ความหมาย เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) เป็นการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium) ที่มีลักษณะเป็นถุง แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ระหว่างชั้นจะมีของเหลวที่ช่วยห่อหุ้มหัวใจ ซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างเยื่อหุ้มหัวใจในขณะที่หัวใจทำงาน เมื่อเกิดการอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจจะบวมแดง และมักทำให้รู้สึกเจ็บแปลบบริเวณหน้าอกจากการเสียดสีของเยื่อหุ้มหัวใจทั้ง 2 ชั้น
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมักทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้นอย่างฉับพลันและอาการมักคงอยู่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่บางรายอาจเกิดอาการเรื้อรังได้เช่นกัน โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจมีอาการดีขึ้นได้เอง ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจได้รับยาหรือรักษาด้วยการผ่าตัด หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้
อาการของเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
อาการของเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบอาจแตกต่างกัน โดยเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลันในบางรายอาจมีอาการคล้ายกับภาวะหัวใจขาดเลือดและมีอาการคงอยู่ไม่เกิน 3 สัปดาห์ อาการของเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบโดยทั่วไปที่พบได้ เช่น
- มีอาการเจ็บแปลบหรือเจ็บจี๊ดที่ด้านหลังกระดูกอก หรือด้านซ้ายของหน้าอกอย่างฉับพลัน แต่บางรายอาจรู้สึกปวดตื้อ หรือรู้สึกเหมือนถูกกดทับบริเวณหน้าอก
- รู้สึกเจ็บหน้าอกมากขึ้นเมื่อเอนนอน กลืนอาหาร ไอ หรือหายใจเข้าลึก ๆ และอาการจะดีขึ้นเมื่อนั่งตัวตรงหรือเอนตัวมาข้างหน้า
- อาการเจ็บปวดอาจลามมายังบริเวณคอ ไหล่ด้านซ้าย และหลัง
- หายใจลำบากเมื่อหายใจขณะเอนนอน
- ไอแห้ง
- ใจสั่น
- อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบาย
- มีไข้ต่ำ
- ท้อง ขา เท้า หรือข้อเท้าบวม
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมีลักษณะอาการเป็น ๆ หาย ๆ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการซ้ำอีกในช่วง 4–6 สัปดาห์หลังมีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน ในกรณีที่มีอาการนานกว่า 3 เดือน จะจัดว่าเป็นอาการของเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบชนิดเรื้อรัง
ทั้งนี้ หากมีอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหรือโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกัน อย่างภาวะหัวใจขาดเลือดหรือลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism)
สาเหตุของเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
โดยส่วนมาก เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Pericarditis) หรืออาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะผู้ที่มีเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหาร หรือเชื้อแบคทีเรียอย่างวัณโรค ในบางกรณีอาจเกิดจากการติดเชื้อราหรือปรสิตแต่พบได้น้อย
นอกจากนี้ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ นอกจากการติดเชื้อได้ ดังนี้
- โรคหัวใจขาดเลือดอาจทำให้เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบทันทีหลังเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด เนื่องจากความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ หรืออาจเกิดขึ้นหลังจากภาวะหัวใจขาดเลือดและการผ่าตัดหัวใจประมาณ 2–3 สัปดาห์
- เนื้องอกกดทับเยื่อหุ้มหัวใจ
- โรคทางพันธุกรรม อย่างโรคไข้เมดิเตอร์เรเนียน (Familial Mediterranean Fever)
- โรคอื่น ๆ เช่น ภาวะไตวาย โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เอดส์ มะเร็ง หรือเกาต์ เป็นต้น
- การได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าอกหรือใกล้หัวใจ ซึ่งมักเกิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
- การรักษาด้วยการฉายรังสี (Radiation Treatment) การสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization) หรือการรักษาด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Ablation)
- การได้รับยากดภูมิคุ้มกันบางชนิด แต่มักพบได้น้อย
การวินิจฉัยเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
โดยทั่วไปแพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพ ตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยการฟังเสียงหัวใจเพื่อตรวจหาความผิดปกติจากการเสียดสีของเยื่อหุ้มหัวใจ และอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้
- การเอกซเรย์ทรวงอก จะช่วยให้แพทย์ตรวจดูรูปร่างของหัวใจ และของเหลวในเยื่อหุ้มหัวใจผ่านภาพฟิล์มเอกซเรย์ที่ชัดเจนมากขึ้น หากหัวใจโตผิดปกติอาจเกิดจากการมีของเหลวสะสมในปริมาณมากจนทำให้เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG/EKG) เป็นการบันทึกสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจในแต่ละจังหวะการเต้นของหัวใจผ่านการติดตัวรับกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง เพื่อตรวจวัดจังหวะการเต้นของหัวใจ ลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ รวมถึงใช้ระบุภาวะหัวใจขาดเลือดหรือภาวะของเหลวสะสมในเยื่อหุ้มหัวใจในผู้ป่วยบางราย
- การทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram) ด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อช่วยให้แพทย์ตรวจวัดโครงสร้างหัวใจ การทำงานของหัวใจ และของเหลวในเยื่อหุ้มหัวใจ
- การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ใช้ตรวจหาสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกอย่างเฉียบพลัน เช่น ลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (Aortic Dissection) และใช้ตรวจวัดความหนาตัวของเยื่อหุ้มหัวใจที่อาจทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและหดตัว (Constrictive Pericarditis)
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เพื่อตรวจดูความหนาหรือการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ
- การตรวจสวนหัวใจห้องขวา (Right Heart Catheterization) เพื่อตรวจวัดความดันในหลอดเลือดหัวใจ
- การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น อย่างการตรวจเลือดหรือการเก็บตัวอย่างน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ
การรักษาเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
จุดประสงค์ของการรักษาคือการลดความเจ็บปวด ลดการอักเสบ และลดความเสี่ยงที่จะกลับมาเกิดอาการซ้ำในภายหลัง โดยวิธีการรักษาเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงนัก อาการอาจดีขึ้นได้เองหรืออาการดีขึ้นหลังการพักผ่อนและใช้ยารักษาภายในระยะเวลาประมาณ 2–3 สัปดาห์ ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจเกิดอาการซ้ำอีกภายในไม่กี่เดือนหลังมีอาการครั้งแรก โดยการรักษาประกอบด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
การดูแลตนเอง
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจใช้วิธีพักผ่อน รับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหนักเนื่องจากอาจกระตุ้นให้เกิดอาการ
การรักษาด้วยการใช้ยา
แพทย์จะจ่ายยาเพื่อช่วยลดอาการบวมและบรรเทาการอักเสบ โดยยาที่มักใช้รักษาเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ได้แก่
- ยาบรรเทาปวด ใช้รักษาอาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและลดการอักเสบ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยาแอสไพริน ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ในกรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้ปวดที่รุนแรงขึ้นให้ผู้ป่วยแทน
- ยาโคลชิซิน (Colchicine) ใช้เพื่อรักษาอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรืออาการรุนแรงนานกว่า 2 สัปดาห์ และใช้รักษาเมื่อผู้ป่วยกลับมาเกิดอาการซ้ำ โดยยาจะช่วยลดอาการอักเสบและป้องกันอาการเกิดขึ้นซ้ำได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต หรือมีโรคประจำตัวบางโรค โดยแพทย์จะตรวจประวัติสุขภาพก่อนสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วย
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อย่างยาเพรดนิโซน (Prednisone) มักใช้เฉพาะกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นหลังได้รับยาแก้ปวดหรือยาโคลชิซิน หรืออาจใช้ในกรณีที่มีอาการของโรคซ้ำอีก
- ยาขับปัสสาวะ (Duretics Drugs) ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาแก้ปวดหรือยาโคลชิซินติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี เพื่อช่วยระบายของเหลวส่วนเกินในร่างกายออกเนื่องจากภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและหดตัว
- ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อรา เพื่อใช้รักษาอาการที่เกิดจากการติดเชื้อ
- ยาอื่น ๆ เช่น ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) การฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (IV Human Immunoglobulins) หรือยาอะนาคินรา (Anakinra) เป็นต้น
การรักษาตัวในโรงพยาบาล
ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง อย่างภาวะบีบรัดหัวใจ (Cardiac Tamponade) ซึ่งเป็นภาวะที่มีของเหลวปริมาณมากอยู่เยื่อหุ้มหัวใจ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- การเจาะถุงหุ้มหัวใจ (Pericardiocentesis)
แพทย์จะใช้เข็มเจาะและใส่สายสวนดูดระบายของเหลวภายในเยื่อหุ้มหัวใจออก โดยส่วนมากมักใส่สายสวนไว้เป็นเวลา 2–3 วัน ในตำแหน่งที่ดูดระบายของเหลวออก เพื่อป้องกันการกลับมาสะสมของน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจได้อีก ซึ่งแพทย์อาจใช้เครื่องมือช่วยเข้ามาช่วย เพื่อให้เห็นภาพหัวใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น เครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) หรือเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นต้น
- การผ่าตัดเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardiectomy)
เนื่องจากเยื่อหุ้มหัวใจที่เสียหายทำให้ประสิทธิภาพการสูบฉีดเลือดของหัวใจลดลง แพทย์จึงจำเป็นต้องผ่าตัดเยื่อหุ้มหัวใจที่เสียหายออกไป โดยแพทย์จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและหดตัว หรือใช้เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
การเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้เร็ว ความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวจะลดลงตามไปด้วย โดยเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและหดตัว (Constrictive Pericarditis) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่อาจพบในผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเป็นเวลานาน หรือมีอาการซ้ำ ๆ เรื้อรัง โดยเยื่อหุ้มหัวใจจะหนาขึ้นและหดตัวลง ทำให้หัวใจไม่สามารถขยายตัวและทำงานได้ตามปกติ ทั้งนี้ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก และมีอาการบวมอย่างรุนแรงบริเวณท้องและขา
- ภาวะบีบรัดหัวใจ (Cardiac Tamponade) เป็นภาวะที่เยื่อหุ้มหัวใจมีปริมาณของเหลวสะสมมากเกินไป ทำให้เกิดแรงกดทับที่หัวใจ ซึ่งอาจทำให้การไหลเวียนเลือดของหัวใจลดลง ระดับความดันโลหิตจะลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่รีบรักษา
การป้องกันเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบอาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่การดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอโดยไม่หักโหม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติใด ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา