นอกจากภาระงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องทำในแต่ละวันจะทำให้รู้สึกเหนื่อยแล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างนอนดึก ดื่มแอลกอฮอล์ และรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ก็อาจทำให้รู้สึกอ่อนล้าและหมดแรงในการทำสิ่งอื่น ๆ ต่อไปได้ ทว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยเคล็ดลับต่าง ๆ อาจช่วยทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉงและกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาได้
เคล็ดลับเพิ่มพลังเอาชนะความเหนื่อย
เคล็ดลับต่อไปนี้ อาจช่วยแก้ปัญหาอาการเหนื่อยล้า และกระตุ้นให้รู้สึกมีพลังขึ้นมาได้
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
พฤติกรรมการรับประทานอาหารอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยและไม่มีแรง เช่น รับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการแปลงสภาพวัตถุดิบที่มีน้ำตาลและไขมันสูง รับประทานอาหารไม่ตรงเวลาและไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เป็นต้น ดังนั้น ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งรับประทานอาหารให้ตรงเวลาเสมอ เพื่อช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีพลังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
บริโภคน้ำตาลและของหวานให้น้อยลง
แม้ว่าน้ำตาลจะช่วยกระตุุ้นให้ร่างกายมีพลังงาน แต่ความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารอินซูลินออกมาปริมาณมากเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็วนี้อาจส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยล้าได้
เพิ่มปริมาณการบริโภคแมกนีเซียม
ภาวะขาดแมกนีเซียมอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและร่างกายต้องการออกซิเจนมากกว่าเดิม ซึ่งส่งผลให้ร่างกายทำงานหนักและอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยได้ จึงควรรับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งปริมาณที่แนะนำต่อวัน คือ 350 มิลลิกรัมสำหรับผู้ชาย และ 300 มิลลิกรัมสำหรับผู้หญิง โดยอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง ได้แก่ อัลมอนด์ เฮเซลนัต เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ธัญพืช และปลา
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
ในแต่ละวันร่างกายจะสูญเสียน้ำจากการถ่ายปัสสาวะและการเสียเหงื่อ ดังนั้น ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อชดเชยปริมาณน้ำที่เสียไปและป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งภาวะนี้อาจส่งผลต่อการทำงานของสมอง อารมณ์ และระดับพลังงานในร่างกายจนทำให้รู้สึกเหนื่อย ควรดื่มน้ำเมื่อรู้สึกกระหายน้ำหรือมีเหงื่อออกมากทั้งจากสภาพอากาศที่ร้อนและจากการออกกำลังกาย ทั้งนี้ ผู้สูงอายุอาจไม่ค่อยรู้สึกกระหายน้ำแม้ว่าร่างกายจะต้องการน้ำก็ตาม จึงควรพยายามดื่มน้ำบ่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
เข้านอนเร็วขึ้น
การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าระหว่างวันได้ จึงควรเข้านอนให้เร็วขึ้นเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ หรืออาจงีบหลับช่วงสั้น ๆ ในระหว่างวันเป็นเวลาประมาณ 10 นาที เพื่อช่วยเพิ่มพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ นอกจากนี้ การดื่มกาแฟหลังงีบหลับอาจช่วยทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากยิ่งขึ้น แต่ไม่ควรงีบหลับนานเกิน 30 นาที เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืนได้
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากการออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคเบาหวานแล้ว ยังช่วยเพิ่มพลังให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าได้ด้วย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ต้องนั่งเป็นเวลานานจะรู้สึกเหนื่อยล้าน้อยลงถึง 65 เปอร์เซ็นต์หลังออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน ทั้งนี้ อาจหัดเคลื่อนไหวร่างกายให้เป็นนิสัยด้วยการออกไปเดินเล่นในช่วงพักเที่ยง หรือเดินจากบ้านไปที่ทำงานหากระยะทางไม่ไกลมากนัก
ควบคุมความเครียด
ภาวะเครียดอาจทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า และอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจได้ ทว่าการทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดอาจช่วยให้รู้สึกมีพลังขึ้นมาได้ เช่น ให้เวลาตัวเองมากขึ้น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ หรือออกไปเดินเล่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากมีภาวะเครียดอย่างรุนแรงหรือรู้สึกวิตกกังวลอย่างมาก ควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตโดยตรง
แบ่งเบาภาระงาน
ภาระหน้าที่ที่หนักเกินไปอาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย จึงควรจัดลำดับความสำคัญของงานให้ดี แยกสิ่งที่ต้องทำก่อนกับสิ่งที่สามารถทำทีหลังได้ เพื่อให้สามารถบริหารเวลาและจัดระเบียบการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีปริมาณงานมากเกินกว่าจะบริหารเวลาได้ตามกำหนด อาจขอความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือคนรอบข้างเพื่อช่วยให้งานสำเร็จลุล่วงได้
ปรับพฤติกรรมให้เข้ากับนาฬิกาชีวิต
บางคนอาจรู้สึกสดชื่นในช่วงเวลาตอนเช้า แต่บางคนกลับรู้สึกกระปรี้กระเปร่าในตอนเย็น โดยความแตกต่างของแต่ละบุคคลนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางสมองและพันธุกรรมซึ่งยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ควรสังเกตนาฬิกาชีวิตของตนเองให้ดี แล้วจัดสรรกิจกรรมหรือสิ่งที่ต้องทำในช่วงเวลาที่ร่างกายมีพลังงานมากที่สุด
เข้าสังคม
การเข้าสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้มีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดี เนื่องจากการเก็บตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวอาจส่งผลกระทบต่อภาวะทางอารมณ์ และอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าได้โดยเฉพาะเมื่ออายุเริ่มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เมื่อรู้สึกเหนื่อยหรือไม่มีแรงทำกิจกรรมใด ๆ ควรออกไปสังสรรค์ พบปะพูดคุยกับเพื่อน เข้าร่วมกลุ่มทางสังคม หรือทำงานอดิเรก เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้ดีขึ้น
จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กล่อมประสาทและทำให้รู้สึกง่วงซึม การดื่มแอลกอฮอล์จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้ แม้หลายคนเชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยทำให้นอนหลับสนิทมากขึ้น แต่แอลกอฮอล์ก็อาจส่งผลกระทบต่อการนอนได้ โดยจะทำให้รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น และอาจต้องตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อปัสสาวะเนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขับปัสสาวะด้วย ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเวลาเข้านอน และจำกัดปริมาณในการดื่มให้เหมาะสม โดยผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2 หน่วย และผู้หญิงไม่เกิน 1 หน่วยบริโภคต่อวัน
งดสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ทำลายสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น โดยสารพิษและสารเสพติดที่อยู่ในบุหรี่จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง และอาจส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในร่างกายลดลงจนทำให้รู้สึกเหนื่อย จึงควรงดสูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ โดยอาจเคี้ยวหมากฝรั่งนิโคตินเพื่อช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น
ใส่ใจสุขภาพและเข้ารับการตรวจหาโรค
ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตนเอง หากรู้สึกเหนื่อยผิดปกติก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ เพราะภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆ อาจส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยได้ เช่น เบาหวาน ข้ออักเสบ โลหิตจาง ไทรอยด์ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือโรคหัวใจ เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิดก็อาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียได้ เช่น ยาต้านฮีสตามีน และยาขับปัสสาวะ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อไปตรวจก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาที่ใช้อยู่ทั้งหมดด้วย