กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease: GERD) เป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันดี โดยอาการที่มักเกิดคือ รู้สึกได้ถึงน้ำรสเปรี้ยวหรือขมในปากและลำคอ เจ็บคอ เสียงแหบหรือมีอาการอื่น ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กรดหรืออาหารนั้นย้อนจากกระเพาะอาหารขึ้นมาในหลอดอาหารนั่นเอง
โรคกรดไหลย้อนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วน ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้าหรือโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน อีกทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตและการกินอาหารยังมีส่วนที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้อีกด้วย เช่น การกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิด การกินอาหารในปริมาณมาก กินอาหารใกล้เวลานอน การกินยาบางชนิด หรือการสูบบุหรี่ เป็นต้น
อาการของกรดไหลย้อนมีความรุนแรงหลายระดับ โดยผู้ป่วยอาจรู้สึกแสบร้อนกลางหน้าอกและลิ้นปี่ เจ็บหน้าอก กลืนลำบาก รู้สึกคล้ายมีก้อนในลำคอ คลื่นไส้ หากอาการกรดไหลย้อนเกิดขึ้นในตอนกลางคืนมักจะทำให้มีอาการไอเรื้อรัง กล่องเสียงอักเสบ รบกวนการนอนหลับ มีอาการของโรคหืดหรืออาการของโรคหืดรุนแรงมากขึ้นหากป่วยด้วยโรคนี้อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งบทความนี้จะช่วยแนะนำวิธีดูแลตนเองหากมีอาการกรดไหลย้อนเกิดขึ้นซ้ำ ๆ
การดูแลและวิธีบรรเทาอาการกรดไหลย้อนด้วยตนเอง
การดูแลและรักษากรดไหลย้อนด้วยตนเองนั้นจะเน้นไปที่การลดการย้อนของกรดในกระเพาะอาหารและช่วยรักษาความเสียหายภายในหลอดอาหาร อีกทั้งยังอาจช่วยป้องกันไม่ให้อาการของกรดไหลย้อนเกิดขึ้นซ้ำ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการใช้ยาหรือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น
รับประทานยาที่สามารถหาซื้อได้เอง
ยาที่สามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการกรดไหลย้อน ได้แก่
- ยาลดกรด (Antacids) จะช่วยบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็วด้วยการปรับสภาพกรดในกระเพาะอาหารให้เป็นกลาง แต่หากใช้มากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย และอาจส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติได้ในบางราย
- ยากลุ่มยับยั้งตัวรับฮิสทามีนชนิดที่ 2 (H2-Receptor Antagonist) ใช้เพื่อป้องกันการเกิดโรคกรดไหลย้อนด้วยการลดกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ได้นานกว่ายาลดกรด อาทิ ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) ยานิซาทิดีน (Nizatidine) หรือยาฟาโมทิดีน (Famotidine)
- ยายับยั้งการหลั่งกรด (Proton Pump Inhibitors: PPI) เป็นยาที่จะลดการหลั่งกรดภายในกระเพาะอาหารและช่วยรักษาเนื้อเยื่อในหลอดอาหารที่ได้รับความเสียหาย
สังเกตการใช้ยาหรืออาหารเสริมของตนเอง
การใช้ยา อาหารเสริมหรือฮอร์โมนทดแทนบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclics Antidepressants) ยาแก้ปวดชนิดต้านการอักเสบ (Anti-Inflammatory Painkillers) การใช้ฮอร์โมนเอสโตรแจนทดแทนหลังหมดประจำเดือน ยารักษาโรคกระดูกพรุนในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) ยาควินิดีน (Quinidine) และโพแทสเซียมและธาตุเหล็กในรูปแบบอาหารเสริม เป็นต้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการกรดไหลย้อน ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องของการกินยาและรักษาอาการของโรคกรดไหลย้อนร่วมด้วย
ปรับเปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหาร
ผู้ที่มีอาการของกรดไหลย้อนควรกินอาหารอย่างช้า ๆ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่ควรเอนตัวหรือนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร เพราะการนั่งหรือยืนตัวตรงหลังการรับประทานอาหารจะช่วยให้กรดในกระเพาะอาหารยังคงอยู่ในกระเพาะอาหารตามเดิม รวมทั้งไม่ควรรับประทานอาหารใกล้เวลาเข้านอน หรือควรทิ้งเวลาให้ห่างเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
ไม่รับประทานอาหารมากจนเกินไปในมื้อเดียว
การรับประทานอาหารมื้อใหญ่หรือรับประทานอาหารปริมาณมากจนเกินไปอาจทำให้เกิดความดันต่อกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารมากจนหูรูดที่ทำหน้าที่กั้นไม่ให้สิ่งที่อยู่ในกระเพาะไหลขึ้นมาได้นั้นเปิดออกและทำให้กรดสามารถไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหารได้ ดังนั้นจึงควรแบ่งปริมาณการรับประทานอาหารให้น้อยลงในแต่ละมื้อ แต่เพิ่มความถี่ในการกินอาหารให้มากขึ้นในแต่ละวัน
จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้กรดในกระเพาะอาหารมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อหูรูดในบริเวณหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวและกรดไหลย้อนยังคงค้างอยู่ในบริเวณหูรูดดังกล่าว
ไม่ควรดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยวหรือกาแฟมากจนเกินไป
การศึกษาพบว่าการดื่มน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวไม่ใช่สาเหตุของการเกิดกรดไหลย้อน แต่อาจทำให้อาการแสบร้อนกลางอกรุนแรงขึ้นได้ ส่วนการดื่มกาแฟในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้กล้ามเนื้อหูรูดที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารอ่อนแรง กรดจากกระเพาะอาหารจึงสามารถไหลย้อนขึ้นไปที่หน้าอกได้
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด
ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น อาหารมัน อาหารที่มีรสเผ็ด ช็อกโกแลต อาหารที่มีความเป็นกรดสูง อาหารที่มีส่วนประกอบของมิ้นต์ มะเขือเทศ หัวหอม หรือกระเทียม เป็นต้น
รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
การลดน้ำหนักตัวหรือรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดความดันภายในช่องท้องได้ เพราะหากมีความดันมากเกินไปก็จะทำให้หูรูดที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ กรดหรืออาหารที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวจึงย้อนกลับขึ้นมาที่หน้าอกและเกิดอาการแสบร้อนตามมา
หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหลังมื้ออาหาร
การออกกำลังกายอย่างหนักหลังการรับประทานอาหารอาจทำให้หูรูดกั้นหลอดอาหารและกระเพาะอาหารคลายตัวมากเกินไป จึงควรเว้นระยะเวลาหลังรับประทานอาหารประมาณ 3 ชั่วโมงก่อนการออกกำลังกาย อีกทั้งผู้ป่วยยังควรระมัดระวังการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง การเต้นแอโรบิคหรือการทำท่าโยคะในบางท่า เพราะอาจกระตุ้นให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบได้
หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดรูป
การใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นโดยเฉพาะในบริเวณหน้าท้องนั้นทำให้เกิดความดันภายในช่องท้องและทำให้กรดในกระเพาะอาหารถูกบีบย้อนผ่านหูรูดขึ้นมากลางหน้าอก ดังนั้นการปลดกางเกง กระโปรงหรือถอดเข็มขัดเพื่อคลายการบีบรัดในบริเวณดังกล่าวจึงอาจช่วยบรรเทาอาการของกรดไหลย้อนได้
นอกจากนี้ อาการของกรดไหลย้อนอาจรุนแรงมากขึ้นในเวลากลางคืนเนื่องจากเมื่อนอนราบลง กรดภายในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนขึ้นมาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งในระหว่างการนอนหลับ ร่างกายจะผลิตน้ำลายที่จะช่วยให้กรดดังกล่าวมีค่าเป็นกลางในปริมาณที่น้อยลง ซึ่งในช่วงกลางคืนนั้นผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการจัดเตียงนอนด้านบนเพื่อให้ร่างกายส่วนบนยกสูงขึ้น หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงขวาและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอน
อาการของกรดไหลย้อนที่ควรไปพบแพทย์
หากอาการของกรดไหลย้อนอย่างการแสบร้อนกลางอกมีความรุนแรงหรือเกิดบ่อยมากขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน กลืนลำบากหรือเจ็บขณะกลืนอาหาร น้ำหนักลดลงอย่างรุนแรง หายใจมีเสียงหวีด เสียงแหบเรื้อรัง ใช้ยาลดกรดเพื่อบรรเทาอาการติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์แต่อาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการของโรคหืดรุนแรงขึ้น เจ็บหน้าอกร่วมกับกราม คอ แขนและขา หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย และอาการต่าง ๆ เหล่านี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้หากผู้ป่วยกรดไหลย้อนไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อหลอดอาหารได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารและเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในอนาคต ดังนั้น การรักษาโรคกรดไหลย้อนและบรรเทาอาการด้วยวิธีที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม