เมื่อแพ้เกสรดอกไม้ ดูแลตัวเองอย่างไร

แพ้เกสรดอกไม้ (Pollen Allergy) เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อละอองเกสรดอกไม้หรือพืชบางชนิดที่เข้าสู่ร่างกายไวกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการแพ้ เช่น จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหล คันตา คันคอ ไอ หรือหายใจมีเสียงหวีด อีกทั้งผู้ที่เป็นโรคหืดอยู่ก่อนแล้วอาจมีอาการแย่ลงได้ 

ละอองเกสรจากดอกไม้หรือพืชบางชนิด เช่น หญ้า ไม้ยืนต้น หรือวัชพืชบางชนิด เป็นละอองที่มีลักษณะเป็นผง มีขนาดเล็ก สามารถลอยปะปนอยู่ในอากาศ เมื่อคนที่มีอาการแพ้เกสรดอกไม้สูดเอาอากาศที่ปนละอองเหล่าเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มตอบสนองต่อละอองเกสรจนเกิดอาการแพ้ขึ้น ส่วนคนที่ไม่มีอาการแพ้จะไม่เกิดอาการใด ๆ 

เมื่อแพ้เกสรดอกไม้ ดูแลตัวเองอย่างไร

วิธีดูแลตัวเองเมื่อแพ้เกสรดอกไม้

ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้อาจลองทำตามวิธีต่อไปนี้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ในเบื้องต้น

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่โล่งแจ้งในช่วงที่ละอองเกสรกระจายอยู่ในอากาศเยอะ หากจำเป็นให้ป้องกันตัวเองโดยการสวมแว่นตาและหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการได้รับละอองเกสรเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงอาจสวมหมวกเพื่อป้องกันละอองเกสรติดตามเส้นผมด้วย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า และการขยี้ตาขณะอยู่นอกที่พักอาศัย
  • อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนชุดใหม่ทันทีหลังจากกลับที่พักอาศัย
  • หลีกเลี่ยงการตากผ้านอกบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงที่ละอองเกสรจะติดตามเสื้อผ้า โดยอาจเลือกใช้เครื่องอบผ้าช่วยให้ผ้าแห้งแทน
  • หากมีสนามหญ้าในบริเวณบ้าน ควรหมั่นตัดหญ้าและกำจัดวัชพืชอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนเกสรที่อาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้ได้ แต่ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ควรให้ผู้อื่นทำแทน เพื่อป้องกันการสูดดมละอองเกสร
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์และปล่อยให้สัตว์อยู่นอกบ้าน ควรหลีกเลี่ยงการให้สัตว์เข้าห้องนอน
  • ปิดประตูและหน้าต่างในช่วงที่ละอองเกสรกระจายอยู่ในอากาศเยอะ
  • ใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ HEPA (High–Efficiency Particulate Absorption Filter) เพื่อช่วยป้องกันร่างกายจากสารก่อภูมิแพ้
  • หมั่นล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อช่วยให้น้ำเกลือชำระละอองเกสรที่อาจติดอยู่บริเวณจมูก
  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ

นอกจากนี้ ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้อาจรับประทานยาแก้แพ้ หรือยาแก้คัดจมูก เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้ด้วยตัวเองในเบื้องต้น แต่ก่อนรับประทานยา ควรดูวันหมดอายุ ข้อควรปฏิบัติ และปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ หากปฏิบัติตามวิธีในข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่รับประทานยาแล้วอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง หรือพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกาย