เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดพืชแหล่งโปรตีนและไขมันดีต่อสุขภาพที่หลายคนเชื่อว่าอาจช่วยลดความเสี่ยงจากโรคเรื้อรังบางชนิดได้ เช่น โรคอ้วนลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น โดยส่วนที่นำมาบริโภคเป็นเนื้อในสุดของเมล็ด คนทั่วไปนิยมรับประทานเป็นของกินเล่นหรือใช้เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารและขนมหวานต่าง ๆ
เม็ดมะม่วงหิมพานต์อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย เช่น วิตามินเค วิตามินอี วิตามินบี 6 ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ตลอดจนสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูง จึงเชื่อว่าเมล็ดพืชชนิดนี้อาจมีสรรพคุณรักษาโรคได้ โดยส่วนอื่น ๆ ของต้นมะม่วงหิมพานต์ก็นำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนที่พิสูจน์สรรพคุณของเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในแง่ของประโยชน์ต่อสุขภาพด้านต่าง ๆ ดังนี้
ลดความเสี่ยงจากโรคอ้วนลงพุง
อ้วนลงพุงหรือภาวะเมแทบอลิกซินโดรมเป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่มีภาวะหลายอย่างเกิดร่วมกัน ได้แก่ ไขมันในช่องท้องสูงกว่าปกติ ไขมันในเลือดผิดปกติ การเผาผลาญน้ำตาลผิดปกติ และความดันโลหิตสูง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่เชื่อว่าช่วยเสริมการทำงานของหลอดเลือด ลดไขมันในเลือด และส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาล จึงเกิดงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิผลด้านการลดไขมันจากการรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในกลุ่มอาสาสมัครชายหญิงที่มีระดับไขมันชนิดไม่ดีค่อนข้างสูงเป็นเวลา 28 วัน พบว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ช่วยลดระดับไขมันรวมและไขมันชนิดไม่ดี แต่ไม่ส่งผลต่อระดับไขมันชนิดดีและไตรกลีเซอไรด์เมื่อเปรียบเทียบกับการรับประทานมันฝรั่งทอด อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่พบว่าการบริโภคเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไม่ใส่เกลือเป็นเวลา 8 สัปดาห์กลับส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของตัวบ่งชี้อื่น ๆ ที่ใช้ในการประเมินโรคอ้วนลงพุงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์หรือเมล็ดพืชชนิดใด ๆ
แม้ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์อาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงบางด้านที่นำไปสู่การเกิดโรคอ้วนลงพุงได้ แต่งานค้นคว้ามักเป็นการทดลองขนาดเล็กและงานวิจัยบางส่วนก็มีผลลัพธ์ที่โต้แย้งกัน จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป วิธีดูแลตนเองให้ห่างไกลจากกลุ่มอาการอ้วนลงพุงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก และควบคุมการรับประทานอาหารไปด้วย
ดีต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
โรคหัวใจเป็นภาวะผิดปกติที่กระทบต่อการทำงานของหัวใจ อาจก่อให้เกิดการเจ็บป่วยร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ การดูแลสุขภาพหัวใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ เม็ดมะม่วงหิมพานต์อาจเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ดีต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะมีสารอาหารสำคัญอยู่มาก เช่น ไขมันชนิดดี กากใยอาหาร โปรตีน รวมถึงกรดอะมิโนอย่างอาร์จีนีน (Arginine) โดยสารเหล่านี้อาจช่วยให้ผนังหลอดเลือดขยายตัว และลดการสะสมของไขมันชนิดไม่ดีที่อาจอุดตันหลอดเลือดหัวใจได้
มีงานวิจัยขนาดใหญ่ที่ศึกษาผลการรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์และถั่วหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยทดลองในอาสาสมัครชายหญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ผลลัพธ์พบว่าการรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์และถั่วชนิดต่าง ๆ ประมาณ 84 กรัมขึ้นไป/สัปดาห์ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน อ้วนลงพุง และโรคเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง หรือระดับน้ำตาลในเลือดสูง ในขณะที่งานวิจัยขนาดใหญ่อีกชิ้นระบุว่าการรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์และถั่วอื่น ๆ อย่างน้อยวันละ 60 กรัม ช่วยลดระดับไขมันรวม ไขมันชนิดไม่ดี และไขมันไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวศึกษาผลการรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์และถั่วอีกหลายชนิด จึงยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนยืนยันได้ว่าการรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์จะป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้โดยตรง ต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป และผู้บริโภคควรรับประทานแต่ในปริมาณพอดี เพราะเม็ดมะม่วงหิมพานต์มีแคลอรี่สูง หากรับประทานในปริมาณมากอาจส่งผลเสียได้เช่นกัน
สมานแผล
หลังเกิดบาดแผล มักมีอาการอักเสบ บวม แดงที่อาจลุกลามจนทำให้แผลหายช้าและสร้างความเจ็บปวดได้ เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบหรือช่วยให้แผลสมานตัวและหายเร็วขึ้น
มีงานวิจัยหนึ่งค้นคว้าในห้องทดลองแล้วพบว่า สารสกัดจากเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่คนมักนำมารักษาโรคผิวหนัง รอยแตกบริเวณเท้า และแผลจากมะเร็งนั้น มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของแบคทีเรียบางชนิด เพราะมีสารประเภทฟีนอล (Phenol) ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและอาจส่งผลดีต่อการฟื้นฟูบาดแผลให้หายเร็วขึ้น เช่น กรดอนาคาร์ดิก (Anacardic Acid) คาร์ดอล (Cardol) เมทิลคาร์ดอล (Methylcardol) เป็นต้น
แม้งานวิจัยเหล่านี้อาจเป็นแนวทางในการผลิตยาสมานแผลจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในอนาคตได้ แต่ต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยอีกมาก โดยเฉพาะการทดลองนำมาใช้กับคน ผู้ที่มีบาดแผลจึงควรรับการรักษาอย่างเหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร จนกว่าจะมีข้อมูลการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเม็ดมะม่วงหิมพานต์เพื่อการสมานแผลในลักษณะใด ๆ อย่างชัดเจนต่อไป
การบริโภคเม็ดมะม่วงหิมพานต์อย่างปลอดภัย
โดยทั่วไป การรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นอาหารหรือของว่างค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกาย แต่ยังไม่มีการแนะนำให้บริโภคหรือใช้เม็ดมะม่วงหิมพานต์เพื่อการรักษาโรคใด ๆ เป็นหลัก เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะยืนยันถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเมล็ดพืชชนิดนี้
แม้ว่าเม็ดมะม่วงหิมพานต์มีสารอาหารหลายชนิด แต่ก็มีไขมันมากและให้พลังงานสูงด้วยเช่นกัน การบริโภคเม็ดมะม่วงหิมพานต์จึงควรคำนึงถึงสุขภาพเป็นสำคัญ ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และระมัดระวังในการบริโภคสารปรุงแต่งที่ถูกเพิ่มลงไปในผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด เช่น เกลือ เนย หรือน้ำตาล นอกจากนั้น การสัมผัสกับเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ไม่ผ่านความร้อนหรือการปรุงสุกมาก่อนอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนรับประทานอาหาร อาหารเสริม หรือสารใด ๆ จากเม็ดมะม่วงหิมพานต์เสมอ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในการบริโภคเม็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้
- หญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่ให้นมบุตร การรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์จากอาหารมีความปลอดภัย แต่ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากเพื่อหวังผลทางการรักษาโรค เนื่องจากไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ
- ผู้ที่แพ้ถั่วหรือสารเพคติน (Pectin) ผู้ที่แพ้เพคตินซึ่งเป็นสารที่อยู่ในพืช รวมทั้งถั่วและเมล็ดพืชบางชนิด เช่น พิสตาชิโอ อัลมอนด์ ฮาเซลนัท ถั่วลิสง เป็นต้น อาจแพ้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่มีประวัติอาการแพ้ดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเสมอ
- ผู้ป่วยเบาหวาน เม็ดมะม่วงหิมพานต์อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์ควรหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ และแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนบริโภคเสมอ เนื่องจากผู้ป่วยอาจต้องปรับเปลี่ยนการใช้ยารักษา
- ผู้ที่เข้ารับการผ่าตััด เนื่องจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้น ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตััดควรหยุดรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด