เกลื้อน (Tinea Versicolor)

ความหมาย เกลื้อน (Tinea Versicolor)

เกลื้อน (Tinea Versicolor) เป็นโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังทั่วไปชนิดหนึ่ง เกิดจากราที่อาศัยอยู่ตามผิวหนัง ปรากฏในลักษณะเป็นดวงเล็ก ๆ ที่อาจมีสีเข้มหรือสีอ่อนกว่าสีผิวปกติบริเวณรอบ โดยมักเกิดขึ้นที่ลำตัวหรือต้นแขน และหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาก็จะสามารถรวมตัวกันและขยายเป็นดวงใหญ่ขึ้น

เกลื้อนสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และมักถูกเข้าใจผิดว่าเกิดจากการไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย และสามารถติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นแล้วมักมีโอกาสกลับไปเป็นอีกครั้งได้ง่ายแม้รักษาหายแล้ว จึงควรเรียนรู้การวิธีการรักษาเกลื้อนและวิธีการป้องกันการติดเชื้อราเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นเกลื้อนซ้ำอีก

เกลื้อน

อาการของโรคเกลื้อน

ลักษณะของการติดเชื้อราเกลื้อนอาจสังเกตได้ดังนี้

  • มีดวงขึ้นเป็นสีขาว ชมพู แดง หรือน้ำตาล โดยจะมีสีเข้มหรืออ่อนกว่าผิวหนังปกติบริเวณรอบ
  • อาจขึ้นเป็นดวงเดียวหรือหลายดวงก็ได้
  • สามารถเกิดบนร่างกายทุกส่วน แต่มักพบบริเวณลำตัว คอ ต้นแขน และหลัง
  • ดวงเกลื้อนอาจจางลงหรือหายไปเมื่อสภาพอากาศเย็น หรืออาการอาจแย่ลงหากอากาศร้อนหรือชื้น
  • อาจทำให้ผิวแห้ง ตกสะเก็ด หรือคัน
  • บางคนที่เป็นเกลื้อน ผิวหนังอาจไม่ได้แสดงการเปลี่ยนแปลงลักษณะหรือสีอย่างเห็นได้ชัด

สาเหตุของโรคเกลื้อน

เกลื้อนเกิดจากเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ที่อยู่ตามผิวหนัง โดยปกติผิวของคนเราส่วนใหญ่จะมีเชื้อราชนิดนี้อยู่แล้ว แต่จะส่งผลให้ติดเชื้อก็ต่อเมื่อมีมากกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เชื้อรานี้เติบโตขึ้นก็ยังไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่ามีปัจจัยที่เป็นตัวเร่ง ได้แก่

  • อากาศร้อนและชื้น
  • ผิวมัน
  • มีเหงื่อออกมากเกินไป
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • อยู่ในช่วงวัยรุ่น หรือช่วงอายุ 20 ปีตอนต้น

ทั้งนี้การเกิดของเกลื้อนไม่เกี่ยวกับการไม่รักษาสุขอนามัยแต่อย่างใด โดยสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบได้บ่อยในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และจะไม่แพร่ไปสู่ผู้อื่น เพราะคนส่วนใหญ่มักมียีสต์มาลาสซีเซียอยู่บนผิวหนังอยู่แล้ว

การวินิจฉัยโรคเกลื้อน

โรคเกลื้อนสามารถตรวจดูได้ด้วยการใช้ตาเปล่าสังเกตลักษณะของดวงเกลื้อน หรือแพทย์อาจใช้แสงอัลตร้าไวโอเล็ตส่องวินิจฉัย โดยหากเป็นการติดเชื้อจากเชื้อราตัวดังกล่าวจะส่งผลให้ผิวบริเวณนั้นเรืองแสงขึ้น

ในกรณีที่การสังเกตลักษณะเกลื้อนไม่อาจวินิจฉัยได้ชัดเจน แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเชื้อรา ด้วยการขูดเอาเซลล์ผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อเบา ๆ แล้วนำไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่ามีเชื้อที่เป็นสาเหตุอยู่หรือไม่

การรักษาโรคเกลื้อน

โรคเกลื้อนสามารถรักษาให้หายด้วยยาต้านเชื้อราที่อาจอยู่ในรูปแบบแชมพู ครีม หรือยารับประทานก็ได้

