เด็กทารกอายุ 7 เดือน กับการเจริญเติบโตที่เกิดขึ้น

เด็กทารกอายุ 7 เดือนนั้น ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะพัฒนาการทางร่างกาย ซึ่งเจ้าตัวเล็กในช่วงวัยนี้อาจเริ่มคลาน กลิ้งตัว และนั่งเองได้โดยไม่ต้องช่วยเหลือ นอกจากนี้ พัฒนาการและทักษะด้านอื่น ๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัดเช่นเดียวกัน โดยทารกบางรายอาจเริ่มกินอาหารบางอย่างนอกเหนือจากนมแม่และนมผงได้แล้ว อีกทั้งยังอาจเริ่มเข้าใจคำสั้น ๆ ได้อีกด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของทารกในวัยนี้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้สมบูรณ์อย่างสมวัย

Seven Month Old Baby

การเจริญเติบโตของลูกน้อยวัย 7 เดือน

เมื่อเจ้าตัวเล็กเติบโตขึ้นจนมีอายุได้ 7 เดือนก็จะมีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งขนาดของร่างกาย ปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวัน รวมถึงเวลานอนด้วยเช่นกัน โดยมีรายละเอียดด้านต่าง ๆ ดังนี้

การเจริญเติบโตของร่างกาย

เด็กทารกในวัยนี้อาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนประมาณ 450-560 กรัม และความยาวจากหัวจรดเท้าอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 เซนติเมตร ทำให้เด็กทารกเพศชายอายุ 7 เดือนจะมีน้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 68 เซนติเมตร ส่วนเด็กทารกเพศหญิงจะมีน้ำหนักประมาณ 7 กิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 66 เซนติเมตร แต่การเจริญเติบโตของเด็กบางคนอาจไม่ตรงตามเกณฑ์ดังกล่าวก็ได้

นอกจากนี้ ลูกน้อยในวัย 5-7 เดือนอาจเริ่มมีฟันงอกขึ้นมาแล้ว ซึ่งผู้ปกครองอาจสังเกตได้จากการที่เด็กมีน้ำลายไหลหรืออาจมีอาการงอแงมากกว่าปกติ โดยฟัน 2 ซี่ด้านล่างอาจงอกขึ้นก่อนแล้วตามด้วยฟัน 2 ซี่ด้านบน และฟันด้านข้างควรจะงอกขึ้นมาภายในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า แต่ฟันของเด็กบางคนอาจไม่ได้งอกในช่วงเวลานี้ เพราะเด็กบางคนอาจมีฟันงอกขึ้นมาอยู่แล้วตั้งแต่ตอนคลอด หรือบางคนอาจเพิ่งมีฟันงอกขึ้นมาให้เห็นหลังจากอายุ 1 ปีแล้วก็ได้

การกิน

เด็กทารกวัย 7 เดือนยังคงดื่มนมแม่หรือนมผงเป็นอาหารหลัก แต่อาจเริ่มรับประทานอาหารที่มีเนื้อหยาบได้บ้างแล้ว โดยปกติหากเป็นนมแม่ เด็กจะดื่มทุก 3-4 ชั่วโมง แต่หากต้องการปั๊มนมเก็บไว้ ควรปั๊มเก็บไว้วันละประมาณ 740 มิลลิลิตรหรือ 25 ออนซ์ แล้วแบ่งออกให้เท่ากับจำนวนครั้งที่เด็กดื่มในแต่ละวัน ส่วนในกรณีที่คุณแม่ให้เจ้าตัวเล็กดื่มนมผง ควรชงนมให้เด็กดื่มครั้งละประมาณ 180-240 มิลลิลิตรหรือประมาณ 6-8 ออนซ์ โดยให้ดื่ม 4-6 ครั้งต่อวัน

สำหรับอาหารที่มีเนื้อหยาบ ควรเริ่มให้เด็กกิน 1-2 มื้อต่อวัน โดยอาจให้กินเพียงเล็กน้อยหรืออาจมากถึง 120-180 มิลลิลิตรก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเด็ก และควรสังเกตอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อให้เด็กลองกินไข่หรืออาหารชนิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้เด็กกินนมวัวชนิดกล่อง น้ำผึ้ง ผักที่มีเนื้อแข็ง เมล็ดถั่ว หรืออาหารอื่น ๆ ที่อาจทำให้เด็กสำลัก

การนอน

หนูน้อยวัย 7 เดือนควรนอนวันละประมาณ 14-15 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นนอนตอนกลางคืนประมาณ 6-11 ชั่วโมง ซึ่งเด็กบางคนอาจหลับยาวตลอดทั้งคืนแต่บางคนอาจตื่นกลางดึกได้ และในเวลากลางวันเด็กอาจนอนเป็นช่วง ๆ ประมาณ 2 ครั้งรวมแล้วประมาณ 3-4 ชั่วโมง

พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกรักวัย 7 เดือน

พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ เด็กทารกในวัยนี้สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องคอยจับ และอาจทรงตัวในท่ายืนขณะมีคนประคองอยู่ได้ อีกทั้งยังดึงสิ่งของเข้ามาหาตัวและหยิบมาไว้ในมือ ถือแก้วน้ำและยกแก้วน้ำขึ้นมาดื่มเอง รวมทั้งอาจกินอาหารจากช้อนได้ นอกจากนี้ เด็กอาจคลาน กลิ้ง หรือไถลำตัวไปกับพื้นได้แล้ว หรือเด็กอาจใช้หลายวิธีร่วมกันเพื่อช่วยในการเคลื่อนที่

พัฒนาการด้านการมองเห็นและการได้ยิน ระยะการมองเห็นของเด็กวัย 7 เดือนจะเพิ่มขึ้น และดวงตาของเด็กจะมองเห็นทุกอย่างเป็นภาพสีได้แล้ว รวมถึงการได้ยินของเด็กก็พัฒนาขึ้นเช่นกัน โดยเมื่อเด็กได้ยินเสียงคนพูด เด็กอาจรู้ว่าผู้พูดอยู่ตรงไหน นอกจากนี้ เด็กอาจพยายามเลียนแบบเสียงและวิธีการพูดอีกด้วย

พัฒนาการด้านการสื่อสาร ความจำของทารกอายุ 7 เดือนจะพัฒนาขึ้นอย่างมาก ซึ่งเจ้าตัวเล็กอาจเข้าใจถึงการมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ แม้ตนเองไม่ได้มองเห็นแล้ว โดยสังเกตได้ว่าเด็กจะเริ่มโยนสิ่งของลงพื้นและมองตาม อีกทั้งทารกวัยนี้จะเริ่มเข้าใจความหมายของคำพูดมากขึ้น โดยเด็กอาจหันไปหาผู้พูดเมื่อมีคนเรียกชื่อของตนเอง หรือแสดงปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อถูกปฏิเสธแม้จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทุกครั้งก็ตาม และเด็กอาจพยายามสื่อสารด้วยการเปล่งเสียงหรือทำเสียงที่แตกต่างกัน อย่างการหัวเราะหรือออกเสียงสั้น ๆ ต่อเนื่องกันได้

นอกจากนี้ เด็กวัยนี้อาจแสดงอารมณ์ทางใบหน้าได้หลายแบบ ทั้งยังเข้าใจความรู้สึกของผู้พูดจากน้ำเสียงและสีหน้าได้อีกด้วย รวมทั้งเด็กอาจเกิดอาการติดแม่ (Separation Anxiety) เมื่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องทิ้งเด็กไว้กับคนในครอบครัวหรือพี่เลี้ยง ซึ่งอาจแก้ปัญหาได้ด้วยการออกจากบ้านตอนเด็กนอนหลับ หรือบอกให้พี่เลี้ยงใช้ของเล่นดึงความสนใจของเจ้าตัวน้อยไว้ตอนจะออกจากบ้าน โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหากลูกร้องไห้ เพราะเด็กจะหยุดร้องเองเมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่นาที

รวมเทคนิคการดูแลเด็กทารกวัย 7 เดือน

การเลี้ยงดูเด็กทารกนั้นจำเป็นต้องอาศัยความใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะเด็กยังมีพัฒนาการไม่เต็มที่ ทำให้บางครั้งอาจต้องมีเทคนิคเล็กน้อยที่อาจช่วยในการเลี้ยงดูเจ้าตัวเล็ก ดังต่อไปนี้  

  • ให้เด็กนั่งเก้าอี้สูง เพื่อให้เด็กร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับครอบครัว และยังเป็นการช่วยฝึกให้เด็กกินอาหารด้วยตัวเอง
  • วางของเล่นให้ไกลเกินกว่าที่เด็กจะเอื้อมถึง เพื่อกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้การเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบใหม่ ๆ
  • หากลูกน้อยมีฟันขึ้นแล้ว ควรแปรงฟันให้ลูกทุกวัน โดยใช้แปรงสีฟันเด็กแบบนุ่มร่วมกับใส่ยาสีฟันเล็กน้อยและน้ำเปล่า
  • ให้เด็กใช้ยางกัดหรือใช้ผ้าเพื่อบรรเทาอาการไม่สบายเหงือกเมื่อฟันเริ่มขึ้น โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ไม่ควรใช้ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของสารเบนโซเคน อย่างเจลบรรเทาอาการเจ็บเหงือกหรืออาการปวดฟันไปถูไปที่เหงือกของเด็ก เพราะสารดังกล่าวอาจทำให้เกิดอันตรายได้
  • เล่นกับเด็กเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ
  • อ่านหนังสือนิทานเล่มโปรดหรือนิตยสารที่มีสีสันสดใสให้เด็กฟัง พร้อมกับอธิบายว่ามีอะไรอยู่ในภาพบ้าง
  • เด็กในวัยนี้อาจเคลื่อนที่ได้บ้างแล้ว จึงไม่ควรวางของที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กไว้บนพื้น เช่น ของมีคม สารเคมี หรือสายไฟ เป็นต้น

สุดท้ายนี้ หากคุณแม่หรือผู้ปกครองมีความกังวลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของลูกน้อย หรือมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นกับเจ้าตัวเล็ก ควรพาเด็กไปหาหมอเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป