ความหมาย เข่าบวม (Swollen Knee)
เข่าบวม เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อบริเวณข้อเข่ามีของเหลวไปสะสมอยู่ในปริมาณมาก จนส่งผลให้ผู้ที่มีอาการเข่าบวมเกิดอาการปวดเข่า เจ็บเข่า รู้สึกแน่นหรือตึงบริเวณเข่า เกิดรอยแดงที่เข่า และรู้สึกร้อนบริเวณเข่า
บริเวณหัวเข่าเป็นบริเวณที่เชื่อมระหว่างส่วนปลายกระดูกต้นขาและส่วนต้นของกระดูกหน้าแข้ง อีกทั้งยังเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเส้นประสาทหลายส่วน โดยอาการเข่าบวมจะเกิดขึ้นเมื่ออวัยวะเหล่านี้เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งก็อาจเป็นได้ทั้งจากการเล่นกีฬา การเกิดอุบัติเหตุ ไปจนถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ
สาเหตุของอาการเข่าบวม
อาการเข่าบวมเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา การเกิดอุบัติเหตุที่เข่า การใช้งานหัวเข่าหนักเกินไป ไปจนถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด โดยตัวอย่างโรคที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเข่าบวมได้ก็เช่น
- โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) หรือภาวะที่กระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อกระดูกเสื่อมสภาพหรือเกิดความเสียหาย ซึ่งส่งผลให้กระดูกเสียดสีกันขณะเคลื่อนไหวร่างกาย
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติโดยการไปทำลายเนื้อเยื่อในร่างกาย
- ข้ออักเสบจากการติดเชื้อ (Septic Arthritis) โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการที่ข้อต่อเกิดการติดเชื้อและอักเสบ
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อของผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง
- โรคเก๊าท์ (Gout) โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากการที่เลือดมีกรดยูริกสะสมอยู่มาก จนส่งผลให้เกิดผลึกที่มีลักษณะแหลมตามข้อต่าง ๆ
- ถุงของเหลวหล่อลื่นบริเวณข้อต่ออักเสบ (Bursitis)
- เอ็นอักเสบ (Tendinitis)
- การเกิดซีสต์ (Cyst) หรือถุงน้ำ
- มีเนื้องอก
อาการเข่าบวม
ผู้ที่มีอาการเข่าบวมอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยอาการที่อาจพบได้ก็เช่น
- ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ เข่าบวม
- รู้สึกตึงบริเวณเข่า งอหรือยืดเข่าลำบาก
- ปวดเข่า โดยเฉพาะขณะใช้เข่ารับน้ำหนัก
- เข่าเกิดการผิดรูป
- ข้อเข่าแดง และรู้สึกร้อนบริเวณข้อเข่า
- มีไข้
สัญญาณสำคัญของอาการเข่าบวมที่ควรไปพบแพทย์
ในบางครั้ง อาการเข่าบวมอาจดีขึ้นได้เองจากการพักการใช้เข่าและการประคบที่เข่า แต่หากเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้นเลยเมื่อเวลาผ่านไป ผู้ที่มีอาการปวดเข่าก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีอาการปวดเข่าที่เข้าข่ายในลักษณะดังต่อไปนี้ ผู้ที่มีอาการปวดเข่าควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- อาการปวดเข่าเกิดขึ้นหลังจากการเกิดอุบัติเหตุหรือตกจากที่สูง
- หัวเข่าบวมแดง และรู้สึกร้อนที่เข่า
- หัวเข่าบวมอย่างรุนแรง
- ไม่สามารถเคลื่อนไหวหัวเข่าได้
- ปวดเข่าอย่างรุนแรง
- หัวเข่าอยู่ในลักษณะผิดรูป
- หัวเข่าไม่สามารถรับน้ำหนักได้
การวินิจฉัยอาการเข่าบวม
สำหรับการวินิจฉัยอาการเข่าบวม แพทย์จะสอบถามอาการ โรคประจำตัว และประวัติการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ก่อน รวมถึงแพทย์อาจตรวจร่างกายด้วยการให้ผู้ป่วยพยายามเหยียดขาร่วมด้วย จากนั้น แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น
- การวินิจฉัยด้วยภาพ เช่น การเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ และเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เพื่อตรวจดูความผิดปกติบริเวณเข่า
- การใช้เข็มเจาะบริเวณเข่าเพื่อเก็บตัวอย่างของเหลวไปส่งตรวจ เพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อ การอักเสบ ตรวจเลือด และตรวจดูกรดยูริก
การรักษาอาการเข่าบวม
ในการรักษาอาการเข่าบวม หากอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำเป็นเพียงการพักการใช้เข่า การประคบเย็น ร่วมกับการรับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ แต่หากลองทำด้วยวิธีเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
ส่วนในกรณีที่แพทย์เห็นว่าต้องรับการรักษาจากแพทย์ แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามสาเหตุของผู้ป่วยแต่ละคน โดยตัวอย่างการรักษาที่แพทย์อาจใช้ก็เช่น
- การทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับหัวเข่า โดยในบางคน แพทย์อาจใช้เครื่องพยุงเข่าร่วมด้วย
- การใช้ยา เช่น ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ยาปฏิชีวนะ และสเตียรอยด์
- การผ่าตัดหรือกระบวนการทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น การผ่าตัดเปิดหัวเข่าเพื่อรักษาภาวะกระดูกหัก การใช้เข็มเจาะระบายของเหลวที่เข่า หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม
ภาวะแทรกซ้อนของอาการเข่าบวม
ผู้ที่มีอาการเข่าบวมอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ เช่น การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถขยับเข่าได้มาก หรือในบางคนอาจเกิดก้อนซีสต์ในเข่าได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดเข่าอย่างรุนแรงได้
การป้องกันอาการเข่าบวม
เนื่องจากอาการเข่าบวมสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ การป้องกันจึงอาจทำได้ยาก แต่ในเบื้องต้น ผู้ป่วยก็ยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดเข่าบวมได้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมที่มีการกระแทกที่หัวเข่ามาก ๆ
- พยายามควบคุมน้ำหนักตัว
- หากต้องทำกิจกรรมใด ๆ ที่เสี่ยงต่อการล้ม ควรใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการล้มเสมอ เช่น หากต้องปีนขึ้นที่สูง ก็ควรเลือกใช้บันไดที่แข็งแรงและมั่นคงแทนการปีนด้วยเก้าอี้
- หากต้องทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่อาจมีการกระแทกที่เข่า ให้พยายามสวมใส่อุปกรณ์ที่เหมาะสมเสมอ และหากมีอาการปวดเข่าอยู่ก็ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน
- ควรอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง รวมถึงควรคูลดาวน์และยืดกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกายด้วย