เรอบ่อย สัญญาณของโรคร้าย ?

เรอ (Belching) เป็นปฏิกิริยาของร่างกายในการขับลมออกจากกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารออกทางปาก ทำให้เกิดเสียงที่เกิดจากสั่นของหูรูดหลอดอาหารและมีกลิ่นของอาหารที่ได้บริโภคและยังค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร โดยมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีลมอยู่ในกระเพาะอาหารมากเกินไปและทำให้กระเพาะอาหารพองตัว ซึ่งการเรอเป็นการขับลมออกเพื่อลดการพองตัวของกระเพาะอาหาร

เรอบ่อย

สาเหตุของการเรอบ่อย

สาเหตุที่ทำให้เรอหรือเรอบ่อย เกิดจากการมีลมอยู่ในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ ซึ่งการที่มีลมมากกว่าปกติมาจากสาเหตุหลายประการ ที่พบบ่อย ได้แก่ รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มมากเกินไป โดยเฉพาะน้ำอัดลม อย่างไรก็ตาม การเรอไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีลมมากเกินไปเท่านั้น แต่อาจมาจากอาการไม่สบายท้องที่เกิดจากสาเหตุอื่น อาจเป็นเพราะปัจจัยดังต่อไปนี้

  • การกลืนลม (Aerophagia) เป็นการกลืนอากาศเข้าไปทั้งที่เจตนาและไม่ได้เจตนา โดยการกลืนลมในปริมาณมากสามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมต่อไปนี้ เช่น
    • รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มเร็วเกินไป
    • รับประทานอาหารพร้อมกับคุยไปด้วย
    • เคี้ยวหมากฝรั่ง
    • ดื่มน้ำจากหลอดดูด
    • สูบบุหรี่
    • ใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี
    • เกิดความวิตกกังวล 
    • หายใจลึก ยาว หรือเร็วกว่าปกติ
    • ดูดนม เช่น เด็กอ่อนที่กินนมแม่
  • การรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิดทำให้เรอบ่อยขึ้น เช่น
    • น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • อาหารที่มีแป้ง น้ำตาล หรือไฟเบอร์สูง
    • อาหารที่ทำมาจากโฮลเกรนหรือธัญพืชเต็มเมล็ด
    • ถั่ว
    • บรอกโคลี
    • หัวหอม
    • กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก
    • กล้วย
    • ลูกเกด
    • ขนมปังโฮลวีท
  • การมีกรดในกระเพาะอาหารมาก เช่น
    • ดื่มกาแฟ (สารคาเฟอีน)
    • ปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ และความเครียด
    • มีอาหารตกค้างในกระเพาะอาหารมาก จากน้ำย่อยอาหารไม่เพียงพอ เช่น กินอาหารมากเกินไป
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น
    • ยาอะคาร์โบส (Acarbose) เป็นยารักษาเบาหวาน ชนิดที่ 2
    • ยาระบาย เช่น ยาแลคตูโลส (Lactulose) และยาซอร์บิทอล (Sorbitol)
    • ยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยานาพรอกเซน ยาไอบูโพรเฟน และยาแอสไพริน โดยการใช้ยาแก้ปวดในปริมาณมากอาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เรอบ่อย
  • โรคประจำตัว ที่อาจทำให้มีอาการเรอบ่อย ได้แก่
    • โรคกรดไหลย้อน 
    • โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
    • โรคกระเพาะอาหารหรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร
    • ภาวะแพ้น้ำตาลแล็กโทสซึ่งอยู่ในอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ
    • ภาวะการดูดซึมฟรุกโตสหรือซอร์บิทอล (Sorbitol) ที่ผิดปกติ คือไม่สามารถย่อยน้ำตาลฟรุกโตสหรือซอร์บิทอลได้
    • โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร
  • สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้น้อย เช่น
    • โรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรืออาการแพ้กลูเตนในอาหารที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปัง
    • โรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง ทำให้ขาดน้ำย่อยที่ใช้ในการย่อยอาหาร
    • Dumping Syndrome เป็นภาวะที่กระเพาะอาหารย่อยอาหารและส่งไปยังลำไส้เร็วเกินไปก่อนที่อาหารจะถูกย่อย

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์ ?

โดยปกติอาการเรอมักจะไม่ทำให้เกิดภาวะที่น่ากังวลและสามารถหายไปได้เองโดยที่ไม่ต้องรักษา อย่างไรก็ตาม หากพบว่าเรอบ่อยและเรอมากกว่าปกติ หรือมีนิสัยในการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของภาวะที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร รวมไปถึงหากพบว่ามีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที

  • ปวดท้องรุนแรงหรือปวดไม่หาย
  • ท้องเสีย
  • อุจจาระเปลี่ยนสี หรืออุจจาระบ่อย
  • อุจจาระปนเลือด
  • น้ำหนักตัวลด
  • เจ็บหน้าอก

แพทย์จะตรวจวินิจัยโดยการสอบถามประวัติและอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย รวมไปถึงตรวจร่างกายและอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ช่องท้อง ตรวจเอมอาร์ไอ (MRI) ซีทีสแกน (CT-scan) อัลตราซาวด์ หรือตรวจความผิดปกติในการย่อยอาหาร

อาการเรอหรือเรอบ่อย สามารถบรรเทาได้อย่างไร?

เรอที่เกิดขึ้นตามปกติทั่วไปไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่หากพบว่าเรอบ่อยหรือมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของระบบย่อยอาหารที่ผิดปกติ ในกรณีนี้จึงควรไปพบแพทย์ โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ

อย่างไรก็ตาม การเรอที่เกิดขึ้นทั่วไปจากลมที่มีมากในกระเพาะอาหารและลำไส้ สามารถบรรเทาได้ ดังนี้

ปรับพฤติกรรมการรับประทานและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่าง

  • รับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มให้ช้าลง จะช่วยลดการกลืนอากาศให้น้อยลงได้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารพร้อมกับคุยไปด้วย
  • ดื่มน้ำให้มากขึ้น และหลีกเลี่ยงน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลแลคโตส สารให้ความหวานซอร์บิทอล หรือฟรุกโตส ซึ่งอาจทำให้การย่อยอาหารผิดปกติสำหรับบางคน
  • หลีกเลี่ยงผักหรือผลไม้บางชนิด เช่น ถั่ว กะหล่ำปลี หัวหอม แครอท แอปริคอท ลูกพรุน บรอกโคลี หัวหอม กะหล่ำดอก กล้วย ลูกเกด ขนมปังโฮลวีท รวมไปถึงหลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่ทำจากโฮลเกรนหรือธัญพืชเต็มเมล็ด ซึ่งบางคนจะย่อยได้ยากและทำให้เกิดก๊าซมาก
  • อาจรับประทานโยเกิร์ตแทนดื่มนม เพราะพบว่าบางคนที่รับประทานโยเกิร์ตแทนการดื่มนมจะทำให้เกิดก๊าซน้อยกว่า เนื่องจากแบคทีเรียที่อยู่ในโยเกิร์ตได้ย่อยน้ำตาลแลคโตสที่ทำให้เกิดปัญหาในการย่อยสำหรับบางคนได้บางส่วน
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม เพราะขณะที่กำลังเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม จะทำให้กลืนอากาศเข้าไปมากกว่าปกติ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะทำให้กลืนอากาศเข้าไปมากกว่าปกติ
  • ตรวจสอบฟันปลอม เพราะหากฟันปลอมที่ใส่อยูไม่พอดี อาจทำให้ต้องกลืนอากาศเข้าไปมากเวลารับประทานอาหารและดื่มน้ำ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด ความวิตกกังวล

รักษาด้วยการซื้อยาที่จำหน่ายที่ร้านขายยา

  • รักษาอาการจุกเสียดแน่นท้องหรือแสบร้อนกลางอกด้วยยาลดกรดและยาช่วยขับลมที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป  เช่น ยาไซเมทิโคน (Simethicone) หรือถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoa)
  • อาหารเสริมเอนไซม์ เช่น Alpha-D-Galactosidase สามารถช่วยย่อยน้ำตาลในผักและธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งย่อยได้ยากหรือทำให้เกิดก๊าซมาก
  • ผู้ที่มีปัญหาการย่อยอาหารที่ผิดปกติจากภาวะตับอ่อนบกพร่อง สามารถรับประทานเอนไซม์จากตับอ่อนเสริมพร้อมอาหารเพื่อเพิ่มเอนไซม์ที่ขาดหายไปได้
  • ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน อาจจำเป็นต้องรักษาโดยแพทย์และใช้ยาตามแพทย์สั่ง รวมไปถึงการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย