ความหมาย เชื้อราที่เล็บ
เชื้อราที่เล็บ (Fungal Nail Infection) เป็นโรคที่พบเห็นได้ทั่วไปและติดต่อได้ผ่านการสัมผัส เกิดจากการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เล็บ โดยสามารถเกิดได้ทั้งในเล็บมือและเล็บเท้า แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่เล็บเท้า เนื่องจากความอบอุ่นและความชื้นจากการใส่รองเท้าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เชื้อราก่อตัวขึ้น อีกทั้งบริเวณนิ้วเท้ามีการหมุนเวียนของเลือดน้อยกว่าบริเวณนิ้วมือ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เดินทางมากับเลือดตรวจจับและกำจัดเชื้อโรคได้ยาก อาการบ่งชี้ในขั้นแรก คือพบจุดสีขาวหรือสีเหลืองบริเวณปลายเล็บ และหากเชื้อราเริ่มขยายตัว อาจทำให้เล็บหนาขึ้น เล็บเปลี่ยนสี เกิดขุยหนาใต้เล็บ เล็บแยกตัวออกจากฐานเล็บ ซึ่งอาจสังเกตเห็นเป็นโพรงหรือช่องว่างใต้เล็บ
อาการของเชื้อราที่เล็บ
ในระยะแรก อาจไม่สามารถสังเกตได้ถึงอาการป่วยหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเล็บ ทั้งนี้ ความผิดปกติจะเริ่มแสดงออกมาเมื่อเชื้อราเริ่มขยายตัว โดยเกิดจากขอบเล็บแล้วค่อย ๆ ขยายไปยังกลางเล็บ ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่เล็บมือหรือเล็บเท้า และมักมีเล็บที่ติดเชื้อราประมาณ 1-3 เล็บ โดยผู้ป่วยเชื้อราในเล็บมักจะมีอาการดังนี้
- เล็บเปลี่ยนสี เล็บของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนเป็นสีดำ สีขาว สีเหลือง หรือสีเขียว
- เล็บหนาขึ้นหรือผิดรูป เล็บของผู้ป่วยอาจมีรูปร่างผิดปกติ ซึ่งทำให้ยากต่อการตัดแต่ง
- มีอาการเจ็บที่เล็บ โดยเฉพาะเมื่อกดลงไปแรง ๆ บริเวณเล็บที่ติดเชื้อรา
- เล็บเปราะ เล็บที่ติดเชื้อราจะเปราะและแตกหักง่าย
- คันผิวหนังบริเวณเล็บ ในบางครั้ง ผิวหนังบริเวณเล็บที่ติดเชื้อราอาจเกิดอาการคัน บวม หรือแดง
สาเหตุของเชื้อราที่เล็บ
เชื้อราคือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแสงแดด มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่อุ่นและชื้น ด้วยขนาดที่เล็กมากทำให้มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ยาก และจึงสามารถเข้าไปอาศัยในร่างกายได้ผ่านแผลขนาดเล็กหรือร่องระหว่างเล็บและเนื้อเยื่อรองเล็บ (Nail Bed) เชื้อราบางชนิดมีประโยชน์ แต่บางชนิดก็ก่อโทษแก่ร่างกาย เชื้อรากลุ่มหลักที่ทำให้เกิดโรคเชื้อราในเล็บได้แก่เชื้อราชนิด Dermatophyte เป็น
เชื้อราที่เล็บมีโอกาสเกิดกับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย โดยมีปัจจัยหรือพฤติกรรมบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเชื้อราที่เล็บได้ ดังนี้
- ไม่รักษาความสะอาดของเท้า หรือเดินเท้าเปล่าในพื้นที่สาธารณะซึ่งชื้นหรือมีน้ำท่วมขัง เช่น ห้องอาบน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ เป็นต้น
- สวมรองเท้าที่คับหรืออับชื้น
- มีแผลบริเวณเล็บนิ้วมือ เล็บนิ้วเท้า
- ล้างมือบ่อย หรือต้องทำงานที่ทำให้มือชื้นตลอดเวลา เช่น ทำอาหาร ทำความสะอาด เป็นต้น
- เชื้อราในเล็บเท้าอาจติดต่อไปยังเล็บมือได้ หากผู้ป่วยใช้มือเกาหรือสัมผัสกับเท้าบริเวณที่เป็นโรค
- เป็นโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเกิดจากเชื้อราบนผิวหนังบริเวณนิ้วเท้า โดยเชื้อราอาจลุกลามจากบริเวณนิ้วเท้ามาที่เล็บเท้าได้ หากผู้ป่วยไม่ได้รักษาโรคน้ำกัดเท้าอย่างทันท่วงที
- เป็นโรคเฉพาะบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคสะเก็ดเงิน หรือโรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
- มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ
- สูบบุหรี่
การวินิจฉัยเชื้อราที่เล็บ
เนื่องจากอาการบ่งชี้ถึงโรคเชื้อราที่เล็บ ไม่ว่าจะเป็นเล็บเปลี่ยนสี เล็บผิดรูป เล็บเปราะ หรือคันผิวหนังบริเวณเล็บ อาจมีสาเหตุมาจากโรคทางผิวหนังชนิดอื่น ดังนั้น หากพบว่าเล็บหรือผิวหนังมีความผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาทันที โดยแพทย์จะตรวจสอบเล็บที่ผิดปกติ และอาจขูดเศษเนื้อเยื่อใต้เล็บเพื่อนำไปตรวจสอบหาชนิดของเชื้อราเพื่อหาวิธีรักษาต่อไป
การรักษาเชื้อราที่เล็บ
โรคเชื้อราที่เล็บเป็นโรคที่ไม่เร่งด่วน หากมีอาการเพียงเล็กน้อย แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยตนเอง โดยเน้นเรื่องการรักษาความสะอาดของเล็บเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการอื่นร่วม เช่น บวม แดงบริเวณเล็บ เล็บผิดรูปมาก เดินลำบาก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น โรคที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันโรคลุกลาม
การรักษาเชื้อราที่เล็บด้วยตนเอง
- รักษาความสะอาดของเล็บและหลีกเลี่ยงการทำให้เล็บอับชื้น
- ใช้กรรไกรตัดเล็บตัดเล็บส่วนที่ติดเชื้อรา
การรักษาเชื้อราที่เล็บโดยแพทย์ แบ่งออกเป็น 3 วิธีหลัก ๆ ได้แก่
- การใช้ยารับประทานต้านเชื้อรา โดยส่วนใหญ่อาจต้องรับประทานต่อเนื่องหลายเดือน ซึ่งยาต้านเชื้อราอาจส่งผลข้างเคียงทำให้ปวดหัว รู้สึกคัน ความสามารถในการรับรสลดลง ท้องร่วง
- การใช้ทายาเฉพาะที่ ผู้ป่วยจะได้รับยาทาสำหรับใช้ภายนอก ซึ่งมีหลายชนิดทั้งแบบที่เป็นสารละลายและยาทาเคลือบเล็บ บางชนิดอาจใช้เพียงสัปดาห์ละครั้ง โดยทาลงบนเล็บที่มีเชื้อรา
- การใช้วิธีอื่น ๆ ในการรักษา
- การถอดเล็บ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ถอดเล็บ ควบคู่ไปกับการรับประทานยาต้านเชื้อรา
- การรักษาทางเลือกใหม่ ในปัจจุบันมีงานวิจัยเพื่อศึกษาวิธีการรรักษาเชื้อราในเล็บวิธีใหม่ เช่น การใช้เลเซอร์ การใช้อัลตร้าซาวด์ แม้ผลลัพธ์ภายหลังการรักษาในเบื้องต้นนั้นเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังไม่มีงานวิจัยใดที่ให้ข้อมูลเพียงพอต่อผลลัพธ์ในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยเชื้อราที่เล็บควรตระหนักไว้ว่า การรักษาเชื้อราต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือน และบางครั้งก็ไม่สามารถช่วยให้เชื้อราหายไปทั้งหมดหรือทำให้เล็บที่ผิดปกติกลับมามีลักษณะดังเดิมได้ อีกทั้งเชื้อรายังมีโอกาสกลับมาเกิดซ้ำ ดังนั้น การวินิจฉัยที่ถูกต้องจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจผลลัพธ์ก่อนหยุดรักษา จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการรรักษาเชื้อราที่เล็บ
ภาวะแทรกซ้อนของเชื้อราที่เล็บ
ผู้ป่วยเชื้อราที่เล็บที่มีอาการรุนแรง แม้จะได้รับการรรักษาจนเชื้อราหมดไปแล้ว แต่มีความเป็นไปได้ที่เล็บอาจไม่กลับมาอยู่ในสภาพปกติ นอกจากนั้น ผู้ป่วยเชื้อราที่เล็บที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งโดยปกติจะการไหลเวียนเลือดและการรับรู้จากเส้นประสาทที่เท้ามักลดลง เชื้อราในเล็บเท้าอาจแพร่กระจายและก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงบริเวณเท้าและอวัยวะอื่นได้
การป้องกันเชื้อราที่เล็บ
โดยทั่วไปสามารถป้องกันการติดเชื้อราที่เล็บได้ จากการลดปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดเชื้อราที่เล็บ ได้แก่
- รักษามือและเท้าให้สะอาด และหลีกเลี่ยงการทำให้อับชื้น
- หลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่าในสถานที่สาธารณะบนพื้นที่ชื้นหรือมีน้ำขัง เช่น ห้องอาบน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ เป็นต้น
- สวมใส่รองเท้าที่ไม่คับจนเกินไปและไม่ใส่รองเท้าที่อาจมีการสะสมของเชื้อรา
- สวมรองเท้าและถุงเท้าจากวัสดุธรรมชาติ เพราะจะช่วยให้ระบายอากาศบริเวณเท้าได้ดีขึ้น
- ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการใช้กรรไกรตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น
- ใช้ผ้าเช็ดตัวและถุงเท้าที่สะอาด หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัวและถุงเท้าร่วมกับผู้อื่น
- หากเป็นโรคน้ำกัดเท้า ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา และป้องกันเชื้อราลุกลาม