างกายและทำให้เซลล์ไขมันใหญ่ขึ้น
เมื่อเกิดความเครียดจึงควรผ่อนคลายอารมณ์ด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสังสรรค์กับเพื่อนหรือครอบครัว และควรพูดคุยปรึกษากับผู้อื่นเพื่อระบายความทุกข์ใจบ้างเป็นครั้งคราว
พักผ่อนให้เพียงพอ
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอหรือประมาณ 7–8 ชั่วโมง/วัน เนื่องจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เต็มที่อาจส่งผลให้อ้วนลงพุงได้ โดยงานวิจัยหนึ่งพบว่าผู้ที่นอนหลับพักผ่อนเพียงพอมีการเพิ่มขึ้นของไขมันในช่องท้องน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่นอนน้อย
การแก้ปัญหาอ้วนลงพุงที่ยั่งยืนนั้นต้องอาศัยความอดทนและมีวินัย และหากพบอาการผิดปกติหรืออาการที่น่าวิตกกังวลใด ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น เจ็บที่ท้อง ช่องท้องขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อตรวจดูความผิดปกติ วางแผนการรักษาที่เหมาะสม และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น