แชมพูขจัดเชื้อรา 

ในขั้นแรกของการรักษา แพทย์มักแนะนำให้ใช้แชมพูขจัดเชื้อราที่ประกอบด้วยตัวยาต้านเชื้อรา เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium sulphide) ซึ่งแพทย์อาจสั่งจ่ายแชมพูนี้ให้ผู้ป่วย หรือหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปก็ได้

การรักษาใช้ทาบนบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อราทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที ค่อยล้างออก และควรทาซ้ำนาน 5-7 วัน ข้อควรระวังในการใช้คือยานี้สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแสบร้อนผิวหนัง โดยเฉพาะตัวยาซีลีเนียมซัลโฟด์ที่มีความรุนแรงและมีกลิ่นแรงกว่า สามารถนำไปผสมน้ำเพื่อทำให้เจือจางลงก่อนทา

ครีมหรือเจลขจัดเชื้อรา 

กรณีที่ผิวหนังติดเชื้อราเพียงจุดเล็ก ๆ อาจรักษาด้วยครีมขจัดเชื้อรา โดยทาวันละ 1-2 ครั้ง ลงบนผิวหนังเช่นเดียวกับการใช้แชมพู แต่ไม่ต้องล้างออก ครีมต้านเชื้อรานี้บางครั้งอาจก่อให้เกิดอาการแสบร้อนที่ผิวหนัง แต่พบได้ไม่บ่อยครั้ง ยาต้านเชื้อราประเภทครีม ได้แก่ โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ไมโครนาโซล (Miconazole) และเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) เป็นต้น

ยาต้านเชื้อรา 

ผิวหนังที่ติดเชื้อราเป็นบริเวณกว้าง หรือการใช้แชมพูและครีมไม่ได้ผล ผู้ป่วยอาจได้รับยาชนิดรับประทานจากแพทย์ เช่น ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) และไอทราโคนาโซล (Itraconazole) เป็นระยะเวลา 1-4 สัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่ยานี้มักไม่ค่อยพบผลข้างเคียงการใช้ แต่หากมีก็อาจทำให้มีผื่นคัน รู้สึกป่วย และปวดท้องในระหว่างที่รับประทานยานี้

ยา ครีม และแชมพูขจัดรังแคเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนกว่าผิวหนังจะกลับมาเป็นสีปกติ หรืออาจต้องรักษาซ้ำหากเป็นนานหรือกลับไปเป็นอีกครั้ง

ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเกลื้อนบ่อยครั้งและมีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาต้านเชื้อราให้รับประทาน 2-3 ครั้งต่อเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้ออีก

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเกลื้อน

โรคเกลื้อนไม่ได้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ต่อร่างกาย แต่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอายจากการเป็นโรค เนื่องจากสามารถสังเกตเห็นได้ชัด และคนส่วนใหญ่มักมีความเข้าใจว่าโรคกลากและเกลื้อนนั้นเกิดจากการไม่รักษาความสะอาด แม้แท้จริงแล้วการเกิดเกลื้อนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขอนามัยแต่อย่างใด

การป้องกันโรคเกลื้อน

โรคเกลื้อนมีโอกาสกลับไปเป็นอีกครั้งได้ง่าย แม้ว่าจะรักษาหายไปแล้ว โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนหรือเมื่ออากาศร้อนชื้น การป้องกันการติดเชื้อราอีกครั้งสามารถทำได้ด้วยการใช้แชมพูขจัดเชื้อราเป็นประจำ ทุก 2-4 สัปดาห์ หรือวันละ 1 ครั้ง ในช่วง 2-3 วันก่อนออกไปทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสอากาศร้อนนาน ๆ หรือทำให้มีเหงื่อออกมาก

นอกจากการใช้แชมพูขจัดเชื้อราทำความสะอาดเป็นประจำแล้ว ยังมีข้อปฏิบัติที่ทำได้ดังนี้

  • เลี่ยงการทำให้เหงื่อออกมาก
  • เลี่ยงการเผชิญแสงแดดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากจะกระตุ้นให้อาการแย่ลงและเห็นเกลื้อนชัดขึ้น อาจใช้หมวกหรือผ้าคลุมกันแดด
  • ควรทาครีมกันแดดทุกวัน เลือกใช้สูตรที่มีความมันน้อย และมี SPF 30 ขึ้นไป
  • เลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวที่เป็นน้ำมันหรือมีส่วนผสมของน้ำมัน
  • เลือกสวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนและความชื้น เพื่อลดเหงื่อออก เช่น ผ้าฝ้าย
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